วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  (Erectile Dysfunction)
โดย นพ.สุทธิพันธ์  วงศ์วนากุล      ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค



      ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือที่เราเรียกกันว่า นกเขาไม่ขัน ที่จริงแล้วมีภาวะอันตรายบางอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพซ้อนเร้นอยู่ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เรื่องความสุขทางเพศหรือปัญหาครอบครัวเพียงอย่างเดียว


    ภาวะหย่อนสภาพทางเพศนั้นคือภาวะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ไม่เต็มที่หรือไม่นานเพียงพอหรืออาจไม่แข็งตัวเลยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและส่งผลถึงความพึงพอใจในเรื่องของความสุขกับคู่นอน ผู้ป่วยที่มีโอกาสเป็นภาวะหย่อนสภาพนั้นพบได้ตั้งแต่วัยรุ่น แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปโดยยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น

      ปกติอวัยวะเพศจะแข็งตัวได้ก็ต่อเมื่อได้รับการกระตุ้นทางเพศ เช่น จินตนาการ รูปภาพ การสัมผัสเป็นต้น หรือแข็งตัวได้จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายในช่วงเวลาหลับตอนกลางคืนและตื่นนอนตอนเช้า โดยอวัยวะเพศนั้นต้องมีความสมบูรณ์ ระบบเส้นเลือด ระบบประสาทและระบบฮอร์โมนต้องอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นความผิดปกติของระบบใดระบบหนึ่งจึงส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้


       โดยส่วนใหญ่สาเหตุของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น แบ่งได้ เป็น 2 อย่าง คือ


1.ความผิดปกติของร่างกาย

2.ความผิดปกติของจิตใจ


ซึ่งมักพบทั้ง 2 อย่างร่วมกันในผู้ที่มีภาวะนี้ ดังนั้นการตรวจรักษาและประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งสาเหตุบางอย่างไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถรถหายจากภาวะนี้ได้ เช่น การปรับการใช้ยากลุ่ม ยาโรคจิตประสาท ยาคลายเครียด ยาลดความดันบางชนิด (Thiazide) ซึ่งส่งผลต่อภาวะหย่อนสภาพทางเพศ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การลดความเครียดจากการทำงาน  ลดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็ทำให้สรรกภาพ ทางเพศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

      ภาวะหย่อนสภาพทางเพศที่มีสาเหตุ จากความผิดปกติด้านจิตใจ เช่น ประสบการณ์ทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ มีความเข้าใจที่ผิดต่อเรื่องทางเพศ ผู้ป่วยประเภทนี้จะยังมีอวัยวะเพศแข็งตัวช่วงหลับตอนกลางคืนและตื่นนอนตอนเช้าได้อยู่ แต่ไม่สามารถแข็งตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยจิตแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะคติบางอย่างให้ดีขึ้น 

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากโรคระบบหลอดเลือด ระบบประสาทหรือความสมบูรณ์ของอวัยวะเพศนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องโรคประจำตัวอยู่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ประวัติอุบัติเหตุไขสันหลัง โรคต่อมลูกหมากโต เคยผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อนเป็นต้น ผู้ป่วยประเภทนี้ตอนนอนหลับกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้าอวัยวะเพศจะไม่แข็งตัว อาการมักค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการสืบหาสาเหตุหรือโรคร่วมที่มักแฝงอยู่ดังที่กล่าวแล้วทำการรักษาที่สาเหตุนั้น ควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะปกติ ก็จะทำให้ภาวะหย่อนสภาพทางเพศดีขึ้น


การรักษาวิธีอื่นนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคุมโรคประจำตัวแล้ว
ยังมีอีกหลายวิธี เช่น
1.การรับประทานยาในกลุ่ม PDE5 inhibitor เช่น Sildenafil (Viagra) ,Vardenafil (Levitra),Tadalafil (Cialis) ซึ่งเป็นยาอันตราย มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จำเป็นต้องสั่งโดยแพทย์ เพราะยามีผลต่อการทำงานของหัวใจ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงของหัวใจ ว่าสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้หรือไม่เสมอ และต้องไม่ใช้ร่วมกับยากลุ่ม Nitrate ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเช่นกัน 
2.ยาประเภทฉีดเข้าอวัยวะเพศโดยตรง
3.ยาชนิดใส่เข้าทางท่อปัสสาวะ
4.ยาอมใต้ลิ้น
5.ยาฮอร์โมนทดแทนในรายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
6.การใช้กระบอกสูญญากาศ (Vacuum devices) และสุดท้ายคือวิธีการผ่าตัดฝังแกนเทียม (Prosthesis) และการผ่าตัดหลอดเลือดในกรณีที่การรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล


เพื่อความสุขของชีวิตครอบครัว และสุขภาพของผู้ชาย จึงจำเป็นต้องดูแลและป้องกันก่อนที่จะมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดขึ้น โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ งดสุรา บุหรี่,ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ, ลดความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อหาภาวะผิดปกติหรือโรคบางอย่างที่ไม่แสดงอาการในตอนเริ่มต้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เพียงเท่านี้สุขภาพกายและสุขภาพน้องชายก็จะแข็งแรงไปอีกนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...