วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก


                                                                         บทความโดย  พ.ท.นพ. อัศวิน แก้วเนตรศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)

          มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้ในผู้ชายโดยเฉพาะผู้ชายสูงวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา เป็นมะเร็งที่พัฒนาในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มักเป็นมะเร็งที่ซ่อนเร้น ไม่ปรากฎอาการในระยะแรกๆ   มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุ มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด ตามสถิติจากสถาบันมะเร็งของสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ชายมีการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและ 1 ใน 35 เสียชีวิตจากโรคนี้
          แต่พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พัฒนาตัวช้ากว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งแปลว่า หากมีการตรวจพบก่อน และ รักษาในช่วงแรกๆ โอกาสการเสียชีวิตก็จะน้อยลง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. อายุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมากในผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี แต่จะพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนทั่วไป
  3. เชื้อชาติ  พบไม่บ่อยในชาวเอเชียแต่พบมากในอเมริกา
  4. อาหารที่มีไขมันสูง     เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนผักและผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  5. ผู้ที่สูบบุหรี่    มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก


อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ แต่หากมีอาการผู้ป่วยมักจะแสดงอาการคล้ายกับอาการโรคต่อมลูกหมากโต เช่น               
1 .ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
          2.ปัสสาวะลำบากและเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
          3.ปัสสาวะไม่พุ่ง
          4.อวัยวะเพศแข็งตัวยาก
          5.เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด
          6.มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ , น้ำอสุจิ

           อาการต่างๆเหล่านี้อาจจะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ


การวินิจฉัย

  1. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญ คือ การตรวจ PSA ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่า PSA ได้โดยการเจาะเลือด ในคนปกติค่า PSA จะอยู่ในระดับ 0-4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ค่านี้อาจสูงขึ้นตามอายุ หรือ ขนาดของต่อมลูกหมาก
  2. การตรวจU/S(อัลตราซาวด์)ของต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงโดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจประเมินต่อมลูกหมาก
  3. การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมาก โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก  หากเป็นมะเร็งอาจคลำได้ก้อนแข็ง การคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเป็นการตรวจประเมินร่วมกับค่า PSA
  4. การตัดชิ้นเนื้อ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัยและมีค่า PSA สูงขึ้นเมื่อติดตามเป็นระยะ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่า เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก ขณะที่ทำการตรวจต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก

ระยะของโรค

          ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็ก อยู่ในต่อมลูกหมาก การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
          ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือลุกลามไปกระดูกและอวัยวะอื่นๆ

การรักษา

  1. การผ่าตัด  การผ่าตัดเป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกๆ ที่ดีที่สุดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆสามารถหายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดก็จะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วย     แพทย์จะใช้ดุลยพินิจในการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ผลเสียของการผ่าตัดต่อมลูกหมากคือ อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด และบางราย การควบคุมการปัสสาวะจะเสียไป
  2. การฉายรังสี   การรักษาโดยการฉายรังสีนั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย เช่น ในรายผู้ป่วยสูงอายุ หรือในรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจซึ่งไม่เหมาะสมที่จะรักษาโดยการผ่าตัด หรือฮอร์โมน
  3. การรักษาโดยฮอร์โมน เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะที่ 3-4 หรือมีการกระจายไปแล้วนั้น เนื่องจากต่อมลูกหมากโดยปกติเจริญเติบโตอาศัยฮอร์โมนเพศชาย เช่น testosterone มะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกัน เมื่อเอาแหล่งต้นตอของฮอร์โมนเพศชายออก ก็จะช่วยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ไม่โตขึ้นอีก ซึ่งสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2ข้าง หรือใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย การรักษาด้วยฮอร์โมนนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย หรือในรายที่กลับมาเป็นอีก หลังจากรับการรักษาด้วยการฉายแสงแล้ว
วิธีการฟื้นฟูร่างกายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. ดูแลด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยผู้ป่วยลดความอึดอัดใจและคลายความวิตกกังวล ให้กำลังใจผู้ป่วย
  2. ดูแลทางด้านโภชนาการและลำไส้ เพื่อลดอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ควรจัดให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย รับประทานผักและผลไม้ที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำมากๆ ห้ามทานของเผ็ดหรือมีรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก
  3. ติดตามพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อดูค่า PSA และประเมินผลแทรกซ้อนอื่นๆ

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไข้เลือดออก











ด้วยความปรารถนาดีจาก
แผนกป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค


โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะของโรค

สาเหตุของการเกิดไข้เลือดออก

      เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย Aedes aegyti ตัวเมียไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก และเมื่อยุงกัดคน ก็จะแพร่เชื้อสู่คน
เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วัน ในช่วงที่มีไข้ โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ยุงลาย
ชอบออกหากินในเวลากลางวัน

เมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก

      อาการของไข้เลือดออกไม่จำเพาะ อาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และมีผื่น ในผู้ใหญ่อาจจะมีไข้สูง
ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดถึงโรคไข้เลือดออก อาจทำให้การรักษาช้าและอาจทำให้เสียชีวิตได้

ลักษณะสำคัญของไข้เลือดออกคือ

      - ไข้สูงเฉียบพลันประมาณ 2-7 วัน
      - เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
      - บางรายอาจจะมีจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจจาระดำ
เนื่องจากเลือดออก บางรายอาจจะช็อค
      - ในรายที่ช็อคจะสังเกตเมื่อไข้ลง ผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึม มือเท้าเย็น เหงื่อออก หมดสติ และอาจเสียชีวิต

การรักษา

      ไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับไข้เลือดออก ทำเพียงประคับประคองอย่างใกล้ชิด โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อคและเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม จะทำให้การเสียชีวิตลดลง


5 ป. ปราบยุงลาย

1. ปิด       ภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด เพื่อป้องกันการวางไข่

2. เปลี่ยน   น้ำในภาชนะต่างๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ

3. ปล่อย    ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว

4. ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โล่ง ลมพัดผ่านได้ ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก

5. ปฏิบัติ  ตามอย่าง 4 ป. ขั้นต้นเป็นประจำจนเป็นนิสัย





กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อไม่ให้มีฆาตกรตัวร้ายในบ้านคุณ



วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทางเดินหายใจอักเสบจากเชื้อ RSV

ทางเดินหายใจอักเสบจากเชื้อ RSV "โรคติดเชื้อเฉียบพลัน.. ของระบบหายใจในเด็ก"




         สาเหตุ RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกอายุ การติดเชื้อ RSV เกิดซ้ำได้ตลอดชีวิต เด็กติดเชื้อ RSV มากที่สุดในช่วงอายุ 6 สัปดาห์ ถึง 8 เดือน เด็กทุกคนเคยติดเชื้อ RSV แล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่ออายุ 3 ปี
อัตราการเกิดโรค ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อ RSV จะมีน้ำมูกใส ไอ ในเด็กเล็กถ้าเป็นการการติดเชื้อครั้งแรก จะพบหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ(ปอดบวม) ได้ 20%-30%

       ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อRSVจนเกิดอาการประมาณ 2-8 วัน (ส่วนใหญ่4-6 วัน)

         อาการ เริ่มต้นมีน้ำมูกใส (ซึ่งจะมีอยู่ตลอดการเจ็บป่วย) ต่อมาไอ (อาการอาจเกิดพร้อมกับน้ำมูกใสแต่ส่วนใหญ่เกิดตามหลัง 1-3 วัน) อาจมีอาการจาม ไข้ต่ำๆ (ไข้อาจมีหรือไม่มีก็ได้) ร่วมด้วย หลังไอไม่นาน เด็กเล็ก จะหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดัง "วี๊ดๆ" ถ้าโรครุนแรงมากขึ้นอาจมีไข้สูง อาการไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดัง "วี๊ดๆ" จะมากขึ้น หน้าอกบุ๋ม ซึม กระสับกระส่าย ท้องอืด เด็กโตและผู้ใหญ่ จะมีเพียงน้ำมูกใสไอ เท่านั้น เพราะเป็นการติดเชื้อซ้ำความรุนแรงของโรคจึงน้อยกว่าเด็กเล็ก ซึ่งเป็นการติดเชื้อครั้งแรก

      การติดต่อ เชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายทาง ตา จมูก และติดต่อจากคนสู่คน ดังนี้ ละอองฝอย โดยการไอหรือจาม ทำให้เชื้อ RSV ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ป่วยกระจายออกไปได้ไกล 1-2 เมตร การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ป่วยโดยตรง หรือผ่านของเล่น เครื่องใช้รอบตัวผู้ป่วยที่มีเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยติดอยู่ (เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง)


ระยะติดต่อ ผู้ป่วยแพร่เชื้อ RSV ได้นาน 3-8 วัน ส่วนเด็กเส็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแพรร่เชื้อได้นาน 3-4 สัปดาห์


การติดเชื้อ

  • เด็กเมื่อติดเชื้อ RSV แล้ว ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะไม่ดี และอยู่ไม่นาน เด็กจึงติดเชื้อซ้ำได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง
  • การติดเชื้อ RSV เกิดซ้ำได้หลายครั้งด้วยเชื้อตัวเดิม และสามารถเกิดได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากโรคหายแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดซ้ำ
  • เมื่อมีการระบาดของโรค การติดเชื้อซ้ำจะพบได้ 10-20% ต่อการระบาดแต่ละปี ผู้ใหญ่มีการติดเชื้อ RSV ซ้ำได้ แต่พบน้อยกว่าเด็ก
    การติดเชื่อ


อาการแทรกซ้อน
  1. หูชั้นกลางอักเสบ พบได้ 40% อาจเกิดจากเชื้อ RSV โดยตรง หรือจากเชื้อแบคทีเรียทั้งสองอย่าง
  2. ปอดอักเสบ (ปวดบวม) จากเชื้อแบคทีเรีย
  3. เด็กขวบปีแรกที่เป็นหลอดลมอักเสบรุนแรงจากเชื้อ RSV ต่อมาจะมีโอกาสเกิดเป็นโรคหอบหืด 30% และ ถ้าเด็กเป็นโรคภูมิแพ้ มีผื่นแพ้ หีือมีประวัติโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ในครอบครัวจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น
การรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง เด้กที่มีอาการรุนแรงควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยที่เมื่อติดเชื้อ RSV แล้วจะมีอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อน ได้สูง ได้แก่
  • เด็กเล็ก
  • เด็กเกิดก่อนกำหนด
  • เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคกล้ามเนื้อ โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มักจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไข้สูง อาเจียนมาก ดูดนมไม่ได้ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ซึม กระสับกระส่าย ท้องอืด


การป้องกัน
  • อย่าให้เด็กเอามือที่ไม่สะอาดถูกตา จมูก เพราะเป็นทางเข้าของเชื้อ RSV 
  • งดพาเด็กไปสถานที่มีผู้คนแออัด อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ให้เด็กเล็กอยู่กับบ้าน ไม่ส่งไปรับเลี้ยงเด็ก
  • หลังจากเด็กสำผัสของเล่น และสิ่งของใช้ร่วมกัน ควรล้างมือเด็กด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูให้ทั่วมือจนแอลกอฮอล์เจลแห้ง ควรทำความสะอาดของเล่นและสิ่งของที่ใช้ร่วมกันให้สะอาดอยู่เสมอ คนในบ้าน ถ้าไอจามให้ปิดปาก ปิดจมูกด้วย คอเสื้อ แขนเสื้อ ทิชชู หรือหน้ากากอนามัย ก่อนจะจับหรืออุ้มเด็กหรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด หรือใช้แอลกอฮอล์เจอแห้ง

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...