วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไส้เลื่อน (Hernia)

ไส้เลื่อน (Hernia)
โดย นพ.อาณัติ  วณิชชากร   ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค 


ไส้เลื่อน หมายถึง  ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอกหรือเกิดจากผนังหน้าท้องที่หุ้มภายในมีรูรั่ว ทำให้ลำไส้หรืออวัยวะภายในเลื่อนเข้า เลื่อนออก จากช่องนั้นได้ ซึ่งพบได้หลายตำแหน่ง ไส้เลื่อนที่พบได้มากที่สุดคือ ไส้เลื่อนขาหนีบ นอกจากนี้    จะเป็นไส้เลื่อนที่สะดือ (สะดือจุ่น) ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด โรคนี้ผู้หญิงก็เป็นได้ แต่จะพบในผู้ชายมากกว่า



สาเหตุการเกิดไส้เลื่อน

1. การหย่อนตัวของผนังหน้าท้อง อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเพราะอายุมากขึ้น ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรง มีความหย่อนคล้อย ทำให้เกิดการเลื่อนของลำไส้ได้
2. การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่นท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ
3. ในผู้สูงอายุ ที่เป็นต่อมลูกหมากโต ก็มีโอกาสที่จะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้
4. เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้อง



อาการของโรคไส้เลื่อน

1. รู้สึกปวดหน่วงๆ  เหมือนมีอะไรไหลออกมา หรือเจ็บตรงบริเวณที่เกิดโรค
2. ลักษณะเป็นก้อนนูน สามารถผลุบเข้าออกได้บริเวณผนังหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ บางครั้งถ้ามันยื่นออกมาแล้วไม่หุบกลับเข้าไปเอง อาจจะมีอาการปวดบริเวณก้อนนั้นได้





อาการที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

เช่น มีอาการปวดขาหนีบมาก มีก้อนเกิดขึ้น และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา เมื่อลำไส้ลงมามากแล้ว ถึงจะดันกลับเข้าไปก็ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมได้และเน่าเสียในที่สุด ทำให้แบคทีเรียและเลือดเสียเหล่านั้นกระจายไปทั่วร่างกายถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด



วิธีการตรวจไส้เลื่อน          แพทย์จะใช้มือคลำดูตามจุดที่มีอาการ แล้วลองให้คนไข้เบ่งดูว่ามีก้อนอวัยวะไหลผ่านมือคุณหมอบ้างหรือเปล่า และอาจต้องคลำที่บริเวณหัวหน่าว ทั้งสองข้าง เพื่อเปรียบเทียบกันด้วย และในบางกรณีอาจต้องตรวจทั้งท่ายืนและท่านอนในผู้สูงอายุ แพทย์จะขอตรวจความผิดปกติของต่อมลูกหมากด้วย โดยสอดนิ้วตรวจทางทวารหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ


 การรักษาไส้เลื่อน 




        โรคไส้เลื่อนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น เพื่อเข้าไปซ่อมแซมไส้เลื่อนจากด้านในและเสริมแผ่นความแข็งแรงบริเวณที่เป็น          ในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนผู้ป่วยไม่ควรที่จะกระโดดโลดเต้น ไม่ควรยกของหนัก และงดการออกกำลังกายหนักๆในช่วง2เดือนแรก ที่สำคัญไม่ควรจะเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ เพราะถ้ามีความดันในช่องท้องเพิ่มก็มีโอกาสที่จะทำให้รอยเย็บหรือตาข่ายที่ใส่ไว้มีการเคลื่อนจะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากขึ้น
          ผู้ป่วยที่เคยเป็นไส้เลื่อน 1 ข้าง จะมีโอกาสเป็นอีก 1 ข้าง ประมาณ 30 % มากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นต้องระวังให้มาก ไส้เลื่อนไม่สามารถใช้ยาในการรักษาได้ ต้องผ่าตัดเท่านั้น การปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำให้หายเอง แต่จะทำให้ไส้เน่าและเสียชีวิตได้ในที่สุดและการเป็นไส้เลื่อนไม่เกี่ยวกับการใส่หรือไม่ใส่กางเกงใน  ผู้หญิงหรือผู้ชายก็เป็นไส้เลื่อนได้ เพราะฉะนั้นถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
โดย นพ.อาณัติ  วณิชชากร   ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค


ไส้ติ่งเป็นส่วนขยายของลำไส้ใหญ่ส่วนต้น อยู่ทางขวาของช่องท้องส่วนล่าง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า vermiform appendix (ติ่งรูปหนอน) แต่ความจริงไส้ติ่งมีลักษณะเป็นถุงแคบและยาว ปากถุงต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม(caecum) กว้างเพียง 5-8 มม.ก้นถุงลึกประมาณ 8-10 ซม.(ในผู้ใหญ่)

ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดกับไส้ติ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบทุกรายต้องได้รับการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก หากไม่ได้รับการรักษา หรือปล่อยปละละเลย จะมีอัตราการตายสูง การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะ เยื่อบุช่องท้องอักเสบและภาวะช็อค

สาเหตุ

            
เกิดจากการที่มีการอุดตันของไส้ติ่ง โดยอาจจะอุดตันจากเศษอุจจาระขนาดเล็ก วัตถุแปลกปลอม หรือตัวพยาธิ ทำให้ไม่มีการระบายถ่ายเทและเกิดการเพิ่มความดันภายในไส้ติ่ง ซึ่งต่อมาจะทำให้ไส้ติ่งบวม แดง มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นหนอง และถ้าเป็นมากขึ้นก็อาจทำให้ไส้ติ่งแตก 

อาการไส้ติ่งอักเสบที่เราสามารถสังเกตได้เบื้องต้น มีดังนี้


1.ปวดท้องบริเวณสะดือ
           สัญญาณแรกของอาการไส้ติ่งอักเสบนั้นจะเริ่มแสดงให้เห็นจากการปวดท้องด้านขวาล่าง แล้วจึงค่อยๆ ปวดตรงบริเวณสะดือ และจะเคลื่อนลงไปที่ช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งในบางราย อย่างเช่นเด็กและสตรีมีครรภ์อาจจะเกิดอาการปวดที่ส่วนอื่นๆ ของช่องท้อง อาการปวดเหล่านี้จะยิ่งเลวร้ายลงหากขยับขาและบริเวณท้องซึ่งมาจากการไอ จาม หรือสั่นสะเทือนในขณะที่นั่งอยู่บนรถที่ขับในทางขรุขระ

2.เกิดอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน
         อาการปวดที่บริเวณส่วนล่างของช่องท้องจะหนักขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นการปวดที่มากที่สุดในชีวิต  ซึ่งอาการไส้ติ่งอักเสบนั้นมีความรุนแรงมากพอที่จะปลุกผู้ป่วยที่กำลังหลับอยู่ให้ตื่นขึ้นมาได้ โดยอาการปวดท้องนี้จะทวีความเจ็บปวดมากขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

3.มีไข้ต่ำๆและหนาวสั่น
           อาการไส้ติ่งอักเสบนั้นคล้ายคลึงกับอาการปวดท้องที่เนื่องมาจากอาการติดเชื้อบางอย่างที่ไม่รุนแรง และจะส่งผลให้เกิดไข้ต่ำๆ และอาการหนาวสั่นได้ ซึ่งถ้าหากคุณมีอาการไข้ต่ำๆ เพียงอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไร แต่ถ้าหากคุณมีอาการไข้ต่ำๆ รวมกับอาการปวดท้อง จนทำให้คุณไม่มีแรงยืนขึ้นให้ตรงได้ แสดงว่าคุณเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้ว

4.คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
            ถ้าหากในช่วง2 - 3วันมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน มักจะเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าหากอาการเลวร้ายลง มีอาการไข้และปวดบริเวณช่องท้องด้านขวาล่าง ควรจะรีบไปพบแพทย์

5.ท้องผูกหรือท้องเสีย
            ถ้าหากมีอาการท้องเสียไม่รุนแรงและมูกปนออกมาด้วยมากผิดปกติร่วมกับอาการปวดช่องท้องด้านขวาล่าง มักแสดงถึงอาการไส้ติ่งอักเสบ

6.ท้องอืด และมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
            มักจะมีอาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหารติดต่อกันมากกว่า 2 วัน พร้อมกับอาการปวดภายในช่องท้องโดยเฉพาะปวดท้องด้านขวาล่าง ร่วมกับมีอาการไข้

การรักษา



            หากว่ามีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าจะเป็นควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งในระหว่างนี้ควรงดน้ำและอาหารก่อน ซึ่งการรักษาในปัจจุบันที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก  การกินยาแก้ปวดหรือฉีดยาแก้ปวด อาจจะทำให้อาการปวดลดลงได้ แต่จะเป็นผลเสียกับคนไข้ เพราะจะทำให้ตรวจพบได้ช้า และกว่าจะมาปวดอีกที ไส้ติ่งอาจจะแตกแล้วก็ได้

        ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากทิ้งไว้เรื้อรังอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นถ้าหากมีอาการอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ควรจะรีบไปพบแพทย์อย่างด่วนเลยนะคะ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม 
โดย นพ.อาณัติ  วณิชชากร   ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค




         มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก ซึ่งมะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งอาจจะเกิดเป็นมะเร็งเต้านมโดยส่วนใหญ่ 90%มักเป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดจากท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง           

           จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

พบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด

และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด ดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็ก และก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะเต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น เมื่อเทียบกับการตรวจพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว โดยหากมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

1.อายุ ซึ่งเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมักจะมากขึ้นตาม โดย ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมักจะมีความเสี่ยงมากที่สุด

2.พันธุกรรม ประวัติการเกิดมะเร็งในครอบครัว และการเกิดมะเร็งเต้านมของตัวเอง

3.ปัจจัยของฮอร์โมน เช่น อายุเริ่มต้นของการมีประจำเดือน อายุที่หมดประจำเดือน การมีบุตร การให้นมบุตร ประวัติการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง

4.มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

5.การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

6.ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวันเช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีปริมาณสูง

อาการของมะเร็งเต้านม
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะไม่มีอาการอะไร โดยมากมักจะรู้ได้โดย


1.คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้

2.มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของเต้านม

3.มีน้ำไหลออกจากหัวนม

4.เจ็บ หรือหัวนมถูกดึงรั้ง

5.เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวเปลือกส้ม


วิธีการตรวจหามะเร็งเต้านม มีหลายวิธีได้แก่


1. การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือพยาบาล

3. การตรวจด้วยวีธีอัลตราซาวนด์

4. การตรวจเต้านมด้วย แมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วไป



การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
            การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจะทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติ (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอ็กซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และมีการแพร่กระจายไปที่ใดแล้วหรือไม่ โดยการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

การรักษามะเร็งเต้านม
           แพทย์จะทำการประเมินระยะของผู้ป่วยแล้ว จึงวางแผนการรักษา โดยทั่วไปการรักษามะเร็งเต้านมมีด้วยกันดังนี้
1.การรักษาโดยการผ่าตัด
2.การรักษาโดยการให้เคมีบำบัด
3.การรักษาโดยการฉายรังสี
4.การให้ฮอร์โมน


          ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันจากโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปหรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม อย่างน้อยคัดกรองโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง แต่กระนั้นวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง แมมโมแกรม  จัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
โดย นพ.สุทธิพันธ์  วงศ์วนากุล      ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค



       โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบที่กระเพาะปัสสาวะบริเวณท้องน้อยซึ่งเป็นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนี้



                  มักเกิดกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-50 ปี                                           
        โดย 50 % ของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะสักครั้งหนึ่งในชีวิต สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก มีความยาวเพียงประมาณ 3-4 เซนติเมตร ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย


ปัจจัยเสี่ยง

1.ดื่มน้ำน้อย
2.ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ
3.หลังการมีเพศสัมพันธ์ , การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์, การติดเชื้อช่องคลอดและมดลูก
4.ชอบสวนล้างช่องคลอด
5.สตรีวัยหมดประจำเดือน
6.ต่อมลูกหมากโตในผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป
7.กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
8.ผู้ที่ป็นโรคเบาหวาน , ผู้ที่มีความคุ้มกันบกพร่อง , สูบบุหรี่
9.คนชรา
10.ผู้ป่วยโรคนิ่ว
11.ผู้ที่เคยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ
12.การคุมกำเนิดโดยยาฆ่าอสุจิ , ฝาครอบปากมดลูก (Diaphoagm)

การวินิจฉัย
1.การซักประวัติและตรวจร่างกาย
2.การตรวจน้ำปัสสาวะและการเพาะเชื้อน้ำปัสสาวะ จะพบเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรียในน้ำปัสสาวะ


การรักษา 
1.การใช้ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ) ซึ่งมีหลายชนิด ระยะเวลารักษาส่วนใหญ่ ประมาณ 3-7 วัน  ถ้าโรคมีความซับซ้อนต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษาประมาณ 10-14 วัน โดยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ถูกต้อง,ครบตามกำหนด เพื่อป้องกันเชื้อโรคดื้อยา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงจำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด  เพื่อปรับยาฆ่าเชื้อหรือต้องรักษาวิธีอื่นเพิ่มเติม
2.ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร  หรือประมาณ 8-10 แก้ว เพื่อจะให้ปัสสาวะขับ
เชื้อแบคทีเรียออกมา
3.รับประทานยาลดอาการปวดเกร็งท้องน้อย ทำให้อาการปวดท้องน้อยปัสสาวะบ่อยดีขึ้น


การป้องกัน

                                     1.ดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร

2.งดกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ
3.งดสวนล้างช่องคลอด ล้างเฉพาะบริเวณด้านนอกและซับให้แห้ง
4.ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยถุงยางอนามัย
5.ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆหายๆ เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต
6.ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
7.ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองเป็นประจำเพราะจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้ง่าย

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...