วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่อง เกราะป้องกันตัวเองให้ห่างจาก ไขมันเกาะตับ


เนื่องจากไขมันเกาะตับเป็นภัยเงียบ ไม่มียารักษาโดยตรง มักไม่แสดงอาการกระโตกกระตากให้เราได้ทราบล่วงหน้าก่อน ซึ่งมีการดำเนินโรคยาวนานเป็นสิบปี จะตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพ เจาะเลือดแล้วพบค่าเอมไซม์ตับผิดปกติไป ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือพยายามดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี และปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์จะช่วยได้มาก

เกราะป้องกันตัวเอง คือ

  1. ”ลด-ละ-เลิก” เครื่องดื่มเติมน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง ถ้ายังดื่มกาแฟอยู่ ควรพิจารณาชงเอง เนื่องจากกาแฟซื้อจะกระหน่ำเติม ”น้ำตาล-ครีม-นม” ลงไปแบบไม่ยั้ง อาจใช้น้ำตาลเทียมช่วย น้ำตาลเทียมที่ไม่แพง คือ Lite Sugar –ไลท์ชูการ์ เป็นน้ำตาลผสมน้ำตาลเทียมอย่างละครึ่ง มีขนาด1/2 กิโลกรัม ซื้อมาใส่ขวด แล้วแบ่งใช้ ไม่เกิน 1 ช้อนชา/ครั้ง
  2. ”ลด” อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต หรือ ข้าว-แป้ง-น้ำตาล โดยเรียนรู้จากคู่มือคนไข้เบาหวาน หรือเปลี่ยนไปกินอาหารแบบที่คนไข้เบาหวานกินให้ได้อย่างน้อย1/2 หรือครึ่งหนึ่ง คนไข้เบาหวานทั่วไปมักจะได้รับคำแนะนำให้ลด “ข้าว-แป้ง-น้ำตาล” ลงประมาณ1/3 และเติมผักลงไปแทน เน้นผักที่กินง่าย สบายๆเช่น ถั่วงอกลวก ผักใบเล็กนึ่ง ผักน้ำพริก (ผักที่กินควรมีแป้งน้อย ไม่ใช่ฟักทองและไม่ใช่ผักทอด) เปลี่ยนจ้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท
  3. ”ลด-ละ-เลิก” อาหารทำจากแป้งขัดสี เช่น เค้ก คุกกี้ เบเกอรี่ ขนมใส่ถุง
  4. เพิ่มผัก ปลาที่ไม่ผ่านการทอด ถั่วที่ไม่ผ่านการทอด ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ ส้ม ส้มโอ มะละกอ ลูกหม่อน กล้วยไม่สุกมาก
  5. ลดเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่นหมู วัว แพะ แกะ ฯลฯ เนื้อสัตว์ใหญ่มีไขมันแฝงสูง แม้แต่เนื้อแดงไม่ติดมันก็มีไขมันที่มองไม่เห็นปนอยู่ สัตว์ปีก เช่นไก่มีไขมันมากที่หนัง ควรถลกหนังออกก่อนปรุงอาหาร
  6. งดเนื้อสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ หมูแผ่น หมูหยอง แฮม ฯลฯ เนื้อสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้ไขมันสัตว์บดผสม ทำให้มีไขมันอิ่มตัวสูง งดอาหารทอด เพื่อป้องกันการได้รับไขมันที่มองไม่เห็นขนาดสูง
  7. ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยดูจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI 25-30) การลดน้ำหนักประมาณ1/2กก.ต่อสัปดาห์ช่วยได้มาก วิธีที่ดี คือ ลดให้ได้ในระยะยาว 2-3 กก. ก็นับว่า ดีมาก แต่ดีที่สุด คือลดให้ได้ 5%ของน้ำหนักแรกเริ่มในระยะยาว
  8. ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ คนที่มีไขมันเกาะตับเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน ควรตรวจเช็คเบาหวาน(น้ำตาลในเลือด) ความดันเลือดทุก 6 เดือน โรคนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ-ตับอักเสบ ควรปรึกษาหารือกับหมอที่ดูแลท่าน และควรเพิ่มจากเบาไปหาหนัก(ถ้าไม่มีข้อห้าม) เช่นเดินเร็วปานกลางสลับเดินเร็ว 40 นาที/วัน (ทำเป็นช่วงๆละ 10 นาทีและนำเวลาสะสมรวมกันได้) เมื่อเดินเร็วได้ดี 2-3เดือน ค่อยๆเพิ่มระดับการออกกำลังกายให้หนักขึ้น หรือนานขึ้น
  9. ไม่นั่งนาน ลุกขึ้นเดินไปเดินมา หรืออย่างน้อยทำท่า “นั่งเก้าอี้สลับยืนขึ้น” 5-10 ครั้งทุกๆ1-2ชั่วโมง ถ้าดูทีวีให้นั่งเก้าอี้ เหยียดขาไปข้างหน้าเกือบตรง เตะขาขึ้นลงสลับกัน ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
  10. นอนให้พอ และไม่นอนดึกมากเกิน
  11. ทำใจ  ทำใจให้ได้ว่าคนเรามักจะทำอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่คิดเสมอ โดยเฉพาะการไม่ดื่มหนัก เพื่อรักษษตับนี้ให้ทำหน้าที่คู่โลกได้นานๆ


      

                ภาวะไขมันเกาะตับดูเหมือนจะไม่รุนแรงซึ่งมันจะใช้เวลาเป็น 10 ปี ในการดำเนินโรค ฉะนั้นเมื่อเราทราบจากการตรวจร่างกายว่าเรามีไขมันเกาะตับเราควรหันมาดูแลสุขภาพดังคำแนะนำด้านบนเพื่อที่จะเป็นเกราะป้องกันตัวเอง รวมทั้งผู้ที่ไม่มีภาวะนี้ก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยน๊ะค่ะ


วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

         ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆแล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเกิดการอักเสบตามไปด้วย โดยไม่มีการติดเชื้อในต่อมน้ำเหลือง(เช่น ฟันผุ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ) หรือจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง(เช่นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง) หรือจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองโดยไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อก็ได้ (เข่น ในโรคออโตอิมมูน)



          ต่อมน้ำเหลือง เป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง โดยมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆรูปไข่ นุ่ม เคลื่อนที่ได้เล็กน้อย มีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร ในภาวะปกติมักคลำไม่พบเพราะจะอยู่ปนไปกับเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่วตัวในทุกอวัยวะยกเว้นในสมอง มีหน้าที่สำคัญ คือเป็นตัวดักจับสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรคนอกจากนั้นยังมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายด้วย

          ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใดๆแล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงตามมา แต่ไม่มีรายงานความชุกของภาวะนี้อย่างไรก็ตาม เป็นภาวะที่พบได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในทั้งในเพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน


          ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจเกิดเพียง ต่อมเดียว หลายๆต่อมพร้อมๆกัน ในหลายตำแหน่ง (เช่นคอ รักแร้ ขาหนีบ) และ/หรือ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือ ตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดการอักเสบ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
  1. มีแผลและ/หรือการอักเสบในอวัยวะต่างๆเช่น ผิวหนัง ช่องปาก อวัยวะเพศ
  2. มีการติดเชื้อในอวัยวะระบบต่างๆของร่างกาย
  3. มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอดส์
  4. ผู้ป่วยมะเร็ง

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ


  1. เกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด แล้วส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงอักเสบตามไปด้วยโดยไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง
  2. อาการจากการมีแผลหรือการอักเสบของอวัยวะใกล้เคียงเช่น โรคเหงือก ฟันผุ หรือมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ร่วมด้วย เมื่อมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคหวัด โรคหัด หรือต่อมน้ำเหลืองโต บวม แดง เจ็บ เป็นหนองที่มีสาเหตุเกิดจากต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

อาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
          โดยปกติแล้วอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบอยู่ อาการหลักๆที่พบได้คือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต มีอาการกดเจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง นอกจากนั้น ยังมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ดังนี้

  1. มีอาการบวม หรือกดเจ็บที่บริเวณต่อมต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
  2. ต่อมน้ำเหลืองเกิดอาการแข็งตัว หรือขยายตัวอย่างผิดปกติ
  3. ผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบแดง หรือมีริ้วสีแดงขึ้น
  4. มีหนองในต่อมน้ำเหลือง
  5. มีของเหลวไหลออกมาจากต่อมน้ำเหลืองและคั่งอยู่ที่ผิวหนัง
  6. ผิวหนังบริเวณรอบๆต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบมีอาการบวม

ซึ่งนอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่นๆที่เกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น มีไข้ คัดจมูก เจ็บคอ แขนหรือขาบวม มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ

การรักษา
          การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ เช่น การหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาเมื่อสาเหตุเกิดจากยา การทำฟัน เมื่อสาเหตุเกิดจากฟันผุ การรักษาแผลต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากแผล                     การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาวัณโรคเมื่อสาเหตุเกิดจากเชื้อวัณโรค และการรักษาโรคมะเร็งเมื่อมีสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนั้นคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด ถ้ามีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองมาก

การป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
          วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการไข้ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการอักเสบ โดยหากมีอาการบวมกดเจ็บ และคลำเจอก้อนใต้ผิวหนัง หรือรู้สึกเหมือนมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งในร่างกายอย่างผิดปกติ ไม่ควรเจาะ หรือเกา เนื่องจากอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบนั้น สามารถป้องกันอาการรุนแรงหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เมื่อมีอาการเจ็บปวด หรือมีอาการบวมบริเวณที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ควรใช้ของเย็นประคบ จะช่วยบรรเทาอาการได้ ทั้งนี้ หากและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบก็อาจหายอย่างรวดเร็ว แต่คงต้องใช้ระยะเวลาสักพักว่าอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจะลดลง ผู้ป่วยควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาเป็นซ้ำของต่อมน้ำเหลืองอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้วางแผนและหาวิธีป้องกันความรุนแรงของต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การดูแลตนเอง
          การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ การดูแลตามสาเหตุนั้นๆ(เช่น การดูแลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น) ร่วมกับการดูแลสุขภาพทั่วไป

  1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. รักษาความสะอาดต่อมน้ำเหลืองส่วนนั้น ไม่คลำบ่อย ไม่เกา เพราะจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
  3. กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจากการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  4. ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  5. ดูแลตนเองตามสาเหตุของโรคเช่น โรคมะเร็ง วัณโรค เป็นต้น
  6. ถ้ามีการพบแพทย์ ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยาและไม่หยุดยาเอง ร่วมกับพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

          ฉะนั้นอาการที่เกิดร่วมกับภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะภาวะต่อมน้ำเหลืองโตอาจมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่นๆดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป


โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...