วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อีกทางเลือก……เพิ่มน้ำนมให้ลูกน้อย

อีกทางเลือก……
บทความโดย ศกุณตลา อินถา
นักโภชนาการ

หมอคะ...ทำไมหนู..ไม่มีน้ำนมให้ลูกเลยคะ
....หมอคะ... แรกๆก็มีน้ำนมนะคะ แต่พอได้ 1-2 อาทิตย์น้ำนมก็แห้งค่ะ.
...หมอคะ... คลอดลูกคนแรกก็ไม่มีน้ำนมค่ะ ท้องนี้คงไม่มีแน่เลยค่ะ ทำไงดี
.....หมอคะ... ขณะที่นอนอยู่โรงพยาบาล ก็คัดเต้านม พอกลับมาบ้านไม่เห็นมีน้ำนมค่ะ

นี่คือคำถามที่ฉันได้ยินบ่อยๆขณะที่หน้าที่ให้ความรู้คำปรึกษาแก่หญิงหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ทราบว่า เมื่อกลับไปบ้านแล้วต้องเลี้ยงลูกเอง จะปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ว่าเรื่องการให้นมบุตร การรับประทานอาหาร การปฏิบัติตัวเมื่อต้องพบกับความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ (ผู้สูงอายุ) เรื่องการอยู่ไฟ โดยเฉพาะความเชื่อของคนภาคเหนือ ฯลฯ แม้ฉันจะอยู่ในฐานะนักโภชนาการไม่ใช่หมอ แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาตอนสมัยเป็นพยาบาลจึงได้นำมาถ่ายทอดให้แก่หญิงหลังคลอด ก็ยังเจอปัญหาเรื่องการไม่มีน้ำนมให้แก่ลูกอยู่เสมอ บางรายโทรศัพท์มาปรึกษาฉันว่า เมื่อวานร้องไห้ เครียด เพราะไม่มีน้ำนมให้ลูก บ้างก็เล่าว่าในสัปดาห์แรกหลังคลอดผู้เฒ่าผู้แก่ (ผู้สูงอายุ) จะให้ทานแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียว ห้ามทานอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ฉันเริ่มมองเห็นความเสี่ยงปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของหญิงหลังคลอด ว่าเป็นเรื่องที่ต้องรีบช่วยหาทางแก้ไข แม้จะไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมดแต่แค่ขอให้คลายความทุกข์ลงได้บ้างก็ยังดี

ฉันพยายามค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆจาก internet และผู้รู้หลายๆท่านโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่
(ผู้สูงอายุ) อย่างที่บอกคนภาคเหนือมีความเชื่อเรื่องการอยู่ไฟมากมาย จึงรวบรวมความรู้ที่ได้มาปรึกษาทีมงานซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแผนกโภชนาการและนักโภชนาการ ว่าจะช่วยหญิงหลังคลอดได้อย่างไร มติที่ประชุมตกลงว่า เราจะนำสมุนไพรมาช่วยในการกระตุ้นการขับน้ำนม โดยการใช้หัวปลี

สาเหตุที่เลือกหัวปลีมาใช้เพราะ

  1. มีคุณค่าสารอาหาร แร่ธาตุต่างๆมากมาย
  2. หาได้ง่ายตามท้องถิ่น
  3. ราคาถูก
  4. เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กันมานาน

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า

  1. บางคนทานหัวปลีไม่ได้ เพราะว่ามีรสชาติฝาด
  2. วีธีการปรุงประกอบทำได้โดยต้ม แกง ยำ จึงทำให้เบื่อได้ง่าย


ดังนั้นทีมงานจึงได้คิดค้นการดัดแปลงเมนูอาหารประเภทหัวปลีขึ้น เพื่อให้

  1. ง่ายแก่การรับประทาน
  2. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปรุงประกอบอาหารเมนูหัวปลี


แต่ฉันก็ไม่ลืมที่จะคำนวณคุณค่าสารอาหาร เกลือแร่ วิตามินที่มีอยู่ในหัวปลี รวมทั้งสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน ตามความรู้ที่เรียนมา ที่สำคัญที่สุดหญิงหลังคลอดต้องรับประทานอาหารให้ครบ
5 หมู่ รวมทั้งเทคนิคการป้อนนม จากนั้นฉันก็ตั้งชื่อเมนูนี้ว่า เครื่องดื่มสมุนไพรเพิ่มสายใยรักจากแม่สู่ลูก หรือเรียกง่ายๆว่า น้ำหัวปลีนั่นเอง



วิธีการทำ

  1. นำหัวปลีมาแกะเอาส่วนที่แก่และส่วนที่เป็นเกสรออก
  2. ผ่าหัวปลีออกเป็นส่วนๆ นำหัวปลีไปแช่ในน้ำเกลือสักครู่หนึ่ง
  3. นำน้ำเกลือไปต้มจนเดือด จากนั้นนำหัวปลีลงต้ม
  4. นำหัวปลีสุกมาหั่นฝอย
  5. นำหัวปลีฝอยและน้ำที่ต้มแล้วไปปั่นจนละเอียด
  6. เติมงาดำคั่วบดลงไป ปรุงรสชาติด้วยน้ำตาลทรายและเกลือตามใจชอบ


ขณะนี้ทางแผนกโภชนาการ โรงพยาบาลแมคคอร์มิคของเรามี Order สั่งจากหญิงหลังคลอดทุกวัน ท่านใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 0-5392-1777 ต่อ 1222, 1523 หรือ 0-8586-82635

บรรณานุกรม

  1. การบริหารจัดการคลินิคนมแม่สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับ โดย กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
  2. ข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันและแนวทางการบริโภคอาหารสำหรับคนไทย คณะกรรมการจัดทำคู่มือข้อกำหนดสารอาหารประจำวันที่ร่างกายควรได้รับของประชาชนชาวไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2530
  3. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2530
  4. E-learning วิทยาลัยพยาบาลเครือข่ายภาคกลางhttp://mail.bcnnv.ac.th/~pop/obs/active_birth2.htm)

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การรักษารากฟัน - ทพญ.รัชนีวรรณ ดวงพัตรา


โอ๊ย ! ปวดฟันจัง “คุณหมอ.. จะมาอุดฟันค่ะ” บ่อยครั้งที่มีคนไข้มาหาด้วยอาการแบบนี้ พอตรวจดูในช่องปาก พบว่าฟันกรามใหญ่ที่คนไข้ชี้ให้ดูมีรอยผุใหญ่และลึก ทะลุโพรงประสาทฟันแล้วมักมีอาการปวดมาหลายสัปดาห์แล้ว บางครั้งก็ปวดๆ หายๆ เคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้ พอหมอลองเคาะฟันคนไข้ก็จะบอกว่าเจ็บ ในฟันที่ผุลึกจนปวดขนาดนี้จะอุดเฉยๆ ไม่ได้นะคะ ถ้าจะให้หายปวดมี 2 วิธี คือ รักษารากฟันหรือไม่ก็ถอนออก กรณีที่คนไข้ต้องการเก็บฟันซี่นี้ไว้ควรจะรักษารากฟัน


การรักษารากฟัน คือ การนำส่วนที่อยู่ในโพรงประสาทฟันออก (ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาท) ใส่ยาจนปราศจากเชื้อโรคแล้วอุดภายในรากฟันด้วยวัสดุอุดฟัน โดยหมอฟันจะเลือกทำในกรณีต่อไปนี้


1. โพรงประสาทฟันติดเชื้อและโพรงประสาทฟันที่ตายแล้วหรือกำลังจะตาย
2. การที่ฟันได้รับการกระทบกระแทกจนทำให้ฟันแตกหักจนถึงโพรงประสาทฟัน
3. กรณีที่จำเป็นต้องนำประสาทฟันที่ดีออกเพื่อผลต่อการรักษาบางอย่าง โดยกรณีนี้หมอฟันจะต้องปรึกษาคนไข้ก่อนเสมอ


ปกติหมอฟันจะทำเฉพาะซี่ที่สำคัญๆ และจะทำให้เมื่อพิจารณาแล้วไม่พบว่า
1. เยื่อยึดรากฟันมีไม่พอหรือไม่แข็งแรงพอ
2. ฟันซี่นั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะอุดหรือครอบได้
3. ฟันซี่นั้นไม่มีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันกรามถาวรซี่ที่ 3 ที่ไม่มีคู่สบ
4. ยาที่ใช้รักษาอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้บางราย เช่น การแพ้ยา

ขั้นตอนการรักษารากฟัน
1. การรักษารากฟัน หมอต้องเปิดโพรงประสาทฟันโดยใช้เครื่องมือเจาะรูเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ถ้าฟันซี่นี้ปวดเพราะมีหนอง อาการปวดจะลดลงเพราะมีช่องระบายหนองออก
2. การใช้เข็มอันเล็กๆ สอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อเกี่ยวเอาเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันที่อักเสบติดเชื้อออกและทำความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำยา ในฟันหน้าที่มีเพียงรากเดียวจะใช้เวลาไม่นาน แต่ในฟันหลังซึ่งมีหลายรากต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดแต่ละรากเพิ่มขึ้น ในขั้นตอนนี้หมอฟันอาจต้องนัดมาทำหลายครั้ง
3. หลังจากหมอฟันทำความสะอาดภายในรากฟันจนสะอาดปราศจากเชื้อแล้ว และคนไข้ไม่มีอาการปวด ในรากฟันไม่มีหนอง หมอฟันจะอุดภายในรากฟันให้เต็ม ไม่ให้มีเนื้อที่ว่างสำหรับเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค
4. หลังจากอุดภายในคลองรากฟันเรียบร้อยแล้ว หมอจะบูรณะส่วนตัวฟันด้านบน ซึ่งถ้ารอยผุเดิมไม่ใหญ่มากอาจใช้วิธีการอุด แต่ถ้ารอยผุเดิมมีขนาดใหญ่เหลือเนื้อฟันน้อย เป็นฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามหรือเป็นฟันกรามที่ต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร หมอจะแนะนำให้ใส่เดือยฟันและทำครอบฟันซึ่งมีความแข็งแรงกว่าการอุดธรรมดา ป้องกันฟันแตกหัก เสมือนการใส่หมวกกันน็อคให้กับฟัน


อัตราความสำเร็จในการรักษารากฟันในแต่ละงานวิจัยไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 80-90% ขึ้นกับสภาพเดิมของฟันและความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคในรากฟันของหมอฟัน หากหลังจากรักษารากฟันแล้วยังมีอาการปวด เหงือกบวม หรือมีหนอง เป็นข้อบ่งชี้ว่าการรักษารากฟันนั้นล้มเหลว จำเป็นต้องทำการรื้อวัสดุอุดเก่าออกและรักษารากฟันใหม่ หรือถ้าเกิดข้อแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีเครื่องมือหักคาที่ปลายรากฟัน อุดเกินปลายรากฟันแล้วไม่สามารถเอาออกได้ อาจต้องทำศัลยกรรมปลายรากฟันร่วมด้วยเพื่อเก็บฟันซี่นี้ไว้


ถ้าจะให้ดี หมอว่าควรจะรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ใช้ไหมขัดฟันและมาตรวจฟันทุก 6 เดือน ก่อนที่ฟันจะผุมาก อุดไม่ได้ จนต้องได้มารักษารากฟัน

ขอให้สุขภาพฟันดี..จงอยู่กับท่านนะคะ

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) และข้อควรระวังในการใช้ยา


มารู้จักกับโรคชิคุนกุนยา โดย ภก.บุปผชาติ คำสม

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) : เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกมีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ.2495 เกิดจากเชื้อไวรัส alphavirus ในสกุล Togaviridae ชื่อ ‘chikungunya’ มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกา (ภาษา Kimakonde) ซึ่งอธิบายถึงลักษณะบูดเบี้ยวหรือบิดงอตัว (contorted) จากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง
อาการของโรค : ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คัน หรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ไข้อาจจะหายในระยะนี้ (ระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย) ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตได้บ่อย แต่อาการชาหรือเจ็บบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าพบได้ไม่มาก อาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ และบางรายอาจเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อบางส่วนมีอาการอ่อนๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยเป็นไข้เลือดออก แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

ระยะฟักตัวของโรค : 2-12 วัน (โดยทั่วไป 4-8 วัน)

การแพร่ติดต่อโรค : ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากจากยุงลายบ้าน Aedes aegypti ซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedes albopictus ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน (โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ และบ่ายแก่ ๆ) ยุงลายสวนชอบหากินบริเวณนอกบ้าน แต่ยุงลายบ้านชอบกัดดูดเลือดภายในอาคารบ้านเรือน
การรักษา : ไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

ข้อควรระวังในการใช้ยา

แอสไพริน (Aspirin)
1. ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (หากมีการใช้เป็นประจำ) ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
2. ยานี้ทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่ม เป็นเหตุให้เลือดออกง่าย ห้ามใช้ในผู้ที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นโรคเลือดที่มีภาวะเลือดออกง่าย
3. ถ้าใช้บรรเทาอาการไข้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด คางทูม ฯลฯ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye's syndrome) โรคนี้จะมีอาการทางสมอง (เช่น ซึม หมดสติ ชัก) และอาการ ทางตับ (ตับโต และทำหน้าที่ไม่ได้หรือตับวาย) ซึ่งมีอัตราการตายค่อนข้างสูง
ในปัจจุบัน แพทย์จะใช้ยาแอสไพรินเป็นยาป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ในผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ ดังนั้นในการบรรเทาอาการไข้ ควรหันมาใช้พาราเซตามอลแทนแอสไพริน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากแอสไพริน อย่างไรก็ตาม การใช้พาราเซตามอลก็พึงระวัง อย่าใช้เกินขนาด (ผู้ใหญ่ควรใช้ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง อย่าใช้เกินวันละ ๘ เม็ด หรือ ๔ กรัม เด็กเล็ก ไม่ให้เกินวันละ ๑๐ ช้อนชา หรือ ๑,๒๐๐ มิลลิกรัม) มิเช่นนั้นอาจมีผลต่อตับ ทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้

เอกสารอ้างอิง
1. ความรู้เรื่องโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)[homepage on the Internet]. สำนัก
โรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. [cited 2009 May 25]. Available from: http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=420&Itemid=199
2. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook. 14th ed. Ohio: Lexi_comp; 2006-2007.
3. World Health Organization Regional Office for south-East Asia (WHO
SEARO). Chikungunya Fever Fact Sheet. Available from: URL:
http://www.searo.who.int/en/Section10/Section2246_13975.htm

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...