วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ภาวะหยุดหายใจในเด็ก






        ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก (Pediatric Obstructive Sleep Apnea) เป็นโรคที่ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจเนื่องจากมีผลกระทบต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก หากเด็กได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

        เกิดจาก การอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นในขณะหลับมักเกี่ยวข้องกับทอนซิลและอดีนอยด์โต โดยปกติขณะที่นอนหลับ ร่างกายมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ลำคอ ทำให้ช่องลำคอยวบตัว ส่งผลให้ทางเดินหายใจที่แคบอยู่แล้วเกิดการอุดกั้นโดยสิ้นเชิง เกิดการขาดออกซิเจนระหว่างการนอน ทำให้การนอนหลับไม่สมบูรณ์ การรบกวนระหว่างการนอนนี้ ส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

        สาเหตุอันดับหนึ่งที่พบบ่อยคือ ทอนซิลและอะดีนอยด์โต มักมีส่วนเกี่ยวเนื่องจากปัญหาภูมิแพ้ในเด็กหรือปัญหาการเป็นหวัดเรื้อรังซ้ำซาก

อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

        ในช่วงเวลากลางวันเด็กมักอ้าปากหายใจ หายใจดัง อาจมี อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลร่วมด้วย นอกจากนี้เด็กที่นอนไม่พอจะมีปัญหาเรื่องของสมาธิ ซนมากผิดปกติ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนในเวลากลางคืน เด็กมีอาการนอนกรนเป็นประจำ และจะดังขึ้นเรื่อยๆเมื่อยิ่งหลับลึก มีการหายใจติดขัด สะดุด นอนกระสับกระส่ายหรือนอนดิ้น เปลี่ยนท่าทางการนอนบ่อยๆ อาการเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย ปัสสาวะรดที่นอน


ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

        แพทย์จะสอบถามประวัติจากผู้ปกครองและตรวจร่างกาย หากแพทย์สงสัยว่าอะดีนอยด์โต อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์บริเวณศีรษะด้านข้างเพื่อดูเงาของอะดีนอยด์ หากเด็กโตพอให้ความร่วมมือในการตรวจ แพทย์อาจใส่กล้องส่องตรวจเข้าไปในจมูกเพื่อดูขนาดของอะดีนอยด์ สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจยืนยันด้วยการตรวจการนอนหลับ (sleep test) โดยให้เด็กมานอนที่โรงพยาบาลและจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมือนที่บ้านเพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดการเคลื่อนไหว ฯลฯ เพื่อสังเกตดูว่าเด็กมีการหยุดหายใจระหว่างหลับหรือไม่


การรักษา

        การรักษาแบบมาตรฐานและได้ผลดีมากที่สุด คือการผ่าตัดทอนซิลและอะดีนอยด์ เพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น กำจัดแหล่งสะสมของเชื้อโรคในจมูก ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดมีความปลอดภัยสูงและมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่ำ อย่างไรก็ตามหากเด็กมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ภูมิแพ้ ควรควบคุมอาการภูมิแพ้ของเด็กด้วยเพราะการผ่าตัดไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องภูมิแพ้ของเด็กได้

การป้องกัน

        หากเด็กมีอาการภูมิแพ้ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเด็กเป็นหวัด ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับ เด็กที่มีประวัติภูมิแพ้หรือเป็นหวัดเรื้อรังซ้ำซาก เช่น การว่ายน้ำเป็นประจำ ควรรอให้เด็กมีอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไปก่อนเพราะเด็กเริ่มมีภูมิต้านทานและกายวิภาคที่ดีขึ้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...