คอพอก(Goiter) คือ โรคที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นผิดปกติจนสามารถมองเห็นหรือคลำพบซึ่งอาจโตขึ้นตลอดทั่วทั้งต่อมหรือเพียงกลีบใดกลีบหนึ่ง หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อก้อนเดียว หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อตะปุ๋มตะป่ำ ทั้งนี้เกิดโดยที่การทำงานของต่อมไทรอยด์อาจ ปกติ สูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ
สาเหตุของโรคคอพอก
โรคคอพอก คือโรคที่ต่อมไทรอยด์(Thyroid)ซึ่งอยู่ที่คอโตขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้มีสาเหตุ 3 ประการคือ
1.จากการใช้ยาพวกแอนตี้ไทรอยด์(Antithyroid) เช่น อะมิโน ไทอะโซล(Amino thiazole)หรือยาไทโอ ไซยะเนต(Thiocyanate) ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาไทโอไซยะเนตนี้จะไปกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์รวมไอโอดิน ไอออน ต่อมไทรอยด์จึงทำงานน้อยลง ทำให้ผลิตสารไทรอกซินน้อยลงด้วย
2.ร่างกายได้รับสารกอยโตเจน จากพืชในตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลีที่รับประทานเข้าไปสดๆแต่ถ้าทำให้สุกด้วยการต้มสารนี้จะถูกทำลายไป พืชในตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลี เช่น กะหล่ำปลี ผักกาด ขึ้นฉ่าย หัวผักกาด และแครอท
3.ขาดธาตุไอโอดีน หรือรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนต่ำกว่าความต้องการของร่างกาย ในขณะที่ร่างกายต้องการธาตุนี้มากกว่าปกติ เช่น วัยรุ่น หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน
อาการและอาการแสดง
ไม่มีอาการอะไร นอกจากพบว่า มีต่อมไทรอยด์โตขึ้น อาการที่เกี่ยวเนื่องกับต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น กินจุแต่ผอมลง เหงื่อออกมาก ขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีประจำเดือนลดลง ท้องเดิน และอาจพบการเปลี่ยนแปลงที่ตา เช่น ลูกตาโปน อาการเจ็บที่ก้อน มักพบในคอพอกที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ หรือมีเลือดออกในก้อน อาการจากการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง พบในกรณีที่ก้อนโตมาก อาจมีอาการกลืนลำบาก(กดหลอดอาหาร) หายใจลำบาก(มีการกดเบียดของหลอดลม) อาการจากการลุกลามของก้อน อาจมีอาการเสียงแหบ จากการลุกลามไปที่เส้นประสาทเลี้ยงสายเสียง ถ้ามีอาการนี้ มักเป็นมะเร็ง อาการของการกระจายของมะเร็ง อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น หรือมีอาการปวดกระดูก
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยว่ามีคอพอกได้จากการตรวจคลำต่อมไทรอยด์ และตรวจหาสาเหตุของคอพอกได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะประเภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ การเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติครอบครัว และประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่นตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง และการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือด้วยการกินน้ำยาแร่รังสี ซึ่งเป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า ไทรอยด์สแกน บางครั้งอาจต้องเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมไทรอยด์เพื่อการวินิจฉัยโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ
การรักษา
แนวทางการรักษาโรคคอพอก ขึ้นกับอาการและสาเหตุ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีรักษา เมื่อผู้ป่วยมีอาการปกติ การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ และขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก เพียงปรับประเภทอาหารให้มีธาตุไอโอดีนสูงขึ้น เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล และใช้เกลือที่ผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร ให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อพบมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และให้ยารักษาในเมื่อมีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาจรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสี ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย อายุ และดุลยพินิจของแพทย์ในบางอาการ หรือบางสาเหตุ อาจต้องผ่าตัด เช่นต่อมไทรอยด์โตมากจนก่ออาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง หรือเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
การป้องกัน
การป้องกันโรคคอพอก คือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุป้องกันได้ บางสาเหตุป้องกันไม่ได้ แต่ดังได้กล่าวว่า โรคคอพอกส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีนในอาหาร ดังนั้นการกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีน จะช่วยป้องกันโรคคอพอกที่เกิดจากขาดธาตุไอโอดีนได้ แต่ถ้ากินไอโอดีนมากไปก็มีโอกาสเกิด คอพอกได้เช่นกัน ดังนั้น การกินไอโอดินต้องให้มีปริมาณเหมาะสม ไม่กินอาหารทะเลมาก บ่อยเกินไป ดูปริมาณไอโอดีนในวิตามิน เกลือแร่เสริมอาหารเสมอ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่สิ่งแวกล้อมขาตุไอโอดีน ก็ควรใช้ เกลือ หรือน้ำปลาปรุงอาหารชนิดเป็นเกลือไอโอดีน หรือจากปลาทะเล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น