วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก


                                                                         บทความโดย  พ.ท.นพ. อัศวิน แก้วเนตรศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)

          มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้ในผู้ชายโดยเฉพาะผู้ชายสูงวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา เป็นมะเร็งที่พัฒนาในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มักเป็นมะเร็งที่ซ่อนเร้น ไม่ปรากฎอาการในระยะแรกๆ   มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุ มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด ตามสถิติจากสถาบันมะเร็งของสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ชายมีการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและ 1 ใน 35 เสียชีวิตจากโรคนี้
          แต่พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พัฒนาตัวช้ากว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งแปลว่า หากมีการตรวจพบก่อน และ รักษาในช่วงแรกๆ โอกาสการเสียชีวิตก็จะน้อยลง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. อายุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมากในผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี แต่จะพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนทั่วไป
  3. เชื้อชาติ  พบไม่บ่อยในชาวเอเชียแต่พบมากในอเมริกา
  4. อาหารที่มีไขมันสูง     เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนผักและผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  5. ผู้ที่สูบบุหรี่    มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก


อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ แต่หากมีอาการผู้ป่วยมักจะแสดงอาการคล้ายกับอาการโรคต่อมลูกหมากโต เช่น               
1 .ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
          2.ปัสสาวะลำบากและเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
          3.ปัสสาวะไม่พุ่ง
          4.อวัยวะเพศแข็งตัวยาก
          5.เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด
          6.มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ , น้ำอสุจิ

           อาการต่างๆเหล่านี้อาจจะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ


การวินิจฉัย

  1. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญ คือ การตรวจ PSA ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่า PSA ได้โดยการเจาะเลือด ในคนปกติค่า PSA จะอยู่ในระดับ 0-4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ค่านี้อาจสูงขึ้นตามอายุ หรือ ขนาดของต่อมลูกหมาก
  2. การตรวจU/S(อัลตราซาวด์)ของต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงโดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจประเมินต่อมลูกหมาก
  3. การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมาก โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก  หากเป็นมะเร็งอาจคลำได้ก้อนแข็ง การคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเป็นการตรวจประเมินร่วมกับค่า PSA
  4. การตัดชิ้นเนื้อ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัยและมีค่า PSA สูงขึ้นเมื่อติดตามเป็นระยะ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่า เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก ขณะที่ทำการตรวจต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก

ระยะของโรค

          ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็ก อยู่ในต่อมลูกหมาก การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
          ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือลุกลามไปกระดูกและอวัยวะอื่นๆ

การรักษา

  1. การผ่าตัด  การผ่าตัดเป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกๆ ที่ดีที่สุดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆสามารถหายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดก็จะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วย     แพทย์จะใช้ดุลยพินิจในการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ผลเสียของการผ่าตัดต่อมลูกหมากคือ อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด และบางราย การควบคุมการปัสสาวะจะเสียไป
  2. การฉายรังสี   การรักษาโดยการฉายรังสีนั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย เช่น ในรายผู้ป่วยสูงอายุ หรือในรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจซึ่งไม่เหมาะสมที่จะรักษาโดยการผ่าตัด หรือฮอร์โมน
  3. การรักษาโดยฮอร์โมน เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะที่ 3-4 หรือมีการกระจายไปแล้วนั้น เนื่องจากต่อมลูกหมากโดยปกติเจริญเติบโตอาศัยฮอร์โมนเพศชาย เช่น testosterone มะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกัน เมื่อเอาแหล่งต้นตอของฮอร์โมนเพศชายออก ก็จะช่วยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ไม่โตขึ้นอีก ซึ่งสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2ข้าง หรือใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย การรักษาด้วยฮอร์โมนนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย หรือในรายที่กลับมาเป็นอีก หลังจากรับการรักษาด้วยการฉายแสงแล้ว
วิธีการฟื้นฟูร่างกายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. ดูแลด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยผู้ป่วยลดความอึดอัดใจและคลายความวิตกกังวล ให้กำลังใจผู้ป่วย
  2. ดูแลทางด้านโภชนาการและลำไส้ เพื่อลดอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ควรจัดให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย รับประทานผักและผลไม้ที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำมากๆ ห้ามทานของเผ็ดหรือมีรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก
  3. ติดตามพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อดูค่า PSA และประเมินผลแทรกซ้อนอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...