ในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากขึ้นรวมทั้งมีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับนักเรียน อุดมศึกษา ประชาชนทั่วไปและระดับชาติ ผลจากการแข่งขันประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาในแง่ต่างๆมากมายทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุและเกิดจากการฝึกซ้อมมากเกินไปหรือแม้แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการปฐมพยาบาลทำให้นักกีฬาผู้นั้นมีประสิทธิภาพลดลง เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่เกิดเป็นโรคเรื้อรังประจำตัวทำให้เล่นกีฬาไม่ได้หรือแม้แต่จะออกกำลังกายก็ยังทำไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก
การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และมีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ขาดความระมัดระวังก็อาจเกิดการบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นการมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจะช่วยให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้นและสามารถกลับไปเล่นกีฬานั้นๆได้อีกด้วยความปลอดภัย
ปัญหาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือกีฬาเพื่อการแข่งขันมีสาเหตุหลักจากความไม่พร้อมของกล้ามเนื้อก่อนการใช้งานซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามีหลายสาเหตุได้แก่
1. โครงสร้างที่ผิดปกติของร่างกายของนักกีฬา
2. การขาดทักษะการใช้งานที่ถูกต้อง เช่น การใช้งานของกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กับท่าทางที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆการขาดทักษะในการเคลื่อนไหวที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งต้องอาศัยหลักทางฟิสิกส์ร่วมกับกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของร่างกายที่สัมพันธ์กับวิทยศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างถูกหลักวิธี
3. ใช้กล้ามเนื้อระหว่างการเล่นกีฬานั้นๆ ไม่ถูกต้อง/ไม่เหมาะสม ใช้งานซ้ำๆอย่างต่อเนื่องหรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งมากเกินไป
4. ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็น
-ระยะเวลาการฝึกซ้อมไม่เพียงพอ
-รูปแบบการฝึกซ้อมไม่เหมาะสมกับประเภทกีฬานั้นๆและขาดความต่อเนื่องของการฝึกซ้อม
-ไม่มีการยืดกล้ามเนื้อก่อน/หลัง และระหว่างการเล่นกีฬาอย่างถูกต้องและเพียงพอ
-ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและถูกวิธีเมื่อได้รับบาดเจ็บ
5. การเลือกใช้ชนิดหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬาไม่เหมาะสมกับกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้า ชุดกีฬา อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย
6. การฝึกซ้อมไม่เฉพาะเจาะจงกับประเภทกีฬา เนื่องจากผู้ให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมขาดความรู้ในประเภทกีฬานั้นๆ
7. พักผ่อนไม่เพียงพอหลังการออกกำลังกาย
การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดการบาดเจ็บอีก
1. ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพโครงสร้างของร่างกายและฟังก์ชั่นการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกที่ถูกต้องโดยมีความเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลและประเภทกีฬา
2. วางแผนการออกกำลังกายด้วยการทดสอบสมรรถนะของกล้ามเนื้อเพื่อนำมาปรับแนวทาง/รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ เช่น ความหนัก จำนวนครั้ง ความถี่ในการออกกำลังกาย เป็นต้น
3. ให้ความรู้ในการดูแลกล้ามเนื้อทั้งก่อน/หลังและระหว่างการออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย และสามารถนำไปใช้ในขณะเล่นกีฬาได้อย่างถูกต้อง
4. แนะนำอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ที่เหมาะสมในการเล่นกีฬา ซึ่งรวมถึงความรู้ในการใช้งานเพื่อไม่ทำให้เกิดการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง และส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างผิดๆ ทั้งนี้ในขณะที่ยังมีอาการบาดเจ็บและต้องเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ในการแข่งขัน การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ เช่น การใส่เฝือกอ่อน อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ การใช้เทปช่วยพยุง ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยลดอาการ
เจ็บปวดระหว่างการแข่งขันลดการใช้งานกล้ามเนื้อโดยตรง และช่วยพยุงให้กล้ามเนื้อนั้นใช้งานในส่วนที่ยังทำงานได้บ้างโดยไม่เป็นเพิ่มอาการบาดเจ็บให้กับกล้ามเนื้อนั้นๆนอกจากนี้เทปช่วยพยุงยังใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อกรณีกล้ามเนื้อได้รับการบาดเจ็บหรือนักกีฬามีโครงสร้างที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
การรักษา
การรักษาส่วนใหญ่มักไม่ต้องผ่าตัดการรักษาอาการบาดเจ็บในการเล่นกีฬา ในช่วง 1-3 วันแรก จะใช้หลักการที่เรียกว่า RICE
Rest: พัก หยุดการเคลื่อนไหว ในส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือลดกิจกรรมและพยายามลดการลงน้ำหนักบริเวณที่บาดเจ็บ
Ice: ประคบเย็น บริเวณที่บาดเจ็บ ครั้งละ 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง
Compression:พันกระชับส่วนที่บาดเจ็บด้วยม้วนผ้ายืด elastic bandage
Elevation: ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อช่วยลดบวม
ฉะนั้นในการเล่นกีฬาถ้ารู้จักการป้องกัน มีการเตรียมความพร้อมก่อนการเล่นกีฬาหรือการซ้อม รวมทั้งการรักษาที่ถูกวิธี ทุกคนจะสามารถออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อแข่งขันหรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น