วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การกลับมาของวัณโรคและการอุบัติของ XDR-TB


 นพ.อุทัย เจษฎาพร  อายุรแพทย์

          วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่มีในโลกนี้ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์  ในอดีตนั้น เมืองเชียงใหม่ก็สามารถพบโรคนี้ได้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน  ดังปรากฏให้เห็นได้ในพระราชหัตถเลขาข
องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งมาทรงงานในฐานะแพทย์ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิคของเรา เมื่อปี พ..2472 ความตอนหนึ่งว่า “TB มีมากเต็มที และไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่มีโรงพยาบาลพิเศษหรือ sanatorium สำหรับรักษารายที่ไม่หนักนัก การเรื่อง T.B.นี้ทำให้ฉันสนใจมากอยากให้มี Anti T.B.Society”

          วัณโรคได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมาก จนกระทั่งได้มีการค้นพบยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงรักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ เมื่อก่อนนั้นเรารักษาวัณโรคต้องฉีดยาในระยะต้นๆ และรับประทานยาพร้อมๆกันไปด้วยรวมทั้งสิ้นใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต่อมาก็มียาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรับประทานแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องฉีดยาก็ได้รวมระยะเวลาทั้งสิ้นแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง ก็สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้  ทำให้มีการคาดกันว่าโรคนี้น่าจะหมดไปในระยะเวลาไม่นานนัก  แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  เรากลับพบว่าวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงสำหรับมนุษยชาตินี้มิได้หายไปจากโลกนี้ กลับเพิ่มทวีขึ้น  และมีการดื้อต่อยาที่รักษา  เราเรียกว่าวัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB) และสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดขณะนี้พบว่า มีการบังเกิดของวัณโรคพันธุ์ใหม่ที่ร้ายกว่าเดิมคือ XDR-TB (วัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง)


            ก่อนอื่นเรามาทบทวนความจำกันสักนิดว่าวัณโรคนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการไอหรือการจาม เริ่มมีอาการด้วยไข้ต่ำๆ ซึ่งมักเป็นตอนบ่าย เหงื่อออกเวลากลางคืน ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ และอาจมีเลือดปน หรือไอออกเลือดสดๆก็ได้  มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดจนผอมแห้ง  โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียที่ทนต่ออากาศแห้ง แถมอยู่ในอากาศได้นาน  วัณโรคอาจเป็นกับอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หรือผิวหนัง แต่เรามักพบที่ปอดมากกว่าที่อื่นๆ การกลับมาของวัณโรคครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า วัณโรคเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข เป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุการตายในหลายๆประเทศในโลกนี้ สำหรับประเทศไทยในการจัดอันดับของความชุกของวัณโรคพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 17 และเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่วัณโรคเป็นปัญหารุนแรง เพราะเมื่อปี พ..2550 มีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 50,000 ราย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 91,000 รายทีเดียว

           เมื่อเรามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัณโรคแล้ว ต่อไปให้เรารู้จักกับวัณโรคพันธุ์ดื้อยา วัณโรคพันธุ์ที่ดื้อยาร้ายแรงต่อไป วัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB = Multidrug Resistant TB) คือ สายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ตัวหลักของ first-line TB drugs คือ Isoniazid และ rifampicin (first-line TB drugs มี Isoniazid, refampicin, ethambutol, pyrazinamide และยาเสริม first-line อีกคือ streptomycin, rifabutin และ rifapentine)  ส่วนวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง (XDR-TB, extensive drug Resistant TB, หรือ Extreme Drug Resistant TB) คือ MDR-TB ที่ดื้อต่อยา 3 ตัวหรือมากกว่าใน 6 ตัวหลักของ second-line TB drugs (quinolones, capreomycin, amikacin, ethionamide, PAS และcyclocerine)  ตามรายงานของ WHO และ CDC ปี 2000-2004 พบว่ามี XDR-TB ในทุกๆภูมิภาคของโลก แต่พบมากในประเทศที่เคยเป็นบริวารเก่าของอดีตสหภาพโซเวียตและเอเซีย  ในอเมริกาพบ 4% ของ MDR-TB  ประเทศลัตเวียพบถึง 19% ของ MDR-TB สำหรับเมืองไทยเราพบวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรงนี้ไหมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ถึงเดือนมิถุนายน 2550 ยังไม่พบว่ามี XDR-TB ในเมืองไทย แต่ที่โรงพยาบาลศิริราชได้พบว่าตัวอย่างเชื้อ MDR-TB 13 ราย ที่เก็บไว้ที่ธนาคารเชื้อวัณโรคของโรงพยาบาลศิริราชน่าจะเป็น XDR-TB ซึ่งเชื้อบางรายเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2544 ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีผู้ป่วย XDR-TB ในเมืองไทย

           อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มี XDR-TB
  1.     การให้ยาที่ไม่ถูกชนิดหรือถูกขนาด โดยแพทย์หรือผู้ให้การรักษาอื่นๆ
  2.     ยาคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือการขนส่งยาที่ไม่ถูกต้อง
  3.     ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
           สำหรับประเทศไทยนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญที่ทำให้มีเชื้อระบาดและดื้อยาคือ เชื้อจากแรงงานผิดกฎหมาย และการระบาดของโรคเอดส์

           โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้ประกาศให้มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเราคาดหวังว่าเราจะดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานสากลตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเข้ามารับการบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน การชันสูตรโรคที่ได้มาตรฐาน การให้ยาที่มีคุณภาพ ตลอดจนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เราก็สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยนั้นๆ ให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานของประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อวัณโรคและป้องกันการเกิดเชื้อที่ดื้อต่อยา คือ MDR-TB และที่ร้ายแรงที่สุดคือ XDR-TB








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...