วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram)
บทความโดย พญ.ศิรพร  พิเนตศิริ  (รังสีแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)


          การตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมมีความละเอียดสามารถช่วยการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ก้อนเล็กยังตรวจคลำไม่พบ สตรีที่มี อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสตรีที่ได้รับยาฮอร์โมนทดแทน


Digital  Mammogram
          การทำแมมโมแกรม เป็นการเอ็กซเรย์เต้านมด้วยเทคนิคพิเศษ โดยใช้แผ่นอุปกรณ์บีบเนื้อเต้านม เพื่อช่วยให้ได้ภาพชัดเจนขึ้น ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสร้างภาพขึ้นด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แทนการใช้ฟิลม์เอ็กซเรย์ เรียกว่า Digital mammogram ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อยลง และได้ภาพคมชัดยิ่งขึ้น ทำให้           แมมโมแกรมสามารถตรวจพบเนื้องอกได้ตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กมากจนคลำจากภายนอกไม่พบ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย Mammogram เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีจุดอ่อน เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงนั้นมีความหนาแน่นและลักษณะที่แตกต่างกันไป สำหรับผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะมีเต้านมแบบ Dense คือ เต้านมขาว ซึ่งอาจมีสิ่งผิดปกติซ่อนเร้น ทำให้การตรวจหานั้นทำได้ยากขึ้น จึงเกิดนวัตกรรมล่าสุด

Digital Brest Tomosynthesis

ซึ่งเป็นการตรวจ
Mammogram ด้วยระบบ 3 มิติ สามารถตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพเนื้อเต้านมออกมาเป็นแผ่นบางๆ ทีละชั้นๆละ 1 mm. ในมุม 15 องศา ในการถ่ายภาพ tomosynthesis    1 ครั้ง จะได้ภาพออกมาครั้งละประมาณ 50 slice ถ่ายภาพทั้งหมด 4 ครั้ง(ข้างละ 2 ครั้ง) เพราะฉะนั้นในการตรวจ แพทย์จะได้ภาพทั้งหมดถึง 200 ภาพ ในระยะห่างกันเพียงภาพละ 1 mm. ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเต้านมที่เคยซ้อนกันอยู่ได้ชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้น แม้ว่าเต้านมจะมีความแน่นและหนาทึบรวมทั้งผู้ป่วยที่ผ่าตัดเสริมเต้านม  จึงสามารถระบุตำแหน่งรอยโรคและความผิดปกติได้ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การถ่ายเพิ่มน้อยลง


          นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีโปรแกรมที่สามารถถ่ายภาพทั้ง 2 มิติ และ3มิติ ใน 1 ครั้ง ทำให้
ผู้ป่วยไม่ต้องถูกกดเต้านมหลายครั้งและลดเวลาการตรวจลง การถ่ายภาพ 2 มิติ 1ครั้งใช้เวลา 4 วินาที การถ่ายภาพรวม 2 และ3มิติ ใน1ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 9 วินาที



          การทำแมมโมแกรมใช้วิธียิงให้ลำแสงเอ็กซเรย์จากด้านหนึ่ง ทะลุเนื้อเต้านมไปตกบนแผ่นรับรังสีที่อยู่อีกด้านหนึ่ง แล้วนำรังสีที่ตกบนแผ่นรับไปสร้างภาพ หากเต้านมแน่นมาก อาจจะบดบังการทะลุผ่านของรังสีได้ แพทย์จึงแนะนำให้ทำควบคู่ไปกับการตรวจอุลตร้าซาวด์เต้านม ที่ใช้วิธีส่งคลื่นเสียงเข้าไปในนม ให้ไปตกกระทบบนเนื้อเต้านมและตัวเนื้องอก แล้วสะท้อนกลับมายังตัวรับคลื่นเสียงที่อยู่ด้านเดียวกันกับตัวส่งคลื่นเสียงออกไป โดยวิธีนี้แม้เนื้อเต้านมจะแน่น ก็ยังสามารถสร้างภาพจากเสียงสะท้อนได้อยู่ จึงทำให้ได้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น


การเตรียมตัวสำหรับตรวจแมมโมแกรม
          1.งดทาเครื่องสำอางหรือแป้งบริเวณต่ำกว่าคอลงมา งดฉีดน้ำหอม ไม่ทาลูกกลิ้งที่รักแร้ และเต้านมทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากสารเหล่านี้จะบดบังรอยโรค และไม่ต้องเตรียมตัวอย่างอื่นใดเพิ่มเติม
          2.เวลาที่เหมาะสมในการตรวจแมมโมแกรมคือช่วง 7 วันหลังจากเริ่มประจำเดือนเพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมน้ำมาก ทำให้ไม่เจ็บหรืออึดอัดเวลาตรวจ แต่ในกรณีมีก้อนหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน    สามารถรับบริการตรวจได้เลย
ผู้หญิงทุกคน ควรได้รับการตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือปีเว้นปีในช่วงอายุ 35-40 ปี หลังจากอายุ 40 ปี ควรตรวจเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะหญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ในครอบครัวหรือญาติด้านมารดา ควรตรวจเป็นประจำ ทุกปีตั้งแต่อายุ 35 ปี   ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่พบมากอันดับ   ที่ 1 ในผู้หญิงทั่วโลก แต่วิวัฒนาการและเครื่องมือทางการแพทย์ก็ล้ำหน้ามากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นไม่ต้องกลัวกับคำว่ามะเร็งเต้านมนะคะ ถ้าเรามาตรวจอย่างสม่ำเสมอ รู้ก่อน รักษาให้หายขาดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...