วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)


 โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder) 

          ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำให้คนเราเกิดความเครียดได้ง่าย และนำมาซึ่งโรคต่างๆทางจิตเวช อย่างเช่นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งพวกเราอาจพอคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว ไม่เหมือนอย่างโรคไบโพล่าร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เกิดจากความเครียดโดยตรง แต่ความเครียดก็เป็นปัจจัยกระตุ้น เหมือนกินน้ำตาลมากในผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมเบาหวาน


          โรคไบโพล่าร์หรือที่เราเรียกว่าโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มีอารมณ์สองขั้วที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน แบบที่หนึ่ง มีพฤติกรรมเศร้า และแบบที่สอง มีอาการพลุ่งพล่านหรือเรียกว่าแบบเมเนีย อารมณ์ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆไป อาจมีอาการแบบแรกคือแบบเศร้าก่อน แล้วสักพักก็จะมีอาการเมเนีย บางคนอาจมีอาการแบบเมเนียก่อน แล้วจึงมีอาการแบบเศร้าขึ้นมา หรืออาจจะสลับกับอาการปกติต่อเนื่องกันไป


 สาเหตุการเกิดโรคไบโพล่าร์ 

        โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่น  จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือมีความเครียดมักเป็นเพียงปัจจัยเสริม


 อาการ 

อาการของโรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางอารมณ์ มีอาการ 2 แบบดังนี้

  1. อาการระยะซึมเศร้า ระยะของอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเบื่อหน่าย อ่อนไหว ซึมเศร้า อยู่ๆก็ร้องไห้ เบื่ออาหาร หลงๆลืมๆขาดความมั่นใจในตนเอง มองสิ่งต่างๆรอบตัวในแง่ลบไปหมด
  2. อาการระยะเมเนีย ระยะนี้จะผิดแปลกจากอารมณ์ที่มีความเศร้าปกติ จะอารมณ์ดี มีความมั่นใจในตนเอง คิดเร็ว ทำเร็ว คล่องแคล่ว มีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผู้ป่วยจะมีความขยันขันแข็ง มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง ต้องทำทุกอย่างไปหมด มีความอดทนน้อยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆหากจะทำอะไรก็จะทำทันที จะแสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อมีใครขัดขวาง ทำให้ไม่พอใจ

 8 สัญญาณเตือนของโรคไบโพล่าร์ 


  1. มีปัญหาในการทำงานให้สำเร็จ คือเมื่ออารมณ์ของผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนแปลง การทำงานให้สำเร็จลุล่วงจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นงานต่างๆที่ยังค้างคายาวเป็นหางว่าวคือหนึ่งในสัญญาณที่กำลังบอกว่าคุณอาจจะเป็นโรคไบโพล่าร์
  2. มีอาการต่างๆของโรคซึมเศร้า เช่น ความอยากอาหารลดลง มีปัญหาเรื่องการนอน ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่มีเรี่ยวแรง
  3. พูดเร็ว จะพูดเร็วขึ้นเมื่อพวกเขารู้สึกตื่นเต้น หรือพูดแทรกคนอื่นและไม่สนใจบทสนทนาของคนรอบข้างและมักเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอยู่บ่อยๆ
  4. หงุดหงิดง่าย ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์มักจะถึงจุดที่มีความหงุดหงิดเริ่มส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์ต่างๆกับคนรอบข้าง
  5. ใช้ยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ทั้งสองอย่างเพื่อช่วยคลายอาการซึมเศร้าระหว่างที่อยู่ในช่วงซึมเศร้า
  6. อารมณ์ดีมากเกินไป(ไฮเปอร์)
  7. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  8. มีพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ ไม่คิดหน้าคิดหลัง เวลาที่ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์อยู่ในช่วงฟุ้งพล่าน เขามักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจึงทำให้มักจะแสดงกิริยาโอ้อวด ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยแสดงออกโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆที่จะตามมาภายหลัง ทำให้ผู้ป่วยทำสิ่งต่างๆที่พวกเขาไม่มีทางทำหากอยู่ในภาวะปกติ



 การรักษา 

         สำหรับการรักษาโรคความผิดปกติ ไบโพล่าร์ แพทย์จะมีการใช้ยาเป็นวิธีหนึ่งในการรักษา โดยจะมีการจ่ายยาไปพร้อมๆกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและจัดการกับปัญหาต่างๆได้มากขึ้น ผู้ป่วยต้องได้รับยาต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งราว 1-2 ปี หากน้อยกว่านี้อาจจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำได้


       ผู้ป่วยไบโพล่าร์ ขอเพียงความเข้าใจ เพราะผู้ป่วยโรคนี้ไม่ใช่อารมณ์ร้ายเพียงเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ใช่คนนิสัยเอาแต่ใจหรือเห็นแก่ตัว แต่เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติจากความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย ฉะนั้นเราต้องเข้าใจ เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมาก

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รู้ไว้ก่อนวิ่ง!!!


 รู้ไว้ก่อนวิ่ง!!! 

             ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคนเริ่มหันมาสนใจสุขภาพขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกินคลีน การออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดในตอนนี้ คือ เทรนด์การวิ่งที่คนทุกเพศ ทุกวัย เริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ทั้งการวิ่งช้าวิ่งเร็ว ซึ่งจะเห็นได้จากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการวิ่งทั้งการแข่งขันวิ่ง หรือแม้กระทั่งการวิ่งเพื่อการกุศล เนื่องด้วยในระยะการวิ่งที่ไม่ไกลและไม่น้อยจนเกินไป คือระยะ 10.5 กิโลเมตร หรือที่เราเรียกกันว่า มินิมาราธอน เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่นักวิ่งสายสุขภาพนิยมกันมาก เพราะเป็นระยะทางพอเหมาะสำหรับการออกกำลังกาย  ในการวิ่งนั้นเราต้องมีความเตรียมพร้อมร่างกายก่อน ซึ่งหากเตรียมตัวไม่ถูกวิธีก็สามารถสร้างอันตรายแก่ร่างกายแทนที่จะพัฒนาให้แข็งแรงกว่าเดิม


 “10 วิธีการเตรียมตัวก่อนการวิ่ง รวมถึงการปฏิบัติที่ถูกวิธีสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่” 

  1. ในการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมควรเริ่มจากน้อยๆก่อน เช่นวิ่งหรือเดินต่อเนื่องประมาณ 10 นาที ในสัปดาห์แรก และค่อยๆพัฒนาให้ใช้เวลามากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งควรจะใช้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
  2. ในแต่ละช่วงอายุจะมีการเตรียมตัวต่างกันออกไป ในวัยรุ่นสามารถเตรียมตัวซ้อมได้หนักมากกว่า ส่วนผู้สูงอายุที่อยากลองวิ่งเป็นครั้งแรกและยังเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ ควรเริ่มจากระยะน้อยๆก่อน เช่นระยะ 3-5 กม. เพื่อเป็นการฝึกตัวเอง ก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะ 10 กม.ต่อไป
  3. เมื่อจะเริ่มวิ่ง ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วง 2 ชั่วโมง ก่อนการวิ่ง และควรดื่มน้ำสะอาดก่อนการวิ่ง 30 นาที จำนวน 1-2 แก้ว หรือประมาณ 100-200 ซีซี
  4. เราสามารถประเมินความพร้อมเบื้องต้นก่อนเข้าร่วมวิ่งมินิมาราธอน หรือการวิ่งมาราธอนอื่นๆ ได้ด้วยวิธี” Talk Test” โดยการให้ออกกำลังกายไประยะหนึ่ง แล้วลองพูดคุยดูว่ายังสามารถพูดรู้เรื่องหรือพูดออกมาเป็นประโยคได้หรือไม่ หากยังพูดรู้เรื่องอยู่สามารถเพิ่มความหนักการฝึกซ้อมได้ หากพูดได้แค่คำ ก็แสดงว่าออกกำลังกายหนักไป
  5. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หากอยากวิ่งควรไปพบแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินว่าสภาพร่างกายเรานั้นพร้อมสำหรับการวิ่งหรือไม่ และเพื่อดูว่าร่างกายเรานั้นไหวสำหรับระยะทางเท่าใด
  6. การแต่งตัวสำหรับมือใหม่หัดวิ่งนั้น ควรดูที่ปัจจัยทางการเงินของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองมาก ก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยควรเป็นชุดที่ใส่คล่องตัว ส่วนรองเท้าอาจใส่เป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ แต่สำหรับใช้ในการวิ่งระยะยาวนั้นไม่แนะนำ เพราะอาจเกิดปัญหาด้านร่างกาย
  7. สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ ควรจะตั้งเป้าฝึกซ้อมจากน้อยๆก่อน เช่นตั้งเป้าวิ่งระยะ 10 กม. ก็ควรฝึกซ้อมเริ่มจาก 500 เมตร- 1กิโลเมตร และค่อยๆเพิ่มจำนวนไปทีละขั้น ไม่ควรเพิ่มระยะทางการฝึกซ้อมเร็วเกินไป ซึ่งในแต่ละระยะทางการวิ่ง ก็จะมีการเตรียมตัวที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่โปรแกรมการฝึกซ้อมที่แต้ละบุคคลตั้งขึ้น
  8. นักวิ่งหน้าใหม่ หากลงวิ่งสนามจริงแล้วรู้ตัวว่าไม่ไหวจริงๆก็ไม่ควรฝืนวิ่งต่อ และควรพบเจ้าหน้าที่ประจำจุด อีกทั้งการออกจากการแข่งขันก่อนถึงเส้นชัยก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
  9. ในระยะทางที่เพิ่มขึ้นมาจากการซ้อม มากกว่า 6 กิโลเมตร นั้นสามารถสร้างอันตรายให้แก่นักวิ่งได้ โดยต้องมองว่าระยะทางที่เพิ่มขึ้นมานั้น ไม่ใช่ใกล้ๆ อาจทำให้เกิดตะคริวและอาการบาดเจ็บสูง เนื่องจากเหนื่อยเพราะเกินขีดความสามารถของตนเอง
  10. ก่อนการวิ่งควรจะมีการวอร์มอัพ-คลูดาวน์ โดยสามารถวอร์มอัพร่างกายได้โดยการอบอุ่นร่างกายก่อนลงวิ่งจริงประมาณ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อการทำกิจกรรม และควรยืดกล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง และหลังจากวิ่งเสร็จควรทำคลูดาวน์ เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกลับสู่สภาวะปกติของร่างกาย ซึ่งสามารถทำได้โดยการลดความเร็ว การวิ่งให้ช้าลง หรืออาจจะวิ่งเหยาะๆ 10-15 นาที พร้อมด้วยเหยียดมัดกล้ามเนื้อ


ในการวิ่งมินิฮาล์ฟ มาราธอน และการวิ่งมาราธอนประเภทอื่นๆจะช่วยในการเสริมสร้างร่างกาย ระบบไหลเวียนโลหิตรวมไปถึงระบบหายใจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น โดยการวิ่งเป็นกีฬาที่ออกกำลังกายได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ อีกทั้งการวิ่งยังเป็นพื้นฐานของกีฬาทุกชนิดที่ต้องมีการเคลื่อนไหวทางด้านร่างกาย เช่น ปิงปอง ยิงปืน ปาเป้า ก็ต้องใช้ทักษะการวิ่งเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น


โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...