อัมพาตครึ่งซีก จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคือ อาจมีการแตก ตีบ หรือตันของหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้สมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายตายไปและหยุดสั่งงาน จึงทำให้เกิดอาการอัมพาตของร่างกายส่วนนั้นๆขึ้นอาการมักจะเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า สโตรก หรืออุบัติเหตุจากหลอดเลือดสมอง
หลอดเลือดในสมองแตกหรือการตกเลือดในสมอง(Cerebral hemorrhage)เป็นสาเหตุที่มีอันตรายร้ายแรงอาจตายได้ในเวลารวดเร็วมักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่เป็นมาแต่กำเนิด(Congenital aneurysm) หลอดเลือดฝอยผิดปกติแต่กำเนิดเป็นต้น หลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้มักจะแตกและทำให้เกิดอาการอัมพาตเมื่อผู้ป่วยอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัว เช่นตับแข็ง โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น บางครั้งก็อาจกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการตกเลือดในสมองได้
สาเหตุ
โรคหลอดเลือดสมองแตก เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งผนังของหลอดเลือดจะเปราะแตกง่าย หากความดันโลหิตสูงขึ้นมากอย่างฉับพลันอาจทำให้หลอดเลือดแดงแตกได้ จะเกิดลิ่มเลือดคั่งในสมอง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้การแตกของหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่เป็นมาแต่กำเนิดได้
อาการ
ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดในสมองแตก อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด ขณะทำงานออกแรงมากๆ หรือขณะร่วมเพศ โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า แต่อาจพบอาการดังต่อไปนี้
1.อาจบ่นปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดศีรษะซีกเดียวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
2.มีอาการปากเบี้ยว
3.พูดไม่ชัด หรือ พูดไม่ได้
4.แขนขาค่อยๆอ่อนแรงหรือเดินขาลาก
5.อาจชักและหมดสติในเวลารวดเร็ว
6.ถ้าเลือดตกรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการหมดสติ ตัวเกร็ง รูม่านตาหดเกร็งทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะเสียชีวิตภายใน 1-2 วัน ถ้าตกเลือดไม่รุนแรงก็อาจมีโอกาสฟื้นและค่อยๆดีขึ้น หรือถ้าได้รับการผ่าตัดได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยให้รอดได้
สิ่งที่ตรวจพบ
การตรวจร่างกาย นอกจากการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่งแล้ว อาจมีอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันเลือดสูง รีเฟลกซ์ของข้อไวกว่าปกติ ในรายที่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันการตรวจร่างกายอาจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น ฟังได้เสียงฟู่ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก อาจมีอาการหมดสติ คอแข็ง อาจตรวจพบรูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ้าเป็นรุนแรงอาจพบรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง
การรักษา
ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก จะเป็นการรักษาตามอาการ และอาจต้องผ่าตัดสมอง เมื่อปลอดภัยแล้ว จึงมีการรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป
การป้องกัน
การป้องกันมิให้เป็นโรคอัมพาต อาจกระทำได้โดย
1.การงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก(ถ้าอ้วน) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็ว
2.หมั่นตรวจเช็คความดันเลือดเป็นประจำ
3.ตรวจเช็คไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหาทางควบคุมให้เป็นปกติ
4.ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควรรักษาเป็นประจำอย่าให้ขาดเพราะเมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต
5.ถ้าเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ(ทีไอเอ)ควรรีบปรึกษาแพทย์ และกินยาแอสไพริน(หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด) ตามแพทย์สั่งเป็นประจำอย่าได้ขาด
ฉะนั้นเกราะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือหมั่นเช็คร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำปี และป้องกันตัวเองดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ที่สำคัญป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรค หรือป้องกันไม่ให้โรคกำเริบบ่อยๆ หรือถ้าพบว่าตัวเองมีความดันเลือดสูงเป็นประจำ ก็ควรรักษาแบบต่อเนื่อง โอกาสที่หลอดเลือดสมองจะแตกจะลดลงมากและอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งย่อมดีกว่าการปล่อยไว้จนหลอดเลือดสมองแตกแล้วค่อยมาเริ่มรักษา เพราะเมื่อเป็นอัมพาตเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะฟื้นคืนดีดังเดิมย่อมมีน้อยมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น