วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS - Irritable bowel syndrome)

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS - Irritable bowel syndrome)

        
เป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด



          ภาวะลำไส้แปรปรวนเป็นภาวะที่มีความผิดปกติในการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายบ่อย โดยผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้องร่วมกับมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไป โดยอาจจะมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย ซึ่งอาการปวดท้องมักจะปวดบีบเกร็งบริเวณท้องน้อยด้านล่าง โดยเฉพาะด้านซ้ายและอาการมักจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระร่วมกับอาจมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุจจาระ เช่นถ่ายเป็นน้ำหรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง โดยไม่ควรมีสัญญาณอันตราย ได้แก่ น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ มีไข้หรือคลำก้อนในท้องได้

สาเหตุ

    แม้จะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยแต่ปัจจุบันก็ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
1. การบีบตัวของลำไส้ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ และมักจะตอบสนองไวต่อ
ความเครียด

2. การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อย คือ อาหาร หรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น คาเฟอีน, ความเครียด การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึ่งจะทำให้มีการบีบตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลงไปแล้วก่อให้เกิดอาการ

3. อาจเกิดจากร่างกายสร้างสารต้านการติดเชื้อของลำไส้ เพราะในผู้ป่วยบางราย พบเกิดโรคนี้ตามมาภายหลังมีการอักเสบติดเชื้อของลำไส้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจาการติดเชื้อทำลายเยื่อบุลำไส้มีผลต่อเส้นประสาทที่ลำไส้เกิดความไวต่อสิ่งกระตุ้น

4. ภาวะจิตใจ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภาวะวิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น



อาการ

          โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นอาการต่างๆจึงมักเป็นๆหายๆ บางครั้งอาการอาจดีขึ้น ไม่มีอาการเป็นหลายๆเดือนแล้วกลับมามีอาการใหม่อีก โดยอาการพบบ่อยของโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่
1. ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม มากในท้อง
2. ปวดท้องซึ่งอาการปวดท้องจะดีขึ้นหลังการขับถ่าย หลังจากนั้นก็กลับมาปวดท้องใหม่
3. ท้องผูก หรือ ท้องเสีย หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย เป็นๆหายๆ  แต่ไม่มีเลือดปน
4. มีอาการคล้ายอุจจาระไม่หมด, ไม่สุด
5. กลั้นอุจจาระไม่อยู่ เมื่อปวดอุจจาระต้องเข้าห้องน้ำทันที

          อาการของโรคมักรุนแรงขึ้นเมื่อกินอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น นม กาแฟ   เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารมัน กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก หรือผัก ผลไม้บางชนิด ช่วงมีประจำเดือน หรือช่วงมีความเครียด แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคลซึ่งควรต้องสังเกตด้วยตนเอง


การรักษา




          แนวทางการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่การรักษาตามอาการ เช่น กินยาแก้ท้องเสีย   เมื่อท้องเสียบ่อย ใช้ยาแก้ท้องผูกเมื่อท้องผูก ยาคลายเครียด ยาลดการบีบตัวของลำไส้ ยาอื่นๆด้านจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการเครียด และการปรึกษา โภชนากรเพื่อปรับเปลี่ยนประเภท ปริมาณ และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร    


          โรคลำไส้แปรปรวนยังเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การป้องกันจึงเป็นไปได้ยาก วิธีที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และการเข้าใจโรค เพื่อรักษาสุขภาพจิต ผ่อนคลายความเครียด และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีโรคอื่นเข้ามาแทรก เช่น มีไข้สูง อุจจาระเป็นเลือด  ซีด หรือมีอาการปวดท้องผิดไปจากเดิมที่เคยเป็น ควรให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆของระบบทางเดินอาหารออกไป เช่น ลำไส้อักเสบ หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยและสบายใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...