วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
โดย พญ.สิดาพัณณ์  ยุตบุตร        กุมารแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค





เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มคอคซากี (Coxakie) และเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปากมีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า
และ
ลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
         
การติดต่อของโรคมือเท้าปากเปื่อยส่วนใหญ่  

       เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง
โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วยโดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการไอ จามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลา หรือหายป่วยแล้ว ประมาณ 1 เดือน    จะพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า และโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น      พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ  อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานที่รับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ      ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
          


อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย 
     จะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและ  ฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
    
       ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมอง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
         
    ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วม เช่น แก้วน้ำ  หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
         

การควบคุมโรค มือเท้าปากเปื่อย สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์ เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอรวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็ก ให้ถูกต้องด้วย
          หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่นสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า ผู้เลี้ยงเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
          หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว(1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาด    ฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำผงซักฟอก ผึ่งแดด กรณีล้างไม่ได้ให้เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์



สิ่งที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ
หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรคนิ้วล็อค (Trigger finger)

โรคนิ้วล็อค (Trigger finger)
โดย นพ.อรรถสิทธิ์  คงเมือง    ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ 




โรคนิ้วล็อค (Trigger fingerคือ ภาวะที่มีการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น บริเวณฝ่ามือในตำแหน่งข้อต้นของนิ้วมือ การอักเสบทำให้เกิดการบีบรัดเอ็นของนิ้วมือ ทำให้มีการปวด  งอเหยียดนิ้วลำบาก อาจมีอาการสะดุดเวลาเหยียดนิ้ว หรือไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้


สาเหตุ : เกิดจากการเสียดสีของเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วมือ กับส่วนของปลอกหุ้มเอ็น เมื่อมีการกำมือแรงๆ จะก่อให้เกิดแรงกดของเอ็นกับปลอกและเกิดการเสียดสี ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ เมื่อมีการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวด ขยับนิ้วมือลำบาก มีการบวมของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งสามารถคลำได้บริเวณฝ่ามือ การอักเสบเมื่อเกิดเป็นเวลานาน บ่อยครั้งจะทำให้ส่วนของปลอกหุ้มเอ็นเกิดการหนาตัวขึ้น
ก่อให้เกิดการตีบแคบลงของปลอกหุ้มเอ็นทำให้เกิดการสะดุดเวลาเหยียดนิ้ว

การรักษา
1. การลดกิจกรรมการใช้นิ้วมือ เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเป็นการลดสาเหตุของการอักเสบ

2. การยืดเหยียดนิ้วมือให้เอ็นเกิดการยืดตัวไม่ควรทำในช่วงที่มีการอักเสบเฉียบพลัน ควรรอให้กระบวนการอักเสบหายก่อน ร่วมกับการใช้ความร้อน

3. การใช้ยาลดการอักเสบ ได้แก่ การใช้ยากลุ่ม NSAIDS เพื่อลดอาการอักเสบและการใช้ยา Steroid เฉพาะที่ ฉีดเข้าไปที่บริเวณปลอกหุ้มเอ็นที่อักเสบ การใช้ยาฉีด Steroid เฉพาะที่ให้ผลในการรักษาที่ดีกว่า

4. การผ่าตัดในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยใช้ยาลดอักเสบ หรือในภาวะที่มีการล็อคของนิ้วมือมาก การผ่าตัดทำโดยการตัดส่วนปลอกหุ้มเอ็นที่บีบรัดเส้นเอ็นให้คลายออกทำได้ 2 วิธีคือ

การผ่าตัดเปิดผิวหนัง
ข้อดีคือ          เห็นส่วนพยาธิสภาพบริเวณปลอกหุ้มเอ็นและส่วนของเส้นเอ็น ทำให้มั่นใจได้ว่าทำการตัดเปิดส่วนของปลอกหุ้มเอ็นได้หมด
ข้อเสียคือ      ใช้เวลาในการพักฟื้นนาน

- การผ่าตัดโดยการเจาะ ทำโดยใช้เข็มหรือมีดปลายแหลมเจาะผิวหนังเข้าไปตัดปลอกหุ้มเอ็น
ข้อดีคือ          แผลมีขนาดเล็ก ไม่ต้องทำการเย็บผิวหนัง ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
ข้อเสียคือ      อาจทำการตัดปลอกหุ้มเอ็นได้ไม่หมด อาจมีการบาดเจ็บในส่วนของเส้นเอ็น เส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้ จึงควรทำโดยผู้มีประสบการณ์


วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke or cerebrovascular disease)

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke or cerebrovascular disease)
พญ.นิติภรณ์  แจวจันทึก  อายุรแพทย์ระบบประสาท  โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

เป็นปัญหาสาธารณะสุขที่สำคัญและพบบ่อยของประเทศไทย เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกทั้งยังเป็นสาเหตุการตาย ที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ที่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลันและอาการคงอยู่นานมากกว่า 24 ชั่วโมง                                     
โรคหลอดเลือดสองมี 2 ประเภท คือ
1.  โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic stroke)
                 พบประมาณร้อยละ 75-80
2.  โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการมีเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke)
     พบประมาณร้อยละ 20-25
         

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง หลังการเกิดโรคผู้ป่วยมักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ภาพลักษณ์ ภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว บางรายจำเป็นต้องมีผู้ดูแลเมื่อกลับไปอยู่บ้าน ส่งผลกระทบต่อบทบาทหน้าที่ของบุคคลในครอบครัวที่ต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วย 
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองได้พัฒนาไปมากทั้งในด้านการวินิจฉัย และการรักษา ในด้านการรักษาพบว่าผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองจากสมองขาดเลือดถ้าเข้ารับการรักษาในโงพยาบาลที่มีศักยภาพภายใน 3 ชั่วโมง หลังมีอาการโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำสามารถช่วยลดความพิการลงได้ถึงร้อยละ 30-50

อาการของโรคหลอดเลือดสมองนั้นอาจแตกต่างกันตามตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน
โดยมีอาการเตือนที่สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าดังต่อไปนี้
1.การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหรือมีอาการชาบริเวณแขนขาหรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง
2.การมองเห็นผิดปกติ เช่น ตามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นทันที
3.การพูดผิดปกติ เช่น พูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือไม่เข้าใจ
คำพูด
4.เวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมกับเดินเซ เสียการทรงตัว

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้
ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน!!

 ซึ่งการรักษาโดยการให้ยาละลายในลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 3 ชั่วโมง หลังมีอาการสามารถช่วยลดความพิการลงได้ถึงร้อยละ 30-50 ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...