วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กรดยูริกสูง สำคัญหรือไม่?


นพ.ทินกร  สถิรแพทย์  ศัลยแพทย์

        กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ โดยมีต้นกำเนิดจากการสลายของเซลล์ คือ DNA และ RNA กลายเป็นกรดยูริก  เมื่อร่างกายไม่มีการสร้างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ใหม่ มีแต่การสลายของเซลล์ออกมาก เช่น ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงเกิดกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย และไม่พบปัญหานี้ในเด็กหรือในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโต ร่างกายต้องการกรดยูริกในการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่

         ดังนั้น อาหารที่มีเซลล์มากได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ และหนังสัตว์ จะให้กรดยูริกมากกว่าส่วนอื่นของสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ ดังนั้นการรับประทานสัตว์ปีกเช่นเนื้อไก่โดยไม่รับประทานหนังไก่ จะไม่เพิ่มกรดยูริกในเลือดมากนัก ตรงกันข้ามกับหนังไก่ หนังเป็ด ซึ่งอุดมไปด้วยกรดยูริกและคอเลสเตอรอล

         เมื่อเราตรวจร่างกายประจำปีและพบว่า กรดยูริกในเลือดสูง คือ มากกว่า 7 มก.ต่อ ดล. และไม่มีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก แพทย์ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้การรักษา เพียงแต่ให้ระวังการรับประทานอาหารดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นความรู้ในอดีต



                                                   

         น้ำตาลฟรุคโตส หรือ ซูโครส เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจำเป็นต้องสลายน้ำตาลฟรุคโตสโดยการใช้ ATP และ ATP จะถูกเปลี่ยนเป็น ADP ซึ่งโดยปกติ ADP จะถูกนำไปสร้างเป็น ATP ใหม่ แต่การมีน้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากเกินไปจะไปขัดขวางการสร้าง ATP จึงถูกสลายเป็นกรดยูริก จะเห็นได้ว่ากรดยูริกนี้เกิดจากการสลายของ ATP ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในเซลล์ ทำให้เซลล์อ่อนแอและแก่เร็ว และยังเพิ่มกรดยูริกในเลือดด้วย

            การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลฟรุคโตสมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และโรคเบาหวาน กอปรกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจด้านซ้ายทำงานหนักและเกิดหัวใจโต และมีความเสี่ยงสูงที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายได้ง่าย

         ปัจจุบันเมื่อพบว่ากรดยูริกในเลือดสูง จึงแนะนำให้รับการรักษาด้วยยาเพื่อลดกรดยูริกทันทีที่ตรวจพบ ร่วมกับการจำกัดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ และหนังสัตว์ โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดข้อ และจำกัดการรับประทานน้ำตาลฟรุคโตสที่อยู่ในรูปของน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และน้ำตาลทราย

         เมื่อปฏิบัติตามเช่นนี้ ก็ควรตรวจเช็คเลือดหากรดยูริกในอีก  3 เดือนถัดมา ซึ่งก็จะมั่นใจได้ว่าค่ากรดยูริกจะกลับมาเป็นปกติ และโอกาสที่เราจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจก็ลดน้อยลงมาก

         สรุปได้ว่า กรดยูริกในเลือดมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่าที่เราทราบ เพราะมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง และในอนาคตอาจจะทราบผลเสียของกรดยูริกสูงมากกว่านี้อีก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...