นพ.กรกฤต สุวรรณธีรางกูร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
ภาวะตาบอดสี
เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในประชากรไทย พบได้ประมาณ 8%
ของประชากร แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เป็นตั้งแต่กำเนิด (congenital
color vision defects) และกลุ่มที่เป็นภายหลัง (acquired color vision defects) ซึ่งมักพบกลุ่มแรก
คือกลุ่มที่เป็นตั้งแต่กำเนิดบ่อยกว่ากลุ่มที่เป็นภายหลัง เมื่อพิจารณาในกลุ่มที่เป็นตั้งแต่เกิด
กลุ่มย่อยที่พบได้บ่อยที่สุด คือ กลุ่มที่บอดสีเขียว-แดง ซึ่งพบได้ประมาณ 5-8% ในผู้ชาย และพบเพียง 0.5%
ในผู้หญิง
ความผิดปกติแบ่งเป็น
2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ตาทั้ง 2 ข้างจะมีอาการมองเห็นสีผิดปกติเหมือนกัน คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้ที่สามารถเห็นสีได้ปกติ จะต้องมีเซลล์รับแสงสีที่จอประสาทตาครบทั้ง 3 สี คือ
แดง เขียว และน้ำเงิน และมีปริมาณเม็ดสีในเซลล์ที่ปกติ
รวมทั้งระบบประสาทตาและการแปลผลที่เป็นปกติด้วย โดยทั่วไป
ภาวะมองเห็นสีผิดไปจากปกติจะพบในผู้ชายประมาณร้อยละ 8 ผู้หญิง ร้อยละ 0.4
การที่พบโรคนี้ในผู้ชายมาก ทั้งนี้เพราะ ความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง
ซึ่ง ถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม x และ มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ x - link
recessive จากแม่ไปสู่บุตรชาย (ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าการให้กำเนิดบุตรเป็นชาย
บุตรชายนั้นจะต้องได้รับ โครโมโซม "x"จากแม่และโครโมโซม
"y"จากพ่อ รวมกันเป็นเพศชาย คือ เป็นโครโมโซม "xy" หากเป็น
โครโมโซม x จากแม่เป็นตัวที่มีตาบอดสีอยู่ บุตรชายที่เกิดมาจะแสดงถึงภาวะ ตาบอดสี
ส่วนบุตรสาวจะมีโครโมโซม "x" ทั้งจากพ่อและแม่รวมกันเป็น "xx"
หาก x จากแม่ผิดปกติจะถูกข่มโดย "x" โครโมโซมของพ่อ
ดังนั้นในบุตรสาวที่มีความผิดปกติในโครโมโซม x จากแม่ตัวเดียวส่วนของพ่อนั้นปกติ
จะไม่มีอาการตาบอดสีปรากฎ) ผู้ป่วยมักมีการรับรู้สีเขียวหรือแดงผิดไป แยกสีเขียวกับแดงได้ลำบาก
ส่วนความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีน้ำเงินนั้นถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซมคูที่ 7 จึงมีการถ่ายทอดแบบ autosomal dominant ซึ่งจะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อย
2. กลุ่มทีมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เกิดจากการถูกทำลายของจอประสาทตา
เส้นประสาทตา
หรือส่วนรับรู้ในสมอง จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุ
เนื้องอกการเสื่อมลงของจอประสาทตา
หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรียกชื่อสีหรือเห็นสีผิดไปจากเดิม
โดยมากพบความผิดปกติของการมองสีน้ำเงินเหลืองมากกว่าแดงเขียว
ความผิดปกติของตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง
2 ตา มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือลดลงได้ รวมทั้งมีความผิดปกติของสายตาด้านอื่น ๆ
เช่น การมองเห็นและลานสายตาลดลงได้
ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ตรวจและวินิจฉัยโดย จักษุแพทย์จะซักประวัติ อาการผู้ป่วยร่วมกับการตรวจการรับรู้ของสี และตรวจตา
เพื่อหาสาเหตุแผนการรักษา การตรวจอาจใช้เครื่องมือช่วยการตรวจหลายอย่าง เช่น ให้อ่านสมุดภาพ Ishihara,
ให้ทดสอบเรียงเม็ดสีตามแบบที่กำหนดไว้
การดูแลรักษาตนเองเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว
หากเป็นแบบที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด
ยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล ส่วนประเภทที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อจอประสาทและเส้นประสาทตา
เมื่อเกิดอาการมองเห็นสีผิดปกติไปให้รีบมารับการตรวจรักษา อาจป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติถาวรได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น