วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรคท้องร่วง (Diarrhea)

โรคท้องร่วง (Diarrhea)


          โรคท้องร่วง ถือเป็นโรคหนึ่งที่คนเป็นกันมาก มักจะเกิดจากการติดเชื้อเมื่อรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป

          โรคท้องร่วง คือการที่ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวปนเลือดเพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้โดยทั่วไป อาการท้องร่วง จะหายเองใน 2-3 วัน โดยไม่ต้องรักษา ถ้าเป็นนานกว่านั้น อาจหมายถึงเป็นอาการอย่างอื่น อย่างไรก็ตามแม้อาการท้องร่วงจะไม่อันตราย แต่จะทำให้ขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ซึ่งถ้าเป็นมากก็ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้


สาเหตุ
เกิดจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือนมที่มีเชื้อโรคอุจจาระร่วงปะปนอยู่ มีสาเหตุดังนี้

1. เกิดจากการได้รับเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เข้าไปทางระบบทางเดินอาหาร
2. เกิดจากยาหรือสารพิษต่างๆ เช่นสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหาร หรือกินเห็ดพิษเป็นต้น
3. เกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น การดูดซึมของลำไส้เล็กผิดปกติ โรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
4. จากอารมณ์ตึงเครียด ซึ่งมักเป็นหลังจากกินอาหารใหม่ๆ
5. เป็นโดยไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอุจจาระร่วง


อาการ
          ผู้ติดเชื้อโรคท้องร่วง จะมีอาการแน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายบ่อยครั้งและเป็นน้ำ อาการท้องร่วงแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
          1.อาการท้องร่วงเฉียบพลัน คืออาการท้องร่วงที่เป็นทันทีทันใด แต่เป็นระยะสั้นๆ ไม่เกิน2 สัปดาห์
         2.อาการท้องร่วงชนิดเรื้องรัง คือ อาการท้องร่วงที่เป็นติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์และบางรายอาจเป็นนานถึงเดือน หรือมีอาการเป็นพักๆ
          ผู้ป่วยท้องร่วงควรพบแพทย์เมื่อมีอาการ ปวดท้องมาก มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ท้องร่วงนานเกิน 3 วัน มีเลือดในอุจจาระ หรืออุจจาระดำ รวมทั้งมีอาการขาดน้ำ คือมักจะหิวน้ำบ่อย ผิวหนังแห้งรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยปัสสาวะ รวมทั้งเวลาเปลี่ยนจากท่านอนเป็นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลม


การรักษา
          หลักการรักษาโรคท้องร่วงทำได้โดยป้องกันการขาดน้ำ ด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS โดยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ข้อควรระวัง เมื่อมีอาการท้องร่วง ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย เพราะการขับถ่ายเป็นกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกาย หากรับประทานยาหยุดถ่ายจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น


การป้องกัน

1.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ เพราะอาหารที่ทิ้งไว้นานอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้
2.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ทุกครั้ง ทั้งก่อนการเตรียมอาหาร ปรุงอาหาร รวมถึงก่อนรับประทานอาหาร เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค
3.เก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่างดี  โดยเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโต และเมื่อนำมาอุ่น ควรอุ่นในอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส
4.ดูแลรักษาบ้านโดยเฉพาะห้องครัว ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันหนู แมลงต่างๆที่เป็นพาหะ
เชื้อโรค
5.ล้างภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหารให้สะอาดทุกครั้ง และควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
6.ควรแยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบและอาหารที่ปรุงสุกออกจากกัน เพราะเนื้อสัตว์ดิบอาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียมา นอกจากนี้อาหารที่ปรุงสุกควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท
7.ต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำที่กดมาจากตู้กดทั่วไป เพราะอาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้


          โรคท้องร่วงแม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่เราก็ไม่ควรประมาทเมื่อมีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปวดหลัง (Back pain)

ปวดหลัง(Back pain)


ปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตของออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเกิดจากการที่เรานั่งทำงานติดต่อกันนานๆ หรือต้องยืนนานๆ โดยเฉพาะคุณสาวๆ ที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงตลอดทั้งวันด้วยแล้ว ยิ่งเกิดอาการปวดหลังได้ง่าย การยกของหนักเป็นประจำหรือการออกกำลังกายหักโหมเกินไปก็เป็นสาเหตุให้ปวดหลังได้เช่นกัน โดยอาจเกิดการเคล็ด ขัด ยอก ปวด ตึง กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จนบางรายอาจไม่สามารถเอี้ยวหรือบิดตัวได้ หรือบางท่านอาจปวดหลัง และร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี หลังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะยืดหยุ่นและไม่ปวดมีการทำงานของระบบโครงสร้าง คือกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกล้ามเนื้อและเอ็นอย่างเหมาะสม และปกป้องอันตรายไม่ให้เกิดกับประสาทไขสันหลัง


อาการ
          ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง(ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือค่อยเป็นทีละน้อย อาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัว เอี้ยวตัวอาจทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดีและไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย


สาเหตุ
1. การใช้กิริยาท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2. ความเสื่อมของกระดูกและข้อจากวัยที่สูงขึ้น
3. ขาดการออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
4. ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่นหลังคด หลังแอ่น
5. การมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่นวัณโรคของกระดูกสันหลัง
6. การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
7. การมีเนื้องอกของประสาทไขสันหลังหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8. อาการปวดร้าวมายังหลังจากโรคของอวัยวะในระบบอื่นๆเช่นนิ่วในไต เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
9. ปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความวิตกกังวลในชีวิต


การรักษา ที่ดีที่สุด คือการป้องกันสาเหตุ
1. เรียนรู้การใช้กิริยาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
3. หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานมากๆ และรู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกายให้ครบทุกประเภท
5. บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ร่วมกับการออกกำลังกาย กลางแจ้ง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ รำมวยจีน จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการทำงาน
6. ออกกำลังบริหารร่างกาย ป้องกันอาการปวดหลังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีอาการปวดหลัง
7. ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตเห็นความผิดปกติ

ท่าทางที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตประจำวันมีดังนี้


ท่ายืน  
ท่าที่ถูกต้องคือแขม่วท้องอกผายไหล่ผึ่งเอวแอ่นน้อยที่สุด ถ้าต้องยืนเป็นเวลานานควรมีที่พักเท้า


ท่านั่ง
ท่าที่ถูกต้องคือสันหลังตรงพิงพนัก เก้าอี้สูงพอดี และควรมีที่พักแขน การนั่งห่างจากโต๊ะมากทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมาก ที่นั่งที่เหมาะสมที่สุดในการพักผ่อนควรเอียง 60 องศา จากแนวตั้ง มีส่วนหนุนหลัง มีที่วางแขน ทำด้วยวัสดุนุ่มแต่แน่น

ท่านั่งขับรถ
ท่าที่ถูกต้องคือหลังพิงพนัก เข่างอเหนือระดับสะโพก การนั่งห่างเกินไป ทำให้เข่าต้องเหยียดออกกระดูกสันหลังตึง

ท่ายกของ
ท่าที่ถูกต้องควรย่อตัวยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา การก้มลงหยิบของในลักษณะเข่าเหยียดตรง ทำให้ปวดหลังได้

ท่าถือของ
ท่าที่ถูกต้องคือควรให้ชิดตัวที่สุด การถือของห่างจากลำตัว ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก

ท่าเข็นรถ
ท่าที่ถูกต้องคือควรดันไปข้างหน้า ออกแรงที่กล้ามท้อง การดึงถอยหลังจะออกแรงที่กล้ามเนื้อหลังเป็นเหตุให้ปวดหลังได้

ท่านอน
ที่นอนควรจะแน่น ยุบตัวน้อยที่สุด ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำ หรือเตียงสปริงเพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น  การนอนคว่ำจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอว ทำให้ปวดหลังได้ การนอนหงายทำให้หลังแอ่นได้เล็กน้อย ควรใช้หมอนข้างใบใหญ่ หนุนใต้โคนขา จะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่แอ่น ท่านอนที่ดีที่สุดคือการนอนตะแคง ควรให้ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอ สะโพกและเข่ากอดหมอนข้าง


อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ในบางสาเหตุ ร่วมกับการบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง การรักษาในบางสาเหตุได้ผลมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่งเสริมหลายๆประการ แต่บางทีอาการปวดที่เราคิดว่าปวดหลัง หรือบางอาการที่ปวดหลังเรื้อรัง ก็ไม่ได้เป็นเพราะกล้ามเนื้อและกระดูกเสมอไป ลักษณะอาการปวดหลังบางอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยจากโรคที่เกิดกับอวัยวะภายใน และจำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ฉะนั้นการรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่าน

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรคเกาต์ (GOUT)

โรคเกาต์ (GOUT)


“โรคเกาต์” เป็นโรคข้ออักเสบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของร่างกาย ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงมากอันเนื่องมาจากการกิน และไม่ค่อยออกกำลังกาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ชายในวัยประมาณ 40 ปี
ในผู้หญิงมักจะพบในวัยหมดประจำเดือนแล้ว



สาเหตุของโรค
            เกิดจากกระบวนการใช้ และขับถ่ายสารพวกพิวรีนของร่างกายผิดปกติไป พิวรีนเป็นธาตุอาหารที่พบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ เป็นต้น  ซึ่งจะถูกย่อยจนกลายเป็นกรดยูริก โดยที่ร่างกายจะกำจัดพิวรีนออกทางไต (ปัสสาวะ)   ทางลำไส้ (อุจจาระ) แต่เมื่อร่างกายเกิดกรดยูริกมากเกินไปหรือไม่สามารถสลายกรดยูริคออกได้ ก็จะทำให้เกิดตะกอนในที่สุด สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจาก กรรมพันธุ์   ความอ้วน  การดื่มแอลกอฮอล์ หรือจากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง


อาการของโรค
            มีอาการปวด บวม แดง ร้อนตามข้อ และเจ็บ อาจรุนแรงจนถึงกับเดินไม่ได้ก็มี อาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นได้กับทุกข้อต่อในร่างกาย แต่พบว่าข้อที่อักเสบได้บ่อย ได้แก่ ข้อหัวแม่มือ    ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งเมื่อเจาะเลือดดูระดับกรดยูริกในร่างกายพบว่า ในผู้ชายมีค่ามากกว่า
7.0 มก./ดล.และในผู้หญิงมีค่ามากกว่า 6.0 มก./ดล.


กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์
1. เพศชาย อายุช่วงประมาณ 30-40 ปี หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
2. ผู้ที่มีโรคร่วมซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในโลหิตสูง
3. ผู้ที่ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ
4. ผู้ที่รับประทานอาหารเนื้อสัตว์และอาหารทะเลปริมาณมากเป็นประจำ
5. ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาขับปัสสาวะ
6. ผู้ที่มีภาวะไตทำงานบกพร่อง เป็นสาเหตุให้มีการคั่งของกรดยูริกในเลือด


การรักษา
            ในระยะแรกที่มีอาการเฉียบพลัน คือปวด บวมแดง ร้อน จะใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการ ดูแลตัวเองและป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีกโดยการงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่มีพิวรีนให้น้อยลง
การดื่มน้ำเยอะๆสามารถช่วยขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะได้ หรือการดื่มนมสดก็ช่วยลดกรดยูริกได้เหมือนกัน แต่ถ้ากินยาแก้ปวดและดูแลตัวเองแล้ว ยังมีอาการกำเริบบ่อยกว่า 2-3 ครั้ง จะต้องใช้ยาลดกรดยูริก
            โรคเกาต์สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกไม่ให้สูง แต่ผู้ป่วยต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี เป็นอย่างน้อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าหายขาดแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเหมือนเดิมก็จะกลับไปเป็นอีก

การปฏิบัติตัวไม่ให้โรคเกาต์กำเริบ
1. รับประทานยาตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยาควรรีบปรึกษาแพทย์
2. ไม่ควรหยุดยา ปรับขนาดยา หรือซื้อยารับประทานเอง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการแพ้ยาแล้ว ทำให้ควบคุมโรคได้ไม่ดี โรคอาจกำเริบได้
3. ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูระดับกรดยูริก การทำงานของตับและไตเป็นระยะๆ รวมทั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนยา หรือขนาดของยาตามความเหมาะสม
4. ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยเรื่องอื่นหรือไปพบแพทย์ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง
5. รับประทานอาหารให้ถูกส่วน ครบหมู่ และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่นเครื่องในสัตว์ ชะอม กระถิน เนื้อไก่ เป็นต้น
6. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์
7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการกระแทกต่อข้อที่รุนแรง
8. หลีกเลี่ยงการบีบ  นวด ถู บริเวณข้อ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบได้

            โรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่ไม่ถูกทางจะทำให้โรคเข้าสู่ระยะที่มี ปุ๋ม ก้อน ข้อ และกระดูกถูกทำลาย รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบไต หัวใจ ดังนั้น การตั้งใจให้ความร่วมมือในการรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันภาวะเหล่านี้ได้ รวมทั้งไม่มีอาการข้ออักเสบกำเริบอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่(Influenza)



          ไข้หวัดใหญ่ หรือ influenza เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน จะพบมากทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการเสียชีวิตมักจะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต เป็นต้น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ influenza A และB ส่วนไวรัส influenza อีกชนิดหนึ่งคือ influenza C นั้นเนื่องจากมีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาดจึงอาจจะไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นติดเชื้อในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนคือจมูกและคอและอาจลงไปถึงส่วนล่างอันได้แก่หลอดลมและปอดด้วย


ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดาแตกต่างกันอย่างไร
          ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆไข้หวัดใหญ่ แต่ข้อแตกต่างคือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น และไม่ค่อยมีอาการไข้ แต่ไข้หวัดใหญ่ มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ   ปวดตามตัวปวดกล้ามเนื้อมากและอาการจะรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา เกิดภาวะแทรกซ้อนได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะที่รุนแรงถึงชีวิตได้ เช่น ปอดบวม

การติดต่อ
เชื้อนี้จะติดต่อได้ง่ายโดยทางเดินหายใจ วิธีการติดต่อได้แก่
     1.เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจ การไอ หรือจาม
     2.การสัมผัสน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้จะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูกและปาก
     3.การสัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรคเช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ

อาการของโรค
          อาการของไข้หวัดใหญ่จะเหมือนกับไข้หวัด แต่ไข้หวัดใหญ่จะเร็วกว่า ไข้สูงกว่า อาการสำคัญได้แก่
1.ระยะฟักตัวของเชื้อคือ 1-4 วันโดยเฉลี่ย 2 วันผู้ป่วยจะมีอาการ

          - อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้
          - ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา
          - ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
          - ไอแห้งๆ เจ็บคอและคอแดงมีน้ำมูกใสไหล
          - ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง
          - อาการอาเจียน หรือท้องเดิน ไข้เป็น2-4 วันแล้วค่อยๆลดลงแต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์

ยกเว้น ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีการติดไปยังระบบอื่นๆด้วย เช่น
          - อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ
          - ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบผู้ป่วยจะปวดศีรษะมากและซึมลง
          - ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวมผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
          - โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวม และโรคหัวใจหรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

         


           ในปัจจุบันวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันปีละ 1 ครั้ง แต่วิธีนี้อาจจะป้องกันไม่ได้ 100% แต่จะช่วยบรรเทาจากอาการหนักเป็นเบาได้ เนื่องจากวัคซีนที่นำออกมาใช้ในแต่ละปีนั้นๆ จะเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสายพันธุ์ใดจะแพร่ระบาด จากนั้นจึงจะทำวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้น ทำให้วัคซีนดังกล่าวอาจจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่อุบัติใหม่ หรือเป็นสายพันธุ์อันนอกเหนือจากที่วัคซีนจะสามารถป้องกันได้



          ฉะนั้น วิธีการป้องกันนอกจากเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีแล้ว เราจำเป็นต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับใบหน้าหรือหยิบจับสิ่งของเข้าปาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจะต้องได้รับวัคซีนอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งถ้ามีอาการมากควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน


         ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ถ้ากลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น    มีการสลายกระดูกมากเกิน หรือมีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป หรือขาดแคลเซียม ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ มักพบในผู้หญิงมากว่าผู้ชาย ตั้งแต่ช่วงอายุ 30-40 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วง 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน นอกจากนี้ การไม่ออกกำลังกาย การขาดแคลเซียมและวิตามินดี การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้มวลกระดูกลดลงได้รวดเร็วเช่นกัน

         
             ภาวะกระดูกพรุนนับว่าเป็น “มฤตยูเงียบ”  เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนนั้นจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน อาการของโรคกระดูกพรุนนี้มักค่อยๆเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตเห็น เช่น รู้สึกปวดตามบริเวณเอว หลัง ข้อมือหรือเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่ง ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลงเป็นต้น จะรู้ว่ามีกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว บริเวณที่พบกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย ได้แก่ บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกหลัง และกระดูกสะโพก ซึ่งการหักของกระดูก โยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระดูกสะโพกในคนที่มีภาวะกระดูกพรุนนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ เดินไม่ได้ต้องทนทุกข์ทรมาน และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเราควรที่จะป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น



เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะกระดูกพรุน
                การตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบัน คือการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density-BMD) ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น


ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ BMD (Bone Mineral Density-BMD)
            1. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือ ผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
            2. ผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป
            3. ผู้ชายและผู้หญิงทุกกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยง ดังนี้
                        3.1 กระดูกหักในผู้สูงอายุ
                        3.2 มีบิดาหรือมารดาที่เคยกระดูกสะโพกหัก
                        3.3 คนไข้ที่ได้รับยาเสตียรอยด์เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน
                        3.4 ผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกาย(Body mass index ,BMI) น้อยกว่า 19
            4. คนที่มีโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลงเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
            5. ผู้ป่วยที่แพทย์จะเริ่มให้ยาเพื่อการรักษาภาวะกระดูกพรุน
            6. ผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการติดตามผลการรักษา หลังจากให้ยาเพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุน

ข้อดีของการตรวจ BMD (Bone Mineral Density-BMD)
1. ให้ความถูกต้องแม่นยำสูง ผู้รับการตรวจได้รับปริมาณรังสีน้อย
2. สามารถใช้ตรวจกระดูกได้หลายส่วน รวมทั้งมวลกระดูกทั่วร่างกาย ด้วยคลื่นเอกซเรย์ที่มีความแม่นยำสูง
3. ใช้เวลาในการตรวจรวดเร็วและทราบผลทันที

ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก
            การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกด้วยเทคนิค DEXA ซึ่งเป็นการตรวจที่แพร่หลายที่สุด จะเริ่มด้วยการที่ผู้รับการตรวจจะเปลี่ยนเสื้อผ้าในชุดที่สบาย นำชิ้นส่วนโลหะออกจากร่างกาย(ในกรณีที่ผู้รับการตรวจใส่ข้อมือ สะโพกเทียมจะได้รับการตรวจในข้อสะโพกฝั่งตรงข้ามหรือกรณีใส่เหล็กดามกระดูกสันหลังก็จะได้รับการตรวจในกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ไม่มีเหล็กอยู่) จากนั้นผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะจัดตำแหน่งร่างกายที่เหมาะสมแล้วเริ่มการตรวจด้วยการปล่อยรังสีเอกซ์ พลังงานต่ำ

ข้อห้าม    1. ผู้หญิงตั้งครรภ์
                          2. เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี
                          3. ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการจัดท่าที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ
ฉะนั้นเพื่อป้องกันภาวะกระดูพรุน ควรสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดตั้งแต่วัยเด็ก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารที่ให้แคลเซียมมาก เช่นผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กๆ งาดำ ผักใบเขียว เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักบร็อคโคลี่ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสุขภาพและตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram)
บทความโดย พญ.ศิรพร  พิเนตศิริ  (รังสีแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)


          การตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมมีความละเอียดสามารถช่วยการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ก้อนเล็กยังตรวจคลำไม่พบ สตรีที่มี อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสตรีที่ได้รับยาฮอร์โมนทดแทน


Digital  Mammogram
          การทำแมมโมแกรม เป็นการเอ็กซเรย์เต้านมด้วยเทคนิคพิเศษ โดยใช้แผ่นอุปกรณ์บีบเนื้อเต้านม เพื่อช่วยให้ได้ภาพชัดเจนขึ้น ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสร้างภาพขึ้นด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แทนการใช้ฟิลม์เอ็กซเรย์ เรียกว่า Digital mammogram ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อยลง และได้ภาพคมชัดยิ่งขึ้น ทำให้           แมมโมแกรมสามารถตรวจพบเนื้องอกได้ตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กมากจนคลำจากภายนอกไม่พบ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย Mammogram เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีจุดอ่อน เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงนั้นมีความหนาแน่นและลักษณะที่แตกต่างกันไป สำหรับผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะมีเต้านมแบบ Dense คือ เต้านมขาว ซึ่งอาจมีสิ่งผิดปกติซ่อนเร้น ทำให้การตรวจหานั้นทำได้ยากขึ้น จึงเกิดนวัตกรรมล่าสุด

Digital Brest Tomosynthesis

ซึ่งเป็นการตรวจ
Mammogram ด้วยระบบ 3 มิติ สามารถตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพเนื้อเต้านมออกมาเป็นแผ่นบางๆ ทีละชั้นๆละ 1 mm. ในมุม 15 องศา ในการถ่ายภาพ tomosynthesis    1 ครั้ง จะได้ภาพออกมาครั้งละประมาณ 50 slice ถ่ายภาพทั้งหมด 4 ครั้ง(ข้างละ 2 ครั้ง) เพราะฉะนั้นในการตรวจ แพทย์จะได้ภาพทั้งหมดถึง 200 ภาพ ในระยะห่างกันเพียงภาพละ 1 mm. ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเต้านมที่เคยซ้อนกันอยู่ได้ชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้น แม้ว่าเต้านมจะมีความแน่นและหนาทึบรวมทั้งผู้ป่วยที่ผ่าตัดเสริมเต้านม  จึงสามารถระบุตำแหน่งรอยโรคและความผิดปกติได้ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การถ่ายเพิ่มน้อยลง


          นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีโปรแกรมที่สามารถถ่ายภาพทั้ง 2 มิติ และ3มิติ ใน 1 ครั้ง ทำให้
ผู้ป่วยไม่ต้องถูกกดเต้านมหลายครั้งและลดเวลาการตรวจลง การถ่ายภาพ 2 มิติ 1ครั้งใช้เวลา 4 วินาที การถ่ายภาพรวม 2 และ3มิติ ใน1ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 9 วินาที



          การทำแมมโมแกรมใช้วิธียิงให้ลำแสงเอ็กซเรย์จากด้านหนึ่ง ทะลุเนื้อเต้านมไปตกบนแผ่นรับรังสีที่อยู่อีกด้านหนึ่ง แล้วนำรังสีที่ตกบนแผ่นรับไปสร้างภาพ หากเต้านมแน่นมาก อาจจะบดบังการทะลุผ่านของรังสีได้ แพทย์จึงแนะนำให้ทำควบคู่ไปกับการตรวจอุลตร้าซาวด์เต้านม ที่ใช้วิธีส่งคลื่นเสียงเข้าไปในนม ให้ไปตกกระทบบนเนื้อเต้านมและตัวเนื้องอก แล้วสะท้อนกลับมายังตัวรับคลื่นเสียงที่อยู่ด้านเดียวกันกับตัวส่งคลื่นเสียงออกไป โดยวิธีนี้แม้เนื้อเต้านมจะแน่น ก็ยังสามารถสร้างภาพจากเสียงสะท้อนได้อยู่ จึงทำให้ได้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น


การเตรียมตัวสำหรับตรวจแมมโมแกรม
          1.งดทาเครื่องสำอางหรือแป้งบริเวณต่ำกว่าคอลงมา งดฉีดน้ำหอม ไม่ทาลูกกลิ้งที่รักแร้ และเต้านมทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากสารเหล่านี้จะบดบังรอยโรค และไม่ต้องเตรียมตัวอย่างอื่นใดเพิ่มเติม
          2.เวลาที่เหมาะสมในการตรวจแมมโมแกรมคือช่วง 7 วันหลังจากเริ่มประจำเดือนเพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมน้ำมาก ทำให้ไม่เจ็บหรืออึดอัดเวลาตรวจ แต่ในกรณีมีก้อนหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน    สามารถรับบริการตรวจได้เลย
ผู้หญิงทุกคน ควรได้รับการตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือปีเว้นปีในช่วงอายุ 35-40 ปี หลังจากอายุ 40 ปี ควรตรวจเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะหญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ในครอบครัวหรือญาติด้านมารดา ควรตรวจเป็นประจำ ทุกปีตั้งแต่อายุ 35 ปี   ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่พบมากอันดับ   ที่ 1 ในผู้หญิงทั่วโลก แต่วิวัฒนาการและเครื่องมือทางการแพทย์ก็ล้ำหน้ามากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นไม่ต้องกลัวกับคำว่ามะเร็งเต้านมนะคะ ถ้าเรามาตรวจอย่างสม่ำเสมอ รู้ก่อน รักษาให้หายขาดได้

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...