วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กรดยูริกสูง สำคัญหรือไม่?


นพ.ทินกร  สถิรแพทย์  ศัลยแพทย์

        กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ โดยมีต้นกำเนิดจากการสลายของเซลล์ คือ DNA และ RNA กลายเป็นกรดยูริก  เมื่อร่างกายไม่มีการสร้างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ใหม่ มีแต่การสลายของเซลล์ออกมาก เช่น ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงเกิดกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย และไม่พบปัญหานี้ในเด็กหรือในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโต ร่างกายต้องการกรดยูริกในการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่

         ดังนั้น อาหารที่มีเซลล์มากได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ และหนังสัตว์ จะให้กรดยูริกมากกว่าส่วนอื่นของสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ ดังนั้นการรับประทานสัตว์ปีกเช่นเนื้อไก่โดยไม่รับประทานหนังไก่ จะไม่เพิ่มกรดยูริกในเลือดมากนัก ตรงกันข้ามกับหนังไก่ หนังเป็ด ซึ่งอุดมไปด้วยกรดยูริกและคอเลสเตอรอล

         เมื่อเราตรวจร่างกายประจำปีและพบว่า กรดยูริกในเลือดสูง คือ มากกว่า 7 มก.ต่อ ดล. และไม่มีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก แพทย์ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้การรักษา เพียงแต่ให้ระวังการรับประทานอาหารดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นความรู้ในอดีต



                                                   

         น้ำตาลฟรุคโตส หรือ ซูโครส เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจำเป็นต้องสลายน้ำตาลฟรุคโตสโดยการใช้ ATP และ ATP จะถูกเปลี่ยนเป็น ADP ซึ่งโดยปกติ ADP จะถูกนำไปสร้างเป็น ATP ใหม่ แต่การมีน้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากเกินไปจะไปขัดขวางการสร้าง ATP จึงถูกสลายเป็นกรดยูริก จะเห็นได้ว่ากรดยูริกนี้เกิดจากการสลายของ ATP ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในเซลล์ ทำให้เซลล์อ่อนแอและแก่เร็ว และยังเพิ่มกรดยูริกในเลือดด้วย

            การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลฟรุคโตสมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และโรคเบาหวาน กอปรกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจด้านซ้ายทำงานหนักและเกิดหัวใจโต และมีความเสี่ยงสูงที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายได้ง่าย

         ปัจจุบันเมื่อพบว่ากรดยูริกในเลือดสูง จึงแนะนำให้รับการรักษาด้วยยาเพื่อลดกรดยูริกทันทีที่ตรวจพบ ร่วมกับการจำกัดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ และหนังสัตว์ โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดข้อ และจำกัดการรับประทานน้ำตาลฟรุคโตสที่อยู่ในรูปของน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และน้ำตาลทราย

         เมื่อปฏิบัติตามเช่นนี้ ก็ควรตรวจเช็คเลือดหากรดยูริกในอีก  3 เดือนถัดมา ซึ่งก็จะมั่นใจได้ว่าค่ากรดยูริกจะกลับมาเป็นปกติ และโอกาสที่เราจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจก็ลดน้อยลงมาก

         สรุปได้ว่า กรดยูริกในเลือดมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่าที่เราทราบ เพราะมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง และในอนาคตอาจจะทราบผลเสียของกรดยูริกสูงมากกว่านี้อีก


วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การกลับมาของวัณโรคและการอุบัติของ XDR-TB


 นพ.อุทัย เจษฎาพร  อายุรแพทย์

          วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่มีในโลกนี้ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์  ในอดีตนั้น เมืองเชียงใหม่ก็สามารถพบโรคนี้ได้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน  ดังปรากฏให้เห็นได้ในพระราชหัตถเลขาข
องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งมาทรงงานในฐานะแพทย์ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิคของเรา เมื่อปี พ..2472 ความตอนหนึ่งว่า “TB มีมากเต็มที และไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่มีโรงพยาบาลพิเศษหรือ sanatorium สำหรับรักษารายที่ไม่หนักนัก การเรื่อง T.B.นี้ทำให้ฉันสนใจมากอยากให้มี Anti T.B.Society”

          วัณโรคได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมาก จนกระทั่งได้มีการค้นพบยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงรักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ เมื่อก่อนนั้นเรารักษาวัณโรคต้องฉีดยาในระยะต้นๆ และรับประทานยาพร้อมๆกันไปด้วยรวมทั้งสิ้นใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต่อมาก็มียาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรับประทานแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องฉีดยาก็ได้รวมระยะเวลาทั้งสิ้นแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง ก็สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้  ทำให้มีการคาดกันว่าโรคนี้น่าจะหมดไปในระยะเวลาไม่นานนัก  แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  เรากลับพบว่าวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงสำหรับมนุษยชาตินี้มิได้หายไปจากโลกนี้ กลับเพิ่มทวีขึ้น  และมีการดื้อต่อยาที่รักษา  เราเรียกว่าวัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB) และสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดขณะนี้พบว่า มีการบังเกิดของวัณโรคพันธุ์ใหม่ที่ร้ายกว่าเดิมคือ XDR-TB (วัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง)


            ก่อนอื่นเรามาทบทวนความจำกันสักนิดว่าวัณโรคนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการไอหรือการจาม เริ่มมีอาการด้วยไข้ต่ำๆ ซึ่งมักเป็นตอนบ่าย เหงื่อออกเวลากลางคืน ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ และอาจมีเลือดปน หรือไอออกเลือดสดๆก็ได้  มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดจนผอมแห้ง  โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียที่ทนต่ออากาศแห้ง แถมอยู่ในอากาศได้นาน  วัณโรคอาจเป็นกับอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หรือผิวหนัง แต่เรามักพบที่ปอดมากกว่าที่อื่นๆ การกลับมาของวัณโรคครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า วัณโรคเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข เป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุการตายในหลายๆประเทศในโลกนี้ สำหรับประเทศไทยในการจัดอันดับของความชุกของวัณโรคพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 17 และเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่วัณโรคเป็นปัญหารุนแรง เพราะเมื่อปี พ..2550 มีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 50,000 ราย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 91,000 รายทีเดียว

           เมื่อเรามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัณโรคแล้ว ต่อไปให้เรารู้จักกับวัณโรคพันธุ์ดื้อยา วัณโรคพันธุ์ที่ดื้อยาร้ายแรงต่อไป วัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB = Multidrug Resistant TB) คือ สายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ตัวหลักของ first-line TB drugs คือ Isoniazid และ rifampicin (first-line TB drugs มี Isoniazid, refampicin, ethambutol, pyrazinamide และยาเสริม first-line อีกคือ streptomycin, rifabutin และ rifapentine)  ส่วนวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง (XDR-TB, extensive drug Resistant TB, หรือ Extreme Drug Resistant TB) คือ MDR-TB ที่ดื้อต่อยา 3 ตัวหรือมากกว่าใน 6 ตัวหลักของ second-line TB drugs (quinolones, capreomycin, amikacin, ethionamide, PAS และcyclocerine)  ตามรายงานของ WHO และ CDC ปี 2000-2004 พบว่ามี XDR-TB ในทุกๆภูมิภาคของโลก แต่พบมากในประเทศที่เคยเป็นบริวารเก่าของอดีตสหภาพโซเวียตและเอเซีย  ในอเมริกาพบ 4% ของ MDR-TB  ประเทศลัตเวียพบถึง 19% ของ MDR-TB สำหรับเมืองไทยเราพบวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรงนี้ไหมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ถึงเดือนมิถุนายน 2550 ยังไม่พบว่ามี XDR-TB ในเมืองไทย แต่ที่โรงพยาบาลศิริราชได้พบว่าตัวอย่างเชื้อ MDR-TB 13 ราย ที่เก็บไว้ที่ธนาคารเชื้อวัณโรคของโรงพยาบาลศิริราชน่าจะเป็น XDR-TB ซึ่งเชื้อบางรายเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2544 ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีผู้ป่วย XDR-TB ในเมืองไทย

           อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มี XDR-TB
  1.     การให้ยาที่ไม่ถูกชนิดหรือถูกขนาด โดยแพทย์หรือผู้ให้การรักษาอื่นๆ
  2.     ยาคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือการขนส่งยาที่ไม่ถูกต้อง
  3.     ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
           สำหรับประเทศไทยนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญที่ทำให้มีเชื้อระบาดและดื้อยาคือ เชื้อจากแรงงานผิดกฎหมาย และการระบาดของโรคเอดส์

           โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้ประกาศให้มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเราคาดหวังว่าเราจะดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานสากลตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเข้ามารับการบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน การชันสูตรโรคที่ได้มาตรฐาน การให้ยาที่มีคุณภาพ ตลอดจนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เราก็สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยนั้นๆ ให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานของประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อวัณโรคและป้องกันการเกิดเชื้อที่ดื้อต่อยา คือ MDR-TB และที่ร้ายแรงที่สุดคือ XDR-TB








วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มนต์เรียกลูกค้า

อ้อมทิพย์  ศรีสุวรรณ์  หัวหน้าตึกเฮเลนนิวแมน 3/Nursery
                                                                                              
                   เคยมีใครตั้งข้อสงสัยถึงบางสิ่งบางอย่างใกล้ตัวหรือเปล่า  อย่างเช่น บางทีร้านอาหารอยู่ติดๆกันหลายๆร้าน กลับมีร้านอยู่ร้านเดียวที่มีลูกค้าเข้าคิวรออยู่เยอะแยะ บางร้านแทบไม่มีคนเข้าร้านเลย ทั้งๆที่อาหารดี คุณภาพใกล้ๆเคียง เมนูอาหารก็เหมือนกัน มันต้องมีอะไรซักอย่างที่มากกว่านั้นแน่
                      แต่ตอนนี้จะมาตั้งข้อสังเกตเรื่องของถนนสายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลย่านชุมชนคลินิก โพลีคลินิก คลินิกเฉพาะทาง ทั้งโรค หู ตา กระดูก อายุรกรรม ทันตแพทย์ ทุกๆคลินิกมารวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ใกล้ๆกัน ในถนนสายตลาดสามแยก หากหลังห้าโมงเย็นเป็นต้นไป ใครไปตลาดเพื่อช็อบปิ้งการรักษาพยาบาลตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วล่ะก็  เชิญเลือกสรรหาตามใจชอบ ว่าใครเป็นอะไรจะเข้ารักษาโรคระบบไหน ช็อบปิ้งได้ตามใจชอบ
                     แต่ก็อีกนั่นแหละ….  เอ๊ะ! ทำไมคลินิกของหมอคนนี้ คนไข้เยอะจัง คลินิกของหมอฝั่งตรงข้ามกลับไม่มีคนไข้เลย หรือมองอีกทีก็มีแค่บางตา..  บางคลินิกทำสถานที่ใหญ่โต ประดับตกแต่งสวยงาม สะอาดสะอ้านแต่ก็ไม่สามารถเรียกลูกค้าได้เท่าคลินิกที่ดูธรรมดาๆ  แต่การรักษาน่าเชื่อถือ เครื่องมือและหมอก็สูงอายุ ต้องมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ภายใต้คนไข้ที่ฝากความเชื่อถือและมารักษาเป็นประจำ..  ความลับที่ว่านั้นคืออะไรกัน
                    วันหนึ่งเมื่อลูกสาวไม่สบาย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ  ได้พาลูกสาวไปหาหมอที่คลินิกแห่งนั้น เย็นนั้นมีคนไข้คราคร่ำหนาตาเช่นเคย..  หมอคนเดียววุ่นเข้าห้องตรวจห้องนั้น ออกห้องนี้ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  แต่ทุกๆครั้งที่ตรวจอาการคนไข้เสร็จแล้ว  หมอก็จะนั่งลงบอกถึงวิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อให้หายเร็วๆ ดังนี้
                   หนูเป็นไข้นะครับ….  อย่ากินขนมหวานเยอะ น้ำเย็น ของหวานของเย็นงดกินก่อนนะครับ อาบน้ำอุ่นด้วย  คุณหมอท่าทางใจดีบอกเด็กน้อยหน้าแดงเพราะพิษไข้ที่จ้องตาแป๋วอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจฟัง
                   โรคนี้มันติดต่อกันได้ทางลมหายใจ ไอ จาม นะครับ 
ถ้าจะให้ดี แม่หาผ้ามาปิดปากให้ด้วยก็ดี อย่าไอจามรดกัน” 
คำอธิบาย สั้นๆเข้าใจง่าย สองสามประโยคนั้นมีความหมายมหาศาล
เพราะลูกสาวเชื่อฟังเป็นอย่างดี ไม่มีแอบกินไอติมหรือ
ช็อคโกแลตอย่างเคยแถมคุณหมอใจดียังแนะนำให้
กินผักผลไม้เยอะๆ และเด็กน้อยก็กินเมนูผักและผลไม้โดยไม่งอแง 
ทั้งๆที่ปกติจะไม่ชอบกินเป็นอย่างยิ่ง แต่เพราะคุณหมอสั่ง
                    นอกจากยาแก้อักเสบที่สั่งรักษาเหมือนๆ กันตามตำรารักษาแล้ว คุณหมอยังกรุณาบอกวิธีปฏิบัติตัวให้หายป่วยเร็วๆ อีกด้วย  ทุก case ขอย้ำว่า ระหว่างนั่งสังเกตอยู่ คุณหมอมีคำแนะนำเฉพาะโรคทุก case และคนไข้ก็ตั้งอกตั้งใจฟังเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง  ยกตัวอย่างเช่นลูกสาวผู้เขียนเป็นต้น คำแนะนำง่ายๆ เหล่านี้ บางทีเราก็คิดว่าคนไข้รู้แล้ว หรือลืมให้ความสำคัญไป แต่ถ้าหากผู้ที่ให้การรักษาพยาบาลไม่ลืม และย้ำให้คนไข้ได้รู้ได้เข้าใจและปฏิบัติตามก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง
                    ถ้าหากจะมีประโยชน์ยิ่งกว่านั้นก็คือ เราจะต้องไม่ลืมหน้าที่ของพยาบาลของเราด้วย  บางสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราปล่อยให้หลงลืมหายไป เพราะคิดว่าคนไข้น่าจะรู้ น่าจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง หรือคนใกล้ชิดน่าจะบอกแล้ว  ถ้าหากเราคิดอย่างนั้นก็น่าเสียดายว่า บทบาทของพยาบาลจะถูกกลืนหาย และในท่ามกลางถนนของการรักษาพยาบาลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เราจะถูกทิ้งให้เป็นคลินิกที่มีคนไข้บางตาที่นั่งมองคลินิกฝั่งตรงข้ามว่า ทำไมคลินิกฝั่งตรงข้ามถึงมีคนมาให้รักษาหนาแน่น น่าเชื่อถือ ความลับของการครองใจคนไข้คืออะไร ?   

คำแนะนำในการทำกิจวัตรประจำวันสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม

    อนุชิต อุปเวียง  นักกิจกรรมบำบัด
              
             โรคข้อเสื่อมมีอยู่ 2 ชนิด  คือ โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)(RA)  และ โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)(OA)

    โรครูมาตอยด์/Rheumatoid Arthritis(RA)
             เป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติทำให้ข้อต่ออักเสบปวดและบิดงอผิดรูป โดยมากพบที่มือทั้งสองข้างเท่าๆกันเนื่องจากโรคข้อเสื่อมชนิดนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วยเอง  บางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการหนัก บางช่วงก็อาจรู้สึกสบายดีสลับกันไป

    โรคข้อเสื่อม/(Osteoarthritis)(OA)
             เป็นโรคของความเสื่อมเนื่องจากอายุหรือจากการที่ข้อต่อนั้นถูกใช้งานหนักมากเกินไปมาเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหน้าของกระดูกข้อต่อสึกหรอจนรู้สึกปวดในขณะเคลื่อนไหวหรือแม้แต่เมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆและเกิดแคลเซียมไปสะสมทำให้ข้อต่อยึดติด เคลื่อนไหวไม่ได้ โรคข้อเสื่อมชนิดหลังนี้เป็นได้กับทุกข้อต่อ แต่โดยมากมักพบในข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ เช่น สะโพก เข่า ข้อมือ และนิ้วมือ เป็นต้น
               
               โรคข้อเสื่อมทั้งสองชนิดนี้มักพบในผู้สูงอายุ แต่สำหรับโรครูมาตอยด์อาจเกิดขึ้นในวัยกลางคนได้ อาการข้อเสื่อมทั้งสองชนิดสร้างความทรมานและความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอันมาก  ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานยาจนครบแผนการรักษา   ปรึกษานักกายภาพบำบัดเมื่อมีอาการปวด นักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและฝึกหัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนแปลงวิธีการทำกิจกรรมต่างๆ ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละคน  ดังนี้
               ข้อควรปฏิบัติข้อแรก  ผู้ป่วยควรทำใจให้สบายและทำความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นภาวะเรื้อรังที่เราสามารถควบคุมความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ความเครียดเป็นปัจจัยเร่งให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง แต่การผ่อนคลายช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีของร่างกาย
              ข้อควรปฏิบัติที่สอง คือ การพัก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง พักในที่นี้เป็นการพักจิตใจ คือผ่อนคลายและพักร่างกาย คือ การนอนหลับให้เพียงพอ การหยุดพักระหว่างช่วงเวลาทำงานเพื่อป้องกันข้อต่อที่กำลังถูกใช้งานไม่ให้ถูกทำลายมากเกินไป อาจจะใช้เครื่องดามประคองให้ข้อต่อนั้นได้พัก
               ข้อควรปฏิบัติที่สาม  การจัดท่าทางให้เหมาะสมในอิริยาบถต่างๆ เช่น ผู้ป่วยรูมาตอยด์ เวลานอนไม่ควรเอาหมอนรองใต้เข่าเพราะจะทำให้เข่ายึดแข็งในอนาคต แต่ควรใช้หมอนใบเล็กๆหนุนคอเท่านั้น ควรนั่งเก้าอี้สูงและมีที่เข้าแขนเพื่อให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้สะดวกไม่มีแรงกดต่อสะโพกมากเกินไป   เวลาลุกจากเก้าอี้ก็ควรรักษาร่างกายให้อยู่ในแนวสมมาตร/สมดุล  การระวังรักษาเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดและป้องกันข้อต่อบิดงอผิดรูปได้
               ข้อควรปฏิบัติที่สี่  ฝึกหัดวิธี Joint protection คือ การทำงานด้วยท่าทางที่ปกป้องข้อต่อไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้อต่อได้รับอันตรายจากการทำงาน ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
                4.1 Respect pain  คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตามถ้ารู้สึกว่าเจ็บหรือปวดแม้เพียงเล็กน้อยจะต้องหยุดทำและหลีกเลี่ยงงานหรือท่าทางที่ทำให้เจ็บ ถ้าจำเป็นจริงๆก็ควรแบ่งขั้นตอนของงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆทำทีละนิดอาจใช้เวลานานขึ้น แต่ดีกว่าทนทำทั้งที่ปวดหรือเจ็บเพราะจะทำให้อาการแย่ลง
                 4.2 การรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรงและรักษาระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อไว้ แนะนำในเรื่องการทำงานบ้านด้วยตนเอง เช่น กวาดบ้าน รีดผ้า ถูบ้าน  กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ควรเคลื่อนไหวเหยียดข้อไหล่  ข้อศอกไปไกลๆและกว้างๆจนเต็มที่ (แต่ไม่ต้องฝืนมากจนเจ็บ) ก็จะเป็นการบริหารข้อต่อ ป้องกันข้อติดแข็ง
                  4.3 หลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้เกิดแรงกดลงบนข้อต่อที่มีปัญหา เช่น ควรเสริมด้ามดินสอ  แปรงสีฟัน ทัพพี หรือมีด ที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (เพราะด้ามจับขนาดใหญ่มีแรงกดลงบนข้อต่อน้อยกว่าด้ามขนาดเล็ก) การถือมีดแบบที่คนทั่วไปถนัดจะทำให้ข้อต่อผิดรูปได้เร็วขึ้นควรเปลี่ยนวิธีถือโดยให้ด้ามมีดอยู่ในอุ้งมือ วางนิ้วชี้บนสันมีด ใช้แรงจากข้อศอกเป็นตัวช่วยหั่น อย่าใช้แรงที่นิ้วมือ
                       เวลาจะลุกจากเก้าอี้ให้ใช้อุ้งมือดันตัวขึ้น อย่าใช้นิ้วหรือสันมือกดลงบนที่เท้าแขน เวลาเปิดฝาขวดหรือบิดลูกบิดประตูต้องบิดมาทางนิ้วโป้งเสมอ (ห้ามผู้ป่วยทำกิจกรรมลักษณะนี้โดยการบิดข้อมือไปทางนิ้วก้อยเด็ดขาด เพราะเป็นการเร่งการทำลายข้อต่อให้ผิดรูปเร็วขึ้นการถือทัพพีคนแกงในหม้อก็ไม่ควรใช้วิธีหมุนข้อมือ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นวิธีกำทัพพีแทนโดยให้ด้ามทัพพียื่นออกมาทางฝั่งนิ้วโป้ง  ตัวทัพพีอยู่ทางนิ้วก้อย คนแกงโดยใช้แรงจากข้อศอก
               ข้อควรปฏิบัติที่ห้า จะต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ถ้าต้องอ่านหนังสือนานๆต้องวางหนังสือไว้บนโต๊ะ อย่าใช้มือถือหนังสือ เพราะน้ำหนักของหนังสือและระยะเวลาที่ต้องถือหนังสือค้างไว้นานๆเป็นอันตรายต่อข้อต่ออย่างมาก
               ข้อควรปฏิบัติที่หก ควรใช้กล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่ามาทำงานแทนกล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่เล็กกว่าหรือแข็งแรงน้อยกว่า รวมทั้งควรกระจายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้างหรือสลับมือข้างที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น ไม่ควรใช้นิ้วยกแก้วน้ำ แต่ให้ใช้อุ้งมือยกแก้วขึ้นมาแทน  การถือจาน ถือจานโดยให้จานวางไว้บนฝ่ามืออย่าใช้แรงจากนิ้วมือ  การสะพายกระเป๋าควรสะพายไว้ที่แขนอย่าใช้นิ้วหิ้ว ใช้วิธีเลื่อนหรือผลักของแทนการยกเมื่อต้องการย้ายของ 

เอกสารอ้างอิง
บุษบงกช เชวงเชาว์.จะให้คำแนะนำผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมอย่างไร.วารสารกิจกรรมบำบัด ปีที่
ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน,2547

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...