วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรคกรดไหลย้อน (GERD)

โรคกรดไหลย้อน (GERD)




         โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือแสบหน้าอก บางครั้งอาจจะรู้สึกรสเปรี้ยว
        การเกิดโรค กรดไหลย้อน นั้น เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วกรดจะไม่สามารถขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารได้ ยกเว้นในช่วงที่กลืนอาหาร หรือช่วงที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ


ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

1. ดื่มสุราเป็นประจำ
2. อ้วน เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้กรดไหลย้อนมาก
3. การรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เผ็ด อาหารมักดอง อาหารมันอาหารทอด เพราะจะยิ่งเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร
4. ทานอาหารมากจนอิ่มเกินไป
5. คนที่มักมีอาการเครียด




อาการของกรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1. อาการที่เกิดในหลอดอาหาร   จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถวๆหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย
   ที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้

2. อาการนอกหลอดอาหาร   จะมีเสียงแหบเรื้อรังมักมีเสียงแหบตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่นหอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก “โรคกรดไหลย้อน” คุกคาม





การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?
การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดอาการเป็นหลัก

1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

         -พฤติกรรมบริโภค
* ไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
* หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อดอาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
* หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
* หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบหรี่

          -พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
* ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
* รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
* ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
* พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
* สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น

2) การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้รักษาแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
2.1 ยาที่ลดฤทธิ์ความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้กรดที่ย้อนขึ้นในหลอดอาหารมีฤทธิ์ลดตามไปด้วย ได้แก่
- ยากลุ่ม Antacids เช่นยา Antacil gel, Belcid และ Maalox เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก
- ยากลุ่ม Algynic acid เช่นยา Algycon และ Gaviscon เป็นต้น
2.2 ยาที่ลดการหลั่งของกรดกระเพาะ ได้แก่
- Histamine blocker เช่นยา Ranitidine
- Proton pump inhibitor ซึ่งเป็นยาที่ลดกรดได้เป็นอย่างดีและออกฤทธิ์นาน จึงทำให้สามารถลดอาการได้ดีที่สุด ซึ่งอาจจะใช้เวลารักษา 1-3 เดือน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็อาจจะลดยาลงได้   ยาที่นิยมใช้ได้แก่ Omeprazole, lansoprazole  pantoprazole, rabeprazole และ esomeprazole
* หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก หรือทำให้หูรูดหย่อน เช่น ยาแก้ปวด Aspirin NSAID VITAMIN C
* หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรจะต้องตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การส่องกล้องตรวจกระเพาะ หรือ การกลืนแป้งตรวจกระเพาะ

3) การรักษาโดยการผ่าตัด
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด

          แม้จะมีวิธีการรักษากรดไหลย้อน หรือรู้วิธีช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนแล้วก็ตาม แต่หากยังคงปฏิบัติหรือใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง กรดไหลย้อนก็จะยังคงย้อนวนเวียนกลับมาเหมือนเดิมนั่นเอง ฉะนั้น

“เพื่อสุขภาพ

ปรับพฤติกรรม

ใช้ยาถูกต้อง

ป้องกันโรคกรดไหลย้อน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...