วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปวดหลัง (Back pain)

ปวดหลัง(Back pain)


ปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตของออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเกิดจากการที่เรานั่งทำงานติดต่อกันนานๆ หรือต้องยืนนานๆ โดยเฉพาะคุณสาวๆ ที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงตลอดทั้งวันด้วยแล้ว ยิ่งเกิดอาการปวดหลังได้ง่าย การยกของหนักเป็นประจำหรือการออกกำลังกายหักโหมเกินไปก็เป็นสาเหตุให้ปวดหลังได้เช่นกัน โดยอาจเกิดการเคล็ด ขัด ยอก ปวด ตึง กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จนบางรายอาจไม่สามารถเอี้ยวหรือบิดตัวได้ หรือบางท่านอาจปวดหลัง และร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี หลังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะยืดหยุ่นและไม่ปวดมีการทำงานของระบบโครงสร้าง คือกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกล้ามเนื้อและเอ็นอย่างเหมาะสม และปกป้องอันตรายไม่ให้เกิดกับประสาทไขสันหลัง


อาการ
          ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง(ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือค่อยเป็นทีละน้อย อาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัว เอี้ยวตัวอาจทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดีและไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย


สาเหตุ
1. การใช้กิริยาท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2. ความเสื่อมของกระดูกและข้อจากวัยที่สูงขึ้น
3. ขาดการออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
4. ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่นหลังคด หลังแอ่น
5. การมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่นวัณโรคของกระดูกสันหลัง
6. การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
7. การมีเนื้องอกของประสาทไขสันหลังหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8. อาการปวดร้าวมายังหลังจากโรคของอวัยวะในระบบอื่นๆเช่นนิ่วในไต เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
9. ปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความวิตกกังวลในชีวิต


การรักษา ที่ดีที่สุด คือการป้องกันสาเหตุ
1. เรียนรู้การใช้กิริยาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
3. หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานมากๆ และรู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกายให้ครบทุกประเภท
5. บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ร่วมกับการออกกำลังกาย กลางแจ้ง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ รำมวยจีน จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการทำงาน
6. ออกกำลังบริหารร่างกาย ป้องกันอาการปวดหลังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีอาการปวดหลัง
7. ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตเห็นความผิดปกติ

ท่าทางที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตประจำวันมีดังนี้


ท่ายืน  
ท่าที่ถูกต้องคือแขม่วท้องอกผายไหล่ผึ่งเอวแอ่นน้อยที่สุด ถ้าต้องยืนเป็นเวลานานควรมีที่พักเท้า


ท่านั่ง
ท่าที่ถูกต้องคือสันหลังตรงพิงพนัก เก้าอี้สูงพอดี และควรมีที่พักแขน การนั่งห่างจากโต๊ะมากทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมาก ที่นั่งที่เหมาะสมที่สุดในการพักผ่อนควรเอียง 60 องศา จากแนวตั้ง มีส่วนหนุนหลัง มีที่วางแขน ทำด้วยวัสดุนุ่มแต่แน่น

ท่านั่งขับรถ
ท่าที่ถูกต้องคือหลังพิงพนัก เข่างอเหนือระดับสะโพก การนั่งห่างเกินไป ทำให้เข่าต้องเหยียดออกกระดูกสันหลังตึง

ท่ายกของ
ท่าที่ถูกต้องควรย่อตัวยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา การก้มลงหยิบของในลักษณะเข่าเหยียดตรง ทำให้ปวดหลังได้

ท่าถือของ
ท่าที่ถูกต้องคือควรให้ชิดตัวที่สุด การถือของห่างจากลำตัว ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก

ท่าเข็นรถ
ท่าที่ถูกต้องคือควรดันไปข้างหน้า ออกแรงที่กล้ามท้อง การดึงถอยหลังจะออกแรงที่กล้ามเนื้อหลังเป็นเหตุให้ปวดหลังได้

ท่านอน
ที่นอนควรจะแน่น ยุบตัวน้อยที่สุด ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำ หรือเตียงสปริงเพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น  การนอนคว่ำจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอว ทำให้ปวดหลังได้ การนอนหงายทำให้หลังแอ่นได้เล็กน้อย ควรใช้หมอนข้างใบใหญ่ หนุนใต้โคนขา จะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่แอ่น ท่านอนที่ดีที่สุดคือการนอนตะแคง ควรให้ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอ สะโพกและเข่ากอดหมอนข้าง


อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ในบางสาเหตุ ร่วมกับการบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง การรักษาในบางสาเหตุได้ผลมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่งเสริมหลายๆประการ แต่บางทีอาการปวดที่เราคิดว่าปวดหลัง หรือบางอาการที่ปวดหลังเรื้อรัง ก็ไม่ได้เป็นเพราะกล้ามเนื้อและกระดูกเสมอไป ลักษณะอาการปวดหลังบางอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยจากโรคที่เกิดกับอวัยวะภายใน และจำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ฉะนั้นการรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...