โดย พญ.สิดาพัณณ์ ยุตบุตร กุมารแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มคอคซากี
(Coxakie) และเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก
ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปากมีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า
และลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
และลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
การติดต่อของโรคมือเท้าปากเปื่อยส่วนใหญ่
เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง
โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วยโดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ
หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล
หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการไอ จามรดกัน
โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลา
หรือหายป่วยแล้ว ประมาณ 1 เดือน จะพบเชื้อในอุจจาระได้
แต่การติดต่อระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า และโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
มือผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่
สถานที่รับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก
เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ
อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆได้
แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย
จะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม
ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและ ฝ่าเท้า
ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย
โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ
โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมอง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วม เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
การควบคุมโรค มือเท้าปากเปื่อย
สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ
และส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์
เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอรวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็ก ให้ถูกต้องด้วย
หากพบเด็กป่วย
ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ
ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน
หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่นสนามเด็กเล่น
สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า ผู้เลี้ยงเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก
น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
สิ่งที่สำคัญที่สุด
คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ
หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น