โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม
หมายถึง สภาวะที่ข้อเข่ามีการเสื่อมสภาพ
ในส่วนของกระดูกอ่อนที่คลุมผิวข้อมีการสึกหรอ มีการอักเสบของเผื่อหุ้มข้อ
ตลอดจนมีการงอกของกระดูก
กลไกการเกิดข้อเข่าเสื่อม
:
กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนผิวสัมผัสและรองรับน้ำหนักของข้อเข่า
เกิดการ สึกหรอ เสื่อมสภาพ
โดยมีสาเหตุมาจาก การเสื่อมสภาพตามอายุ
การใช้งาน และน้ำหนักที่กดทับบนผิวข้อเป็นเวลานาน จากสภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นนำมาก่อน
เช่น การติดเชื้อในข้อ ข้ออักเสบเรื้อรัง
การเกิดอุบัติเหตุที่มีผลต่อข้อ
เมื่อมีการสึกหรอ
หรือเสื่อมสภาพในส่วนของกระดูกอ่อนรองรับน้ำหนัก จะทำให้การขยับของ ผิวข้อไม่ราบรื่นรู้สึกว่ามีเสียงดังในข้อ
และการเสียดสีจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่เยื่อหุ้มข้อ
เกิดมีการสร้างน้ำไขข้อที่คุณภาพไม่ดีมากขึ้น ทำให้มีอาการเข่าบวม ปวดตึงในข้อเข่า
เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการสึกหรอมากขึ้นก็จะเกิดกระดูกงอกที่ผิวข้อตามมา
การเกิดกระดูกงอกและการสึกหรอของผิวข้อ ชักนำให้เกิดการผิดรูปของข้อเข่า
เกิดมีสภาวะขาโก่ง เมื่อมีการยืน การเดินในสภาวะที่ข้อเข่าโก่ง
แนวการรับน้ำหนักของเข่าก็จะผิดปกติไป สมดุลของเอ็นหัวเข่าก็จนเปลี่ยนไปทำให้เกิดการเดินลำบากมากขึ้น
การรักษา ประกอบด้วย
1. ความเข้าใจในโรคข้อเข่าเสื่อม
:
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถหยุดกระบวนเสื่อม
หรือ
รักษาฟื้นฟูให้สภาวะข้อเข่าเสื่อมกลับไปเหมือนในวัยหนุ่มสาวได้ แต่ สามรถชะลอสภาวะดังกล่าวได้ ความเข้าใจในการดูแลรักษาข้อเข่าจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการรักษา
โดยมีแนวทางดังนี้
- การลดน้ำหนัก เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพื่อลดแรงกดที่กระทำต่อผิวกระดูกอ่อน
- หลีกเลี่ยงท่าที่ต้องงอเข่ามาก
เช่น การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ
นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า การงอเข่ามากจะทำให้เกิดแรงกดต่อผิวกระดูกมากว่าปกติ
-
การใช้เครื่องพยุงช่วยเดิน
เพื่อช่วยพยุงและถ่ายน้ำหนักจากเข่า
2. การใช้ยา
- ยาแก้ปวด
ใช้เพื่อระงับอาการปวด ได้แก่
ยาพาราเชตามอล
- ยาลดอาการอักเสบ (NSAIDS)
ออกฤทธ์ลดการอักเสบในข้อเข่า
ซึ่งการอักเสบทำให้เกิดอาการปวดเมื่อการอักเสบลดลงหรือหายไป อาการปวดก็จะดีขึ้นตามมา การใช้ยากลุ่มนี้จึงควรใช้ตามเวลาที่กำหนด
เพื่อใช้ลดอาการอักเสบของข้อจนหมดและควรมีการพักการใช้งานของข้อร่วมด้วยเพื่อลดการกระตุ้นการอักเสบซ้ำ
ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตไม่ดี ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงเรื่องระคายเคืองกระเพาะอาหาร
แม้ในยารุ่นใหม่ที่พัฒนาเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะ
ก็มีข้อควรระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลในทางเดินอาหาร และมีข้อควรระวังในกลุ่มผู้ป่วย
โรคหลอดเลือดและหัวใจ
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นยาที่ใช้ประกอบการรักษา เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว
อันเป็นผลจากการอักเสบของข้อเข่า
- ยากลุ่มกลูโคซามีนและน้ำไขข้อเทียม ยากลุ่มนี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากถึง
ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการใช้ยากลุ่มนี้
โดยกลุ่มแพทย์ทางสหรัฐอเมริกา
ไม่แนะนำให้ใช้ใน การรักษา กลุ่มแพทย์ทางยุโรป
ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยอ้างถึงการศึกษาวิจัยพบว่า
ยากลุ่มนี้มีผลเพิ่มความหนาของกระดูกอ่อนและช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ ในประเทศไทย สำนักงานอาหารและยา (อย.) อนุญาติให้มีการใช้ยากลุ่มนี้ในประเทศได้.
คำแนะนำเรื่องการใช้ยากลูโคซามีน แนะนำให้ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระยะแรกๆ
ที่ข้อยังไม่มีการผิดรูป และมีข้อควรระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน
เพราะมีการศึกษาพบว่าจะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยต้อหินแบบเปิด
- ยาสเตียรอยด์ มีประโยชน์ในการลดอาการอักเสบ ในข้อเข่าเสื่อม อย่างไรก็ดีแนะนำให้ฉีดไม่เกิน
3 ครั้งต่อปี และการใช้ยาสเตียรอยด์ ฉีดเข้าไปในข้อเข่าจะมีผลต่อผิวกระดูกอ่อน
การใช้ในปริมาณสูงหรือบ่อยครั้งก็จะมีผลไปสู่ส่วนอื่นของร่างกายไปกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
3. การผ่าตัด
- การส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscopy)
คือการที่แพทย์ทำการเจาะข้อผ่านรูขนาดเล็ก
2-3 รูแล้วทำการสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปในข้อเข่า
เพื่อทำการส่องดูพยาธิสภาพในข้อและทำการซ่อมแซม ภายในข้อเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น ภายในข้อจะมีเศษชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อและกระดูกอ่อนบางส่วนลอยปะปนในน้ำไขข้อ อาจพบว่ามีการฉีกขาดบางส่วนของหมอนรองกระดูก
การทำความสะอาด (Larvage) และการตัดซ่อมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เพื่อหวังผลลดการอักเสบและช่วยให้เนื้อเยื่อฟื้นฟูสภาพ
- การผ่าตัดใส่ข้อเทียม เป็นการผ่าตัดส่วนของผิวกระดูกอ่อนและกระดูกบางส่วนออกและใส่วัสดุเทียมไปทดแทน วัสดุเทียมในปัจจุบัน มีหลายชนิด ได้แก่ พลาสติดแข็ง Polyethelene เซรามิค ข้อจำกัดของข้อเข่าเทียมคือ มีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ
10 ปี การผ่าตัดข้อเข่าเทียม
เหมาะกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เป็นระยะสุดท้ายซึ่งมีข้อเข่าผิดรูปมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น