วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

       โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย  โดยเฉพาะในขณะนี้พบว่าโรคหลอดเหลือดหัวใจตีบตันเป็นสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากการประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้อ่านควรมีความรู้ความเข้าใจ ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดของโรคนี้

          โดยปกติ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด ไม่เฉพาะหลอดเลือดหัวใจ ยังรวมถึงหลอดเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่ หลอดเหลือดสมอง ไต แขนขา เกิดจากปัจจัยหลัก อาจแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่อายุที่มากขึ้น อายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบหลอดเลือดเช่านกัน ปัจจัยเสี่ยงอันเป็นผลจากภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ที่ส่งต่อมาให้สู่ลูกหลาน เป็นต้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันหรือดูแลให้น้อยลงได้ มีตั้งแต่ปัจจัยเสี่ยงที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นเองได้แก่การสูบบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการกินอยู่ รูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงตามมา

          การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดทั่วร่างกาย มีผลทำให้เกิดความผิดปกติของผนังหลอดเลือดตีบตันในที่สุด

          เบาหวาน ผู้เป็นเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ถือว่ามีความเสี่ยงเท่ากับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมาแล้วครั้งหนึ่ง ผู้เป็นเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานขึ้นตาทำให้ตาบอดเกิดอาการชาจากเส้นประสาทผิดปกติ แผลเรื้อรัง

            ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจโดยตรง ระดับความดันปกติควรอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท  ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูง ส่วนผู้มีความดันโลหิตอยู่ระหว่างค่าดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต การรักษาความดันโลหิตสูงควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ ควรได้รับยาเพื่อลดระดับความดัน รวมถึงการควบคุมอาหารโดยเฉพาะอาหารเค็มและการควบคุมน้ำหนัก

            ไขมันในเส้นเลือดสูง ระัดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมขึ้นกับภาวะความผิดปกติของร่างกาย ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวอาจยอมรับระดับไขมันในเกณฑ์สูงได้ สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงโรคของหลอดเลือดอื่น ๆ ควรควบคุมระดับไขมันชนิด LDL ให้น้อยกว่า 100 mg/dl กรณีที่มีความเสี่ยงมาก การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงมีวิธีการตั้งแต่การกินยา การลดอาหารไขมัน แป้ง รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรหลีกเหลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว หมั่นตรวจสุขภาพ กรณีมีข้อสงสัยหรือความผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์

ภาวะหัวใจวาย

ภาวะหัวใจวายเป็บกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ พบได้ตั้งแต่ความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยหอบ ซึ่งต้องแยกจากอาหารเหนื่อยจากสาเหตุอื่น ๆ อาจพบลักษณะเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ตื่นตอนกลางคืนเนื่องจากเหนื่อย แน่นอก บวม เป็นต้น

อาจแบ่งภาวะหัวใจวายตามสาเหตุการเกิดได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้


1. หัวใจวายจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ปกติลิ้นหัวใจทำหน้าที่คอยเปิด ปิด เพื่อให้เลือดผานจากหัวใจห้องหนึ่งไปยังอีกห้องได้อย่างมีระบบ และเป็นไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วที่รุนแรง ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เกิดภาวะหัวใจโต และหัวใจวายในที่สุด

2. หัวใจวายจากปัญหาการบีบตัวที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่ตัวกล้ามเนื้อหัวใจเป็นหลัก โดยปกติกล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่ในการบีบเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อมีความผิดปกติของการบีบตัว จะส่งผลให้ความดันในปอดสูงขึ้นเกิดน้ำท่วมปอด เหนื่อยหอบ สาเหตุของความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากการดื่มสุรา ขาดสารอาหาร วิตามินบี กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

3. หัวใจวายในผู้ที่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นปกติ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบีบตัวของหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติในการขยายหรือคลายตัวรับเลือด พบว่ามีการพยากรณ์โรคหรืออัตราการเสียชีวิตเทียบเท่ากับในกลุ่มที่มีการบีบตัวของหัวใจไม่ดี อาจเกิดได้จากความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว หรือมีอาการดังกล่าวที่เข้าได้ โดยเฉพาะเหนื่อยหอบบวม ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ วินิจฉัยโรค และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป.

โดย  นพ.กลกฤตย์ เขียนประสิทธิ์
         อายุรแพทย์โรคหัวใจ  รพ.แมคคอร์มิค

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดนตรีจิตอาสา

 

  ตามปกติแล้วโรงพยาบาลแมคคอร์มิคจะมีการแสดงดนตรี ที่แผนกผู้ป่วยนอกเพื่อสร้างความสุนทรีย์ให้แก่ผู้ที่กำลังรอรับบริการแต่วันนี้เราได้ยินเสียงร้องเพลงที่แสนจะไพเราะจับใจสะกดผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มนั่งชมไปยิ้มไปด้วยความประทับใจ ที่น่าสนใจไปหว่านั้น ทั้งสองท่านเป็นตำรวจจราจรและพยาบาล ทำให้รู้สึกแปลกใจว่า การร้องเพลงและเล่นดนตรีครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

      ดาบตำรวจสิมานนท์ โพธิสุวรรณ ปัจจุบันสังกัดกลุ่มงานจราจรตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โดยส่วนตัวเป็นผู้ที่ชอบเล่นกีต้าร์ในลักษณะเล่นเอง ร้องเอง ในส่วนของการทำงานก็ชอบที่จะพบปะพูดคุยกับประชาชน เมื่อครั้งที่ได้ไปปฏิบัติราชการอยู่อำเภอปายมีโอกาสได้ออกตรวจถนนคนเดินอยู่เป็นประจำ ที่นั่นมีดนตรีเปิดหมวกมากมาย ด้วยความที่ชอบดนตรีจึงไปช่วยร้องเพลงทั้งชุดตำรวจอย่างนั้น ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนแถวนั้นดีมาก ได้รับเงินบริจาคมากมาย หลายคนก็มาขอถ่ายรูปก็เลยกับมาพูดคุยกับภรรยา คุณนิกร โพธิสุวรรณ ว่าอยากเล่นดนตรีเปิดหมวกในชุดตำรวจซึ่งเป็นเรื่องที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากมีโอกาสได้ทำ ต้องการให้ตำรวจมีภาพพจน์ใกล้ชิดประชาชนและอยากให้ประชาชนรู้สึกดี   อีกทั้งเงินที่ได้มาก็สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ขัดสน คุณนิกรก็ให้กำลังใจอย่างดี และได้ร่วมกันเริ่มต้นด้วยการไปขอยืมแอมป์ตัวเล็ก ๆ และอาสาร้องเพลงวันแรกในวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ได้เงินบริจาคไปยังที่ต่าง ๆ ตามที่มีใครหรือหน่วยงานใดขอเข้ามาทั้งในรูปเครือ่งใช้ไม้สอยที่จำเป็นและทุนทรัพย์ เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ ไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง กล้องถ่ายรูป เครือ่งทำน้ำเย็น รวมถึงทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่เป็นบุตรของตำรวจ พ่อค้าแม่ค้า รถสี่ล้อ รถสามล้อ ฯลฯ "สิ่งที่เรามอบให้เขาไปแล้วไม่เคยคิดว่าเขาจะเอาไปทำอะไร สิ่งที่เรามอบไปแล้วก็คือของเขา เราก็มีความสุขใจ ผมมีความสุขที่มีโอกาสนี้" ดาบตำรวจสิมานนท์ กล่าวด้วยความอิ่มเอมใจ หลังจากนั้นได้ย้ายมาประจำอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงมีปณิธานแน่วแน่ที่อยากจะช่วยผู้ยากไร้ขัดสนใจเชียงใหม่ด้วย ต้องการใช้เวลาที่เหลือ   3 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ ได้ทำสิ่งดีดีตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตอบแทนให้บ้านเกิด ให้สังคม ให้ประเทศ

         สำหรับการเล่นดนตรีที่จังหวัดเชียงใหม่ ดาบตำรวจสิมานนท์ได้มีโอกาสไปเล่นที่ โรงพยาบาลสวนปรุงทุกวันอังคารและพฤหัสบดีโดยในช่วงเวลานั้น คุณสายรุ้ง จันทร์แก้ว พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลสวนปรุงผู้มีน้ำเสียงอันแสนไพเราะได้เข้ามาช่วยร้องเพลงทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในเวรทำงานและสวมชุดพยาบาลจึงสร้างความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการเป็นอย่างมากเนื่องด้วยผู้เล่นดนตรีอยู่ในชุดตำรวจและผู้ร้องเพลงอยู่ในชุดพยาบาล หลังจากที่ได้ไปเล่นดนตรีร่วมกับคุณสายรุ้งหลายครั้ง จึงได้มีโอกาสเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการที่ตนได้ตั้งปณิธานไว้ ซึ่งก็พอดีกับที่คุณสายรุ้งก็มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงอาสาที่จะช่วยร้องเพลงร่วมกับดาบตำรวจสิมานนท์ โดยสละเวลาว่าจากการทำงานไปช่วยร้องเพลงที่ต่าง ๆ และล่าสุดได้ไปร้องเพลงที่ถนนคนเดิน ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจมาก



          โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ที่ดาบตำรวจสิมานนท์และคุณสายรุ้งได้เข้ามาเล่นดนตรีและร้องเพลง ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจจนได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้มารับบริการ รวมถึงแพทย์ พยาบาลเจ้าหน้าที่ ในแผนกผู้ป่วยนอก ทำให้ภาพรวมการแสดงดนตรีของโรงพยาบาลแมคคอร์มิคมีสีสันมากขึ้นซึ่งดาบตำรวจสิมานนท์และคุณสายรุ้งจะมาเล่นดนตรีทุกวันเสาร์ที่สองของเดือน และทิ้งท้ายไว้ว่าทุกคร้้งที่ได้เล่นดนตรีให้ประชาชนฟัง มักจะแนะนำเรื่องกฎจราจรไปด้วย เช่น การสวมหมวกกันน็อค โดยหวังประชาชนจะมีความเข้าใจเรื่องกฎจราจรมากขึ้นและจะทำให้ทุกคนใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย

บทความโดย  : สุชาดา ดาวเรืองแสง

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...