วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรคไข้ชัก (Febrile convulsion)

โรคไข้ชัก (Febrile convulsion)


          โรคไข้ชัก หมายถึง อาการชักแบบเกร็ง หรือกระตุกทั้งตัวเกิดขึ้นขณะมีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการติดเชื้อในระบบประสาทหรือความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และไม่เคยมีประวัติชักโดยไม่มีไข้ร่วมด้วยมาก่อน พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้วพบได้น้อยมาก


สาเหตุ


          ภาวะนี้เกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆเช่นไข้สูง และ สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะมักมีประวัติโรคไข้ชักตอนเป็นเด็กของคนในครอบครัวร่วมด้วย และสาเหตุของไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน คือโพรงจมูกและลำคอ (เช่นไข้หวัดใหญ่)เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ(Roseola,โรคไข้ผื่นชนิดหนึ่งในเด็กเล็ก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พี/Herpes)และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ


อาการ
          เด็กจะเริ่มไม่สบาย โดยอาจมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย ซึมลง มีไข้สูงและชัก ลักษณะของการชัก คือตัวจะแข็งเกร็ง มือเท้ากระตุก ตาเหลือก กัดฟันแน่น น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว อาจมีอาเจียน หรือถ่ายปัสสาวะ อุจจาระขณะที่กำลังชัก อาการชักมักจะนานไม่เกิน 15 นาที ในรายที่ชักอยู่นาน ใบหน้า ริมฝีปาก และมือเท้าจะเขียวจากการขาดออกซิเจน
          โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีผลต่อพัฒนาการ หรือการเรียนรู้ของเด็กที่เดิมแข็งแรงดี ยกเว้นในบางรายที่มีอาการชักติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะถ้านานมากกว่า 30 นาที)จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน ทำให้อาจมีผลต่อสมองได้ แต่โดยทั่วไปอาการชักชนิดนี้ มักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที จึงไม่น่ามีอันตรายต่อสมองของเด็ก และโอกาสชักซ้ำ จะมีประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีไข้สูง จนกว่าจะอายุมากกว่า 5-6 ปี ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ในตอนเด็ก อาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น


การป้องกัน


          โรคไข้ชักมักเกิดเมื่อเด็กมีไข้สูงเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดในเด็กที่มีไข้สูงทุกคน และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการชักจากภาวะไข้สูงที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สามารถป้องกันได้ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการของบุตรหลาน ถ้าพบว่าไข้สูงมาก ควรให้ยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ทันที และควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเด็กที่กำลังชัก
          -จับให้เด็กนอนตะแคง ไม่หนุนหมอน หันศีรษะไปด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก
          -คลายเสื้อผ้าให้หลวม
          -ห้ามใช้ช้อนหรือวัตถุอื่นใด หรือนิ้วมืองัดปาก และห้ามป้อนยาหรือน้ำทางปาก ในขณะที่เด็กไม่รู้สึกตัว
          -เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือแอลกอฮอล์
          -นำเด็กส่งโรงพยาบาล หรือพบแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าสาเหตุของการชักเกิดจากไข้สูง หรือสาเหตุอื่น เช่นการติดเชื้อในสมอง ซึ่งต้องรักษาที่ต้นเหตุด้วย


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในเด็กที่มีไข้สูง

          -รับประทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล
          -ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ
          -เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นและขณะเช็ดตัว ควรปิดพัดลม หรือปิดเครื่องปรับอากาศ
          -สำหรับวิธีการเช็ดตัว ควรถอดเสื้อผ้าออกให้หมด ใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กชุบน้ำให้ชุ่มพอควร แล้วเช็ดชโลมให้ทั่วตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ลำตัว ทั้งแผ่นหน้าและแผ่นหลัง แขนและขา ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ขณะที่เช็ดตัวให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำที่บริเวณ หน้าผาก รักแร้ และขาหนีบไว้ด้วย
          -ถ้าปลายมือ ปลายเท้าเย็น ควรใช้น้ำอุ่นประคบ กรณีไข้ไม่ลดลง ควรไปพบแพทย์

          สรุปสิ่งที่ควรรู้จากโรคไข้ชัก คืออาการชักจากไข้พบว่า มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติการชักจากไข้จะมีโอกาสชักจากไข้สูงมากกว่า เด็กที่ครอบครัวไม่มีประวัติชักจากไข้ โดยทั่วไปแล้ว การชักจากไข้สูงไม่ทำให้เกิดสมองพิการ เด็กจะมีความสามารถในการเรียนและสติปัญญา(IQ) เหมือนเด็กปกติทั่วไป ในการเกิดอาการชักซ้ำจากไข้ โดยทั่วไปโอกาสเกิดอาการชักซ้ำพบร้อยละ 30 และมักเกิดภายใน 2 ปีแรก การป้องกันการชักซ้ำ เมื่อเริ่มมีไข้ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ แล้วพามาพบแพทย์ ส่วนการให้ยากันชักอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล และผู้ปกครองต้องเข้าใจวิธีการบริหารยากันชัก อย่างถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...