วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กรดยูริกสูง สำคัญหรือไม่?


นพ.ทินกร  สถิรแพทย์  ศัลยแพทย์

        กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ โดยมีต้นกำเนิดจากการสลายของเซลล์ คือ DNA และ RNA กลายเป็นกรดยูริก  เมื่อร่างกายไม่มีการสร้างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ใหม่ มีแต่การสลายของเซลล์ออกมาก เช่น ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงเกิดกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย และไม่พบปัญหานี้ในเด็กหรือในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโต ร่างกายต้องการกรดยูริกในการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่

         ดังนั้น อาหารที่มีเซลล์มากได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ และหนังสัตว์ จะให้กรดยูริกมากกว่าส่วนอื่นของสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ ดังนั้นการรับประทานสัตว์ปีกเช่นเนื้อไก่โดยไม่รับประทานหนังไก่ จะไม่เพิ่มกรดยูริกในเลือดมากนัก ตรงกันข้ามกับหนังไก่ หนังเป็ด ซึ่งอุดมไปด้วยกรดยูริกและคอเลสเตอรอล

         เมื่อเราตรวจร่างกายประจำปีและพบว่า กรดยูริกในเลือดสูง คือ มากกว่า 7 มก.ต่อ ดล. และไม่มีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก แพทย์ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้การรักษา เพียงแต่ให้ระวังการรับประทานอาหารดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นความรู้ในอดีต



                                                   

         น้ำตาลฟรุคโตส หรือ ซูโครส เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจำเป็นต้องสลายน้ำตาลฟรุคโตสโดยการใช้ ATP และ ATP จะถูกเปลี่ยนเป็น ADP ซึ่งโดยปกติ ADP จะถูกนำไปสร้างเป็น ATP ใหม่ แต่การมีน้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากเกินไปจะไปขัดขวางการสร้าง ATP จึงถูกสลายเป็นกรดยูริก จะเห็นได้ว่ากรดยูริกนี้เกิดจากการสลายของ ATP ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในเซลล์ ทำให้เซลล์อ่อนแอและแก่เร็ว และยังเพิ่มกรดยูริกในเลือดด้วย

            การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลฟรุคโตสมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และโรคเบาหวาน กอปรกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจด้านซ้ายทำงานหนักและเกิดหัวใจโต และมีความเสี่ยงสูงที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายได้ง่าย

         ปัจจุบันเมื่อพบว่ากรดยูริกในเลือดสูง จึงแนะนำให้รับการรักษาด้วยยาเพื่อลดกรดยูริกทันทีที่ตรวจพบ ร่วมกับการจำกัดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ และหนังสัตว์ โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดข้อ และจำกัดการรับประทานน้ำตาลฟรุคโตสที่อยู่ในรูปของน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และน้ำตาลทราย

         เมื่อปฏิบัติตามเช่นนี้ ก็ควรตรวจเช็คเลือดหากรดยูริกในอีก  3 เดือนถัดมา ซึ่งก็จะมั่นใจได้ว่าค่ากรดยูริกจะกลับมาเป็นปกติ และโอกาสที่เราจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจก็ลดน้อยลงมาก

         สรุปได้ว่า กรดยูริกในเลือดมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่าที่เราทราบ เพราะมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง และในอนาคตอาจจะทราบผลเสียของกรดยูริกสูงมากกว่านี้อีก


วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การกลับมาของวัณโรคและการอุบัติของ XDR-TB


 นพ.อุทัย เจษฎาพร  อายุรแพทย์

          วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่มีในโลกนี้ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์  ในอดีตนั้น เมืองเชียงใหม่ก็สามารถพบโรคนี้ได้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน  ดังปรากฏให้เห็นได้ในพระราชหัตถเลขาข
องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งมาทรงงานในฐานะแพทย์ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิคของเรา เมื่อปี พ..2472 ความตอนหนึ่งว่า “TB มีมากเต็มที และไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่มีโรงพยาบาลพิเศษหรือ sanatorium สำหรับรักษารายที่ไม่หนักนัก การเรื่อง T.B.นี้ทำให้ฉันสนใจมากอยากให้มี Anti T.B.Society”

          วัณโรคได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมาก จนกระทั่งได้มีการค้นพบยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงรักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ เมื่อก่อนนั้นเรารักษาวัณโรคต้องฉีดยาในระยะต้นๆ และรับประทานยาพร้อมๆกันไปด้วยรวมทั้งสิ้นใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต่อมาก็มียาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรับประทานแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องฉีดยาก็ได้รวมระยะเวลาทั้งสิ้นแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง ก็สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้  ทำให้มีการคาดกันว่าโรคนี้น่าจะหมดไปในระยะเวลาไม่นานนัก  แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  เรากลับพบว่าวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงสำหรับมนุษยชาตินี้มิได้หายไปจากโลกนี้ กลับเพิ่มทวีขึ้น  และมีการดื้อต่อยาที่รักษา  เราเรียกว่าวัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB) และสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดขณะนี้พบว่า มีการบังเกิดของวัณโรคพันธุ์ใหม่ที่ร้ายกว่าเดิมคือ XDR-TB (วัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง)


            ก่อนอื่นเรามาทบทวนความจำกันสักนิดว่าวัณโรคนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการไอหรือการจาม เริ่มมีอาการด้วยไข้ต่ำๆ ซึ่งมักเป็นตอนบ่าย เหงื่อออกเวลากลางคืน ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ และอาจมีเลือดปน หรือไอออกเลือดสดๆก็ได้  มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดจนผอมแห้ง  โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียที่ทนต่ออากาศแห้ง แถมอยู่ในอากาศได้นาน  วัณโรคอาจเป็นกับอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หรือผิวหนัง แต่เรามักพบที่ปอดมากกว่าที่อื่นๆ การกลับมาของวัณโรคครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า วัณโรคเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข เป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุการตายในหลายๆประเทศในโลกนี้ สำหรับประเทศไทยในการจัดอันดับของความชุกของวัณโรคพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 17 และเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่วัณโรคเป็นปัญหารุนแรง เพราะเมื่อปี พ..2550 มีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 50,000 ราย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 91,000 รายทีเดียว

           เมื่อเรามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัณโรคแล้ว ต่อไปให้เรารู้จักกับวัณโรคพันธุ์ดื้อยา วัณโรคพันธุ์ที่ดื้อยาร้ายแรงต่อไป วัณโรคพันธุ์ดื้อยา (MDR-TB = Multidrug Resistant TB) คือ สายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ตัวหลักของ first-line TB drugs คือ Isoniazid และ rifampicin (first-line TB drugs มี Isoniazid, refampicin, ethambutol, pyrazinamide และยาเสริม first-line อีกคือ streptomycin, rifabutin และ rifapentine)  ส่วนวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรง (XDR-TB, extensive drug Resistant TB, หรือ Extreme Drug Resistant TB) คือ MDR-TB ที่ดื้อต่อยา 3 ตัวหรือมากกว่าใน 6 ตัวหลักของ second-line TB drugs (quinolones, capreomycin, amikacin, ethionamide, PAS และcyclocerine)  ตามรายงานของ WHO และ CDC ปี 2000-2004 พบว่ามี XDR-TB ในทุกๆภูมิภาคของโลก แต่พบมากในประเทศที่เคยเป็นบริวารเก่าของอดีตสหภาพโซเวียตและเอเซีย  ในอเมริกาพบ 4% ของ MDR-TB  ประเทศลัตเวียพบถึง 19% ของ MDR-TB สำหรับเมืองไทยเราพบวัณโรคพันธุ์ดื้อยาร้ายแรงนี้ไหมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ถึงเดือนมิถุนายน 2550 ยังไม่พบว่ามี XDR-TB ในเมืองไทย แต่ที่โรงพยาบาลศิริราชได้พบว่าตัวอย่างเชื้อ MDR-TB 13 ราย ที่เก็บไว้ที่ธนาคารเชื้อวัณโรคของโรงพยาบาลศิริราชน่าจะเป็น XDR-TB ซึ่งเชื้อบางรายเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2544 ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีผู้ป่วย XDR-TB ในเมืองไทย

           อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มี XDR-TB
  1.     การให้ยาที่ไม่ถูกชนิดหรือถูกขนาด โดยแพทย์หรือผู้ให้การรักษาอื่นๆ
  2.     ยาคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือการขนส่งยาที่ไม่ถูกต้อง
  3.     ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
           สำหรับประเทศไทยนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญที่ทำให้มีเชื้อระบาดและดื้อยาคือ เชื้อจากแรงงานผิดกฎหมาย และการระบาดของโรคเอดส์

           โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้ประกาศให้มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเราคาดหวังว่าเราจะดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานสากลตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเข้ามารับการบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน การชันสูตรโรคที่ได้มาตรฐาน การให้ยาที่มีคุณภาพ ตลอดจนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เราก็สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยนั้นๆ ให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานของประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อวัณโรคและป้องกันการเกิดเชื้อที่ดื้อต่อยา คือ MDR-TB และที่ร้ายแรงที่สุดคือ XDR-TB








วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มนต์เรียกลูกค้า

อ้อมทิพย์  ศรีสุวรรณ์  หัวหน้าตึกเฮเลนนิวแมน 3/Nursery
                                                                                              
                   เคยมีใครตั้งข้อสงสัยถึงบางสิ่งบางอย่างใกล้ตัวหรือเปล่า  อย่างเช่น บางทีร้านอาหารอยู่ติดๆกันหลายๆร้าน กลับมีร้านอยู่ร้านเดียวที่มีลูกค้าเข้าคิวรออยู่เยอะแยะ บางร้านแทบไม่มีคนเข้าร้านเลย ทั้งๆที่อาหารดี คุณภาพใกล้ๆเคียง เมนูอาหารก็เหมือนกัน มันต้องมีอะไรซักอย่างที่มากกว่านั้นแน่
                      แต่ตอนนี้จะมาตั้งข้อสังเกตเรื่องของถนนสายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลย่านชุมชนคลินิก โพลีคลินิก คลินิกเฉพาะทาง ทั้งโรค หู ตา กระดูก อายุรกรรม ทันตแพทย์ ทุกๆคลินิกมารวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ใกล้ๆกัน ในถนนสายตลาดสามแยก หากหลังห้าโมงเย็นเป็นต้นไป ใครไปตลาดเพื่อช็อบปิ้งการรักษาพยาบาลตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วล่ะก็  เชิญเลือกสรรหาตามใจชอบ ว่าใครเป็นอะไรจะเข้ารักษาโรคระบบไหน ช็อบปิ้งได้ตามใจชอบ
                     แต่ก็อีกนั่นแหละ….  เอ๊ะ! ทำไมคลินิกของหมอคนนี้ คนไข้เยอะจัง คลินิกของหมอฝั่งตรงข้ามกลับไม่มีคนไข้เลย หรือมองอีกทีก็มีแค่บางตา..  บางคลินิกทำสถานที่ใหญ่โต ประดับตกแต่งสวยงาม สะอาดสะอ้านแต่ก็ไม่สามารถเรียกลูกค้าได้เท่าคลินิกที่ดูธรรมดาๆ  แต่การรักษาน่าเชื่อถือ เครื่องมือและหมอก็สูงอายุ ต้องมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ภายใต้คนไข้ที่ฝากความเชื่อถือและมารักษาเป็นประจำ..  ความลับที่ว่านั้นคืออะไรกัน
                    วันหนึ่งเมื่อลูกสาวไม่สบาย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ  ได้พาลูกสาวไปหาหมอที่คลินิกแห่งนั้น เย็นนั้นมีคนไข้คราคร่ำหนาตาเช่นเคย..  หมอคนเดียววุ่นเข้าห้องตรวจห้องนั้น ออกห้องนี้ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  แต่ทุกๆครั้งที่ตรวจอาการคนไข้เสร็จแล้ว  หมอก็จะนั่งลงบอกถึงวิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อให้หายเร็วๆ ดังนี้
                   หนูเป็นไข้นะครับ….  อย่ากินขนมหวานเยอะ น้ำเย็น ของหวานของเย็นงดกินก่อนนะครับ อาบน้ำอุ่นด้วย  คุณหมอท่าทางใจดีบอกเด็กน้อยหน้าแดงเพราะพิษไข้ที่จ้องตาแป๋วอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจฟัง
                   โรคนี้มันติดต่อกันได้ทางลมหายใจ ไอ จาม นะครับ 
ถ้าจะให้ดี แม่หาผ้ามาปิดปากให้ด้วยก็ดี อย่าไอจามรดกัน” 
คำอธิบาย สั้นๆเข้าใจง่าย สองสามประโยคนั้นมีความหมายมหาศาล
เพราะลูกสาวเชื่อฟังเป็นอย่างดี ไม่มีแอบกินไอติมหรือ
ช็อคโกแลตอย่างเคยแถมคุณหมอใจดียังแนะนำให้
กินผักผลไม้เยอะๆ และเด็กน้อยก็กินเมนูผักและผลไม้โดยไม่งอแง 
ทั้งๆที่ปกติจะไม่ชอบกินเป็นอย่างยิ่ง แต่เพราะคุณหมอสั่ง
                    นอกจากยาแก้อักเสบที่สั่งรักษาเหมือนๆ กันตามตำรารักษาแล้ว คุณหมอยังกรุณาบอกวิธีปฏิบัติตัวให้หายป่วยเร็วๆ อีกด้วย  ทุก case ขอย้ำว่า ระหว่างนั่งสังเกตอยู่ คุณหมอมีคำแนะนำเฉพาะโรคทุก case และคนไข้ก็ตั้งอกตั้งใจฟังเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง  ยกตัวอย่างเช่นลูกสาวผู้เขียนเป็นต้น คำแนะนำง่ายๆ เหล่านี้ บางทีเราก็คิดว่าคนไข้รู้แล้ว หรือลืมให้ความสำคัญไป แต่ถ้าหากผู้ที่ให้การรักษาพยาบาลไม่ลืม และย้ำให้คนไข้ได้รู้ได้เข้าใจและปฏิบัติตามก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง
                    ถ้าหากจะมีประโยชน์ยิ่งกว่านั้นก็คือ เราจะต้องไม่ลืมหน้าที่ของพยาบาลของเราด้วย  บางสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราปล่อยให้หลงลืมหายไป เพราะคิดว่าคนไข้น่าจะรู้ น่าจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง หรือคนใกล้ชิดน่าจะบอกแล้ว  ถ้าหากเราคิดอย่างนั้นก็น่าเสียดายว่า บทบาทของพยาบาลจะถูกกลืนหาย และในท่ามกลางถนนของการรักษาพยาบาลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เราจะถูกทิ้งให้เป็นคลินิกที่มีคนไข้บางตาที่นั่งมองคลินิกฝั่งตรงข้ามว่า ทำไมคลินิกฝั่งตรงข้ามถึงมีคนมาให้รักษาหนาแน่น น่าเชื่อถือ ความลับของการครองใจคนไข้คืออะไร ?   

คำแนะนำในการทำกิจวัตรประจำวันสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม

    อนุชิต อุปเวียง  นักกิจกรรมบำบัด
              
             โรคข้อเสื่อมมีอยู่ 2 ชนิด  คือ โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)(RA)  และ โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)(OA)

    โรครูมาตอยด์/Rheumatoid Arthritis(RA)
             เป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติทำให้ข้อต่ออักเสบปวดและบิดงอผิดรูป โดยมากพบที่มือทั้งสองข้างเท่าๆกันเนื่องจากโรคข้อเสื่อมชนิดนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วยเอง  บางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการหนัก บางช่วงก็อาจรู้สึกสบายดีสลับกันไป

    โรคข้อเสื่อม/(Osteoarthritis)(OA)
             เป็นโรคของความเสื่อมเนื่องจากอายุหรือจากการที่ข้อต่อนั้นถูกใช้งานหนักมากเกินไปมาเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหน้าของกระดูกข้อต่อสึกหรอจนรู้สึกปวดในขณะเคลื่อนไหวหรือแม้แต่เมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆและเกิดแคลเซียมไปสะสมทำให้ข้อต่อยึดติด เคลื่อนไหวไม่ได้ โรคข้อเสื่อมชนิดหลังนี้เป็นได้กับทุกข้อต่อ แต่โดยมากมักพบในข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ เช่น สะโพก เข่า ข้อมือ และนิ้วมือ เป็นต้น
               
               โรคข้อเสื่อมทั้งสองชนิดนี้มักพบในผู้สูงอายุ แต่สำหรับโรครูมาตอยด์อาจเกิดขึ้นในวัยกลางคนได้ อาการข้อเสื่อมทั้งสองชนิดสร้างความทรมานและความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอันมาก  ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานยาจนครบแผนการรักษา   ปรึกษานักกายภาพบำบัดเมื่อมีอาการปวด นักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและฝึกหัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนแปลงวิธีการทำกิจกรรมต่างๆ ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละคน  ดังนี้
               ข้อควรปฏิบัติข้อแรก  ผู้ป่วยควรทำใจให้สบายและทำความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นภาวะเรื้อรังที่เราสามารถควบคุมความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ความเครียดเป็นปัจจัยเร่งให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง แต่การผ่อนคลายช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีของร่างกาย
              ข้อควรปฏิบัติที่สอง คือ การพัก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง พักในที่นี้เป็นการพักจิตใจ คือผ่อนคลายและพักร่างกาย คือ การนอนหลับให้เพียงพอ การหยุดพักระหว่างช่วงเวลาทำงานเพื่อป้องกันข้อต่อที่กำลังถูกใช้งานไม่ให้ถูกทำลายมากเกินไป อาจจะใช้เครื่องดามประคองให้ข้อต่อนั้นได้พัก
               ข้อควรปฏิบัติที่สาม  การจัดท่าทางให้เหมาะสมในอิริยาบถต่างๆ เช่น ผู้ป่วยรูมาตอยด์ เวลานอนไม่ควรเอาหมอนรองใต้เข่าเพราะจะทำให้เข่ายึดแข็งในอนาคต แต่ควรใช้หมอนใบเล็กๆหนุนคอเท่านั้น ควรนั่งเก้าอี้สูงและมีที่เข้าแขนเพื่อให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้สะดวกไม่มีแรงกดต่อสะโพกมากเกินไป   เวลาลุกจากเก้าอี้ก็ควรรักษาร่างกายให้อยู่ในแนวสมมาตร/สมดุล  การระวังรักษาเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดและป้องกันข้อต่อบิดงอผิดรูปได้
               ข้อควรปฏิบัติที่สี่  ฝึกหัดวิธี Joint protection คือ การทำงานด้วยท่าทางที่ปกป้องข้อต่อไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้อต่อได้รับอันตรายจากการทำงาน ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
                4.1 Respect pain  คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตามถ้ารู้สึกว่าเจ็บหรือปวดแม้เพียงเล็กน้อยจะต้องหยุดทำและหลีกเลี่ยงงานหรือท่าทางที่ทำให้เจ็บ ถ้าจำเป็นจริงๆก็ควรแบ่งขั้นตอนของงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆทำทีละนิดอาจใช้เวลานานขึ้น แต่ดีกว่าทนทำทั้งที่ปวดหรือเจ็บเพราะจะทำให้อาการแย่ลง
                 4.2 การรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรงและรักษาระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อไว้ แนะนำในเรื่องการทำงานบ้านด้วยตนเอง เช่น กวาดบ้าน รีดผ้า ถูบ้าน  กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ควรเคลื่อนไหวเหยียดข้อไหล่  ข้อศอกไปไกลๆและกว้างๆจนเต็มที่ (แต่ไม่ต้องฝืนมากจนเจ็บ) ก็จะเป็นการบริหารข้อต่อ ป้องกันข้อติดแข็ง
                  4.3 หลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้เกิดแรงกดลงบนข้อต่อที่มีปัญหา เช่น ควรเสริมด้ามดินสอ  แปรงสีฟัน ทัพพี หรือมีด ที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (เพราะด้ามจับขนาดใหญ่มีแรงกดลงบนข้อต่อน้อยกว่าด้ามขนาดเล็ก) การถือมีดแบบที่คนทั่วไปถนัดจะทำให้ข้อต่อผิดรูปได้เร็วขึ้นควรเปลี่ยนวิธีถือโดยให้ด้ามมีดอยู่ในอุ้งมือ วางนิ้วชี้บนสันมีด ใช้แรงจากข้อศอกเป็นตัวช่วยหั่น อย่าใช้แรงที่นิ้วมือ
                       เวลาจะลุกจากเก้าอี้ให้ใช้อุ้งมือดันตัวขึ้น อย่าใช้นิ้วหรือสันมือกดลงบนที่เท้าแขน เวลาเปิดฝาขวดหรือบิดลูกบิดประตูต้องบิดมาทางนิ้วโป้งเสมอ (ห้ามผู้ป่วยทำกิจกรรมลักษณะนี้โดยการบิดข้อมือไปทางนิ้วก้อยเด็ดขาด เพราะเป็นการเร่งการทำลายข้อต่อให้ผิดรูปเร็วขึ้นการถือทัพพีคนแกงในหม้อก็ไม่ควรใช้วิธีหมุนข้อมือ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นวิธีกำทัพพีแทนโดยให้ด้ามทัพพียื่นออกมาทางฝั่งนิ้วโป้ง  ตัวทัพพีอยู่ทางนิ้วก้อย คนแกงโดยใช้แรงจากข้อศอก
               ข้อควรปฏิบัติที่ห้า จะต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ถ้าต้องอ่านหนังสือนานๆต้องวางหนังสือไว้บนโต๊ะ อย่าใช้มือถือหนังสือ เพราะน้ำหนักของหนังสือและระยะเวลาที่ต้องถือหนังสือค้างไว้นานๆเป็นอันตรายต่อข้อต่ออย่างมาก
               ข้อควรปฏิบัติที่หก ควรใช้กล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่ามาทำงานแทนกล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่เล็กกว่าหรือแข็งแรงน้อยกว่า รวมทั้งควรกระจายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้างหรือสลับมือข้างที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น ไม่ควรใช้นิ้วยกแก้วน้ำ แต่ให้ใช้อุ้งมือยกแก้วขึ้นมาแทน  การถือจาน ถือจานโดยให้จานวางไว้บนฝ่ามืออย่าใช้แรงจากนิ้วมือ  การสะพายกระเป๋าควรสะพายไว้ที่แขนอย่าใช้นิ้วหิ้ว ใช้วิธีเลื่อนหรือผลักของแทนการยกเมื่อต้องการย้ายของ 

เอกสารอ้างอิง
บุษบงกช เชวงเชาว์.จะให้คำแนะนำผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมอย่างไร.วารสารกิจกรรมบำบัด ปีที่
ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน,2547

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เมื่อมีอาการปวดหลัง ควรทำอย่างไร
















นพ.กวิน  สีห์โสภณ  ศัลยแพทย์กระดูก

             มาดูกันว่า คุณหมอซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูก รักษาคนไข้ที่มีอาการปวดหลังเป็นประจำอยู่ทุกวันนั้น จะมีวิธีรักษาตัวเองอย่างไร
             อาการปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อย มีการประมาณว่า 80% ของคนทั่วไป เคยมีอาการปวดหลังอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ผมคิดว่าน่าจะมากกว่านั้น เพราะลองถามใครๆ ดู ก็เคยปวดกันทั้งนั้น บางคนปวดแล้วปวดอีก ปีละหลายครั้ง ทำให้ต้องหยุดงานโดยไม่จำเป็น
             วันหนึ่งผมเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา แล้วลองใช้วิธีง่ายๆ รักษาตัวเองจนอาการดีขึ้น เลยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ที่มีอาการปวดหลังเช่นกัน วันนั้น ขณะกำลังทำการผ่าตัดใกล้เสร็จนั่งเย็บปิดแผล ก็เกิดอาการเจ็บแปล๊บขึ้นที่หลัง เหมือนมีใครเอาอะไรมาแทง เจ็บจนสะดุ้งตัวขึ้นร้อยโอ๊ยเสียงดัง คนที่กำลังช่วยผ่าตัดก็ตกใจกัน ผมก็พยายามนึกทบทวนว่าเรามีอาการปวดขึ้นมาได้อย่างไร ของหนักก็ไม่ได้ยก จู่ๆ ก็เจ็บขึ้นมาเอง เหมือนคนไข้ที่มาหาผมมักบอกว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย จู่ๆ ก็เจ็บขึ้นมาเองที่เป็นอย่างนั้นเพราะไม่ได้สังเกตตัวเอง อย่างในกรณีนี้ผมพบว่าตัวเองกำลังนั่งผ่าตัดอยู่ในท่าก้มหลังนี้มาประมาณเกือบชั่วโมงแล้ว สาเหตุคือจัดความสูงของเตียงผ่าตัดซึ่งปรับระดับให้สูง-ต่ำได้ เตี้ยเกินไป ไม่พอดีระดับสายตา ทำให้ต้องพยายามนั่งก้มตัวเพื่อให้สายตาอยู่ระดับเดียวกับแผล กล้ามเนื้อหลังคงอยู่ผิดท่ามาตลอด จึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น ตอนเริ่มผ่าตัดก็รู้สึกว่าก้มนิดหน่อยไม่น่าจะเป็นอะไร พอนานเข้าจึงเกิดอาการที่เรียกกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งบางคนก็เรียก เอวเคล็ด ยอก เส้นพลิก ฯลฯ มีอาการเจ็บแปล๊บทุกครั้งที่ก้ม หันบิดเอี้ยวตัว หรือลุกเปลี่ยนท่า
             หลังจากนั้นผมรักษาตัวเองอย่างไร... 

             1.  นอนกอดเข่า
             หลังผ่าตัดเสร็จวันนั้น ผมรีบหาเตียงหรือเก้าอี้โซฟายาวก็ได้ นอนหงายกอดเข่าทั้ง 2 ข้าง ให้เข่าชิดหน้าอกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยู่นิ่งๆ ในท่านี้ (ดูรูป) ประมาณ 5 นาที จะช่วยยืดกล้ามเนื้อส่วนที่มีการหดเกร็ง สามารถบรรเทาอาการปวดลงได้ทันที 30-40%

นอนหงายกอดเข่า 2 ข้างชิดหน้าอก
ถ้าไม่สามารถนอนหงาย อาจนอนตะแคงก็ได้

             2.  อบซาวน่า
             ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีห้องอบซาวน่า ให้อบซาวน่า 2-3 นาที แล้วออกมาอาบน้ำเย็นอีก 2-3 นาที ทำสลับกันอย่างนี้ ร้อน/เย็น/ร้อน/เย็น สัก 2-3 รอบ อาการจะดีขึ้นมาก เดี๋ยวนี้ตามสโมสรของหมู่บ้านต่างๆ หรือสระว่ายน้ำมักมีซาวน่าไว้ให้บริการ ถ้าไม่มีซาวน่าเราทำเองที่บ้านโดยใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ฉีดน้ำร้อน-น้ำเย็นสลับกัน ถ้าไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นก็ใช้ผ้าชุบน้ำร้อนประคบบริเวณหลังสลับกับผ้าชุบน้ำเย็นแทนก็ได้
             3.  มีสติระมัดระวังอิริยาบถ
             อาการปวดที่เหลือมักเกิดเวลาลุกเปลี่ยนท่า ก้ม บิดเอี้ยวตัว หรือ นั่งนานๆ จึงควรงดอิริยาบถดังกล่าว ถ้าเลี่ยงไม่ได้จะทำให้อาการที่กำลังทุเลา กลับมาเป็นมากอย่างเดิมได้
             การมีสติ คือ รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่งก็ให้รู้ตัวเองว่ากำลังนั่งต้องนั่งให้ถูกท่า กำลังจะก้มก็รู้ตัวว่ากำลังจะก้ม ก็ต้องไม่ก้มใช้ย่อเข่าลงแทน บางคนใจร้อนขาดสติจะหยิบของที่พื้นก็ก้มลงทันที ทำให้อาการปวดที่กำลังดีขึ้นกำเริบขึ้นอีกได้  การปวดหลังของผมครั้งนี้ก็เพราะขาดสตินั่นเอง เพราะมัวแต่มุ่งกับการผ่าตัดจนไม่ได้ระมัดระวังอิริยาบถว่าตนเองกำลังนั่งก้มไม่ถูกท่า เพราะฉะนั้นการมีสตินี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาการปวดหลังกลับมาเป็นอีกได้
             4.  การใช้ยา 
             ถ้าทำตามวิธีต่างๆแล้ว ยังมีอาการปวดอยู่ อาจเริ่มจากยาทาก่อน ผมใช้ยาเป็นหลอดทาบริเวณหลังที่ปวด โดยไม่ต้องถูนวด การนวดจะทำให้ปวดมากขึ้น แล้วถ้ายังปวดผมกินยา Paracetamal ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ค่อนข้างปลอดภัย ราคาถูก หาได้ง่าย ปัจจุบันนี้คนไทยกินยากันมากมายโดยไม่จำเป็น ยาส่วนมากต้องขับผ่านออกทางไต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของคนไข้ที่เป็นไตวายโดยไม่ทราบสาเหตุได้ เพราะฉะนั้นผมจึงขอแนะนำให้กินยาน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

             ผมรักษาตัวเองโดยใช้วิธีต่างๆ ข้างต้น วันรุ่งขึ้นก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติแม้จะมีอาการปวดบ้างแต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเป็นปกติภายใน 3-4 วัน ทั่วไปจะไม่แนะนำให้นอนพักเป็นเวลานานหลายๆ วัน ถ้าหากดีขึ้นควรพยายามกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติให้เร็วที่สุด หากท่านลองรักษาตนเองด้วยวิธีต่างๆแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรมาพบแพทย์






วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา

                                 ภก.เอกพงศ์  ก้อนแก้ว 

อาการแพ้ยามักเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ยามีลักษณะทางเคมีคล้ายกัน หรือในคนที่มีประวัติของโรคภูมิแพ้ (เช่น หืด หวัดเรื้อรัง ลมพิษ ผื่นคันมักจะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติที่ไม่มีประวัติ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้มาก ในหลายคนมักสับสนในเรื่องของการแพ้ยา ซึ่งเข้าใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาทั้งหมดเป็นการแพ้ยา เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ใจสั่น ผื่นคัน แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้จะเรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.อาการข้างเคียงจากยา ผลการเกิดอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา และ
2.การแพ้ยาซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักจะไม่สัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและมักจะพบอาการที่เด่นชัดในระบบผิวหนัง ในบทความนี้จึงขอกล่าวในรายละเอียดของการเกิดผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา (Cutaneous drug eruption) หรือผื่นแพ้ยา หมายถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ยาที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบผิวหนัง รวมทั้ง ผม ขน เล็บและเยื่อบุ อาการดังกล่าวไม่สามารถคาดเดาได้ และสามารถเกิดขึ้นแม้จะได้รับยาขนาดปกติ หรือไม่จำเป็นต้องได้รับในขนาดสูงก็สามารถเกิดผื่นแพ้ยาได้ กลไกของการเกิดการแพ้ยาอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ หลักเกณฑ์ที่พอจะบ่งชี้ถึงการเกิดอาการแพ้ยาได้โดยคร่าวๆ คือ ประวัติการได้รับยาตัวนั้นๆมาก่อนในช่วง 1-2 อาทิตย์ ประวัติภูมิแพ้ โรคร่วมอื่นๆ สถิติของการเกิดผื่นแพ้ยาของยาชนิดนั้นๆ รูปแบบของผื่นที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หากสงสัยอาการแพ้ยาจากยา การหยุดยาที่สงสัยแล้วทำให้อาการของผื่นดีขึ้น และ/หรือเกิดขึ้นอีกหากมีการใช้ยาซ้ำ ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติที่ค่อนข้างละเอียด การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำ skin test หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

รูปแบบผื่นผิวหนังจากการแพ้ยาที่พบได้บ่อยหลังจากใช้ยา
Maculopapular rash
เป็นลักษณะผื่นที่พบได้บ่อย ลักษณะผื่นจะเห็นรูปแบบผื่นอยู่สองแบบคือเป็นผื่นแบนราบ และผื่นนูนสลับกันไป มักมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. ขอบเขตไม่ชัดเจนและมักจะพบร่วมกับอาการคัน โดยผื่นดังกล่าวสามารถขึ้นได้ทั่วตัว มักจะขึ้นเหมือนกันทั้งสองข้าง และสามารถพบหลังจากได้รับยาประมาณ 2-10 วันแรก แต่มักจะไม่เกิน 4 สัปดาห์หลังจากหยุดยา ทั้งนี้ลักษณะผื่นดังกล่าวอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อไวรัส โรคที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นต้น

Urticaria and Angioedema
          ผื่นแพ้ยาที่มักจะรู้จักกันในชื่อของผื่นลมพิษ ลักษณะผื่นเป็นผื่นขอบนูนแดง มีขอบเขตไม่ชัดเจน พบตามลำตัว แขน ขา  มักพบอาการคันร่วมด้วย ในระยะนี้ผื่นมีขนาดเล็กแล้วจะค่อยๆขยายออก มีขอบยกนูนที่ชัดเจนตรงกลางผื่นจะมีสีซีดจาง มักมีรูปร่างไม่แน่นอน ผื่นแพ้ยาลักษณะนี้สามารถเกิดอาการหลังจากได้รับยาประมาณ 5 นาที 1 ชั่วโมง โดยอาจพบอาการผื่นร่วมเช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจเหนื่อยหอบ มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะเป็นต้น ผื่นชนิดนี้มักจะตอบสนองดีต่อยาแก้แพ้ และสเตอร์รอย ลักษณะของอาการแพ้ยาที่เรียกว่า angioedema เกิดจากการแพ้ยาที่เกิดกับเยื่อบุ เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ มักจะมีอาการบวมนูนมากกว่าปกติไม่มีขอบเขตชัดเจน สามารถเกิดได้หลังจากได้รับยาที่แพ้ประมาณ 5-30 นาที หลังจากที่หยุดยาไปแล้วพบว่าอาการบวมดังกล่าวจะไม่หยุบลงทันที อาจใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน

Fixed drug eruption
          ผื่นแพ้ลักษณะราบเป็นวงคล้ายรูปไข่ ขอบชัดเจน สีแดงคล้ำ หรือบางครั้งมักจะพบสีเทาเงิน ซึ่งต่อมาสีจะคล้ำขึ้น แล้วค่อยๆจางไป ตรงกลางผื่นอาจพบตุ่มน้ำพอง ผื่นมักจะมีอาการแสบร้อน เจ็บๆ คันๆ ลักษณะที่ค่อนข้างเด่นของผื่นแพ้ยาชนิดนี้คือ เมื่อได้รับยาที่เป็นสาเหตุอีกครั้ง หรือในกรณีที่ได้รับยาซ้ำ รอยผื่นจะขึ้นบริเวณเดิมทุกครั้ง อาจจะพบการเพิ่มใหม่ในบริเวณอื่น โดยปกติผื่นมักจะขึ้นหลังจากรับยาประมาณ 30 นาทีจนถึง 1 วัน

Erythema multiforme
          ผื่นลักษณะนี้มักมีอาการนำมาก่อน เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว หรือบางครั้งพบอาการปวดตามข้อ ในช่วงแรกลักษณะผื่นอาจจะคล้ายกับ maculopapular rash แต่จะเห็นเป็นลักษณะเป็นวงชัดเจนกว่า จะไม่ค่อยพบผื่นราบ ต่อมาบริเวณตรงกลางผื่นที่เป็นวงจะพองคล้ายกับเป็นตุ่มน้ำ และต่อมาจะเป็นสีคล้ำ ทำให้มีลักษณะคล้ายรูปธนู ซึ่งอาจจะเรียกรอยโรคชนิดนี้ว่า Target lesion หรือ iris lesion ผื่นสามารถเกิดขึ้นได้ตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขนขา และเยื่อบุต่างๆ

           นอกจากผื่นที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีผื่นอีกหลายชนิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพ้ยา ผื่นบางชนิดเกิดทั่วตัวและมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะ หรือผื่นบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และอาจเป็นโอกาสทำให้ถึงแก่ชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นผื่นแพ้ยาแบบ
      Exofoliative dermatitis     Steven-Johnson syndrome (SJS)   หรือ Toxic epidermal necrolysis (TEN)

           ทั้งนี้การรู้จักผื่นแพ้ยา และเฝ้าระวังหรือคอยสังเกตอาการหลังจากรับประทานยา เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำ รวมไปถึงการลดโอกาสในการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง หากเกิดอาการที่สงสัยว่าคล้ายกับแพ้ยาหลังจากได้รับยาชนิดนั้นๆไป ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาเองเพราะบางทีอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่อาการแพ้ที่รุนแรงจนทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรืออาจจะไม่ใช่อาการแพ้ยาเพียงแต่เป็นผลข้างเคียงของยา ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากมีอาการดังกล่าว

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

                                       
                                              
ทพญ. สุนารี พุทธิรักษ์กุล

ในผู้สูงอายุ โดยปกติระบบต่างๆของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอย ฟันและเนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากก็เช่นกันเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
  ฟัน   ผิวเคลือบฟันจะมีความแข็งแกร่งลดลง หรือเปราะมากขึ้น ฟันอาจแตกบิ่นได้ง่ายเมื่อถูก
       กระแทกแรงๆ สีของฟันจะเข้มขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้การสะท้อนแสงและความแวววาวลดลง
  เหงือก เหงือกจะร่น จากการสูญเสียการยึดเกาะของเยื่อปริทันต์ หรือเป็นโรคปริทันต์ 
       ทำให้ฟันดูยาวขึ้น การแปรงฟันแบบผิดวิธีแบบถูไปมา หรือใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรง
       แข็งเกินไปหรือขนแปรงเก่าจนแตก จะทำให้เหงือกร่นได้มากขึ้น
  เอ็นยึดปริทันต์ เอ็นยึดปริทันต์เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่ช่วยยึดรากฟันไว้กับกระดูกเบ้าฟัน จะมีจำนวน
            น้อยลงและหย่อนประสิทธิภาพ ถ้าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ จะถูกทำลายได้ง่าย
            และรวดเร็ว ทำให้ฟันโยกได้ง่ายและเร็วขึ้น
  กระดูกเบ้าฟัน กระดูกเบ้าฟันจะเปราะบาง จากการสูญเสียแคลเซียม อาจแตกหักได้ง่าย 
            ถ้าถูกกระแทกแรงๆ
  ต่อมน้ำลาย   เซลล์ของต่อมน้ำลายที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำลายมีจำนวนน้อยลง ทำให้มักมีอาการปากแห้ง


ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่สำคัญ และพบได้บ่อย ได้แก่

  1.ฟันผุและรากฟันผุ  โรคฟันผุ มีปัจจัยเสี่ยงคือ การมีช่องปากแห้ง การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน การมีอนามัยช่องปากไม่ดีเพราะความเจ็บป่วยของโรคทางร่างกาย เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ ภาวะเครียด ซึมเศร้า มักมีการผุที่รากฟันร่วมด้วยเพราะเหงือกร่น รากฟันโผล่
  2.โรคปริทันต์  โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง ลุกลามเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มีผลไปถึงเอ็นยึดฟันและกระดูกเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยก ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น คือโรคทางระบบต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ยาที่ใช้รักษาโรค การสูบบุหรี่
  3.ฟันสึก ฟันสึกจากด้านบดเคี้ยวมักพบในฟันกราม จากการขบเคี้ยวอาหารแข็ง หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อยๆ หรือใช้เฉพาะบริเวณนั้นเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่อง และฟันสึกบริเวณด้านข้างแก้มตรงคอฟัน จากการแปรงฟันด้วยแปรงขนแข็งและแปรงผิดวิธีแบบถูไปมา อาจทำให้มีอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมากๆ ก็อาจลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตาย ตัวฟันหักได้
  4.น้ำลายแห้ง  จากการหลั่งน้ำลายลดลง และอาจเกิดจากการรับประทานยารักษาโรคทางระบบหลายชนิดเป็นเวลานาน ภาวะปากแห้งทำให้เคี้ยว กลืน พูดลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ อาจพบการติดเชื้อรา และมีอาการปวดแสบปวดร้อนในปาก
  5.การสูญเสียฟันและปัญหาจากการใส่ฟันปลอม  อาจมีการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ต้องได้รับการใส่ฟันปลอม  และอาจมีปัญหาในการใส่ฟันปลอม เช่น อาการปากแห้งเพราะน้ำลายน้อยทำให้มีผลต่อการยึดติดของฟันปลอมแบบถอดได้
  6.แผล/มะเร็งช่องปาก  แผลในช่องปาก ได้แก่ แผลร้อนใน แผลบาดเจ็บจากฟันปลอม แผลอักเสบมุมปาก ซึ่งเกิดจากการสูญเสียฟันหลังหลายๆซี่ หรือฟันสึกมากๆ หรือการใส่ฟันปลอมที่มีความสูงไม่ถูกต้อง ทำให้มุมปากย่นทบกัน ระคายเคืองและถ้าเปียกชื้นจากน้ำลายตลอดเวลาจะเกิดการอักเสบติดเชื้อ รวมถึงอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร การได้รับยาปฏิชีวนะนานๆ มะเร็งช่องปาก เกิดจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นานๆ อาจเกิดจากฟันแหลมคม ฟันปลอมที่ทำให้ระคายเคือง การกินหมากพลู อมยาฉุน สูบบุหรี่และดื่มเหล้า

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

      1.    การทำความสะอาด
1.1 ฟันและช่องปาก
- การเลือกใช้แปรงสีฟัน  ควรเลือกใช้แปรงที่มีด้ามจับได้ถนัดมือ ยาวพอเหมาะ ส่วนตัวแปรงไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดช่องปาก มีขนแปรงที่นิ่ม ปลายมน และควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เมื่อขนแปรงบาน หรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน
       กรณีผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อมือ หรือไม่สามารถควบคุมการใช้มือในการแปรงฟันแบบธรรมดาได้ดี อาจแก้ไขได้โดย เลือกใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าเพื่อผ่อนแรง หรือปรับปรุงขนาดของด้ามแปรงสีฟันทั่วไป ให้จับได้เหมาะมือ เช่น ปรับปรุงส่วนของด้ามแปรง ให้เหมาะกับการกำ เช่น ใช้ยางที่เป็นมือจับของจักรยานสวมทับด้ามแปรงสีฟัน ยึดด้วยกาวหรือดินน้ำมัน หรืออาจเพิ่มสายรัดยึดแปรงไว้กับมือ โดยใช้วัสดุน้ำหนักเบา ไม่ดูดซับน้ำ เช่น หลอดพลาสติก หรือสายน้ำเกลือ ผูกติดกับด้ามแปรง โดยปลายหนึ่งผูกไว้ทางด้านขนแปรง และอีกปลายผูกที่ปลายด้ามแปรง


        - วิธีแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ยาสีฟันชนิดครีมที่ผสมฟลูออไรด์ นานประมาณ 2 นาที โดยแปรงให้ทั่วถึง ทุกซี่ ทุกด้าน โดยเฉพาะคอฟัน และซอกฟัน หลังแปรงฟันแล้ว อาจจะแปรงทำความสะอาดลิ้นเบาๆ  และเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น ไม้จิ้มฟัน ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียว
1.2 ฟันปลอม
- ฟันปลอมชนิดถอดได้  หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ควรถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาด โดยใช้แปรงสีฟันขนอ่อนกับน้ำสบู่ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้ผงขัด ขณะล้างควรมีภาชนะรองรับ เพื่อกันฟันปลอมตกแตก ถ้ามีคราบฝังแน่นติดฟันปลอมสามารถแช่ในน้ำยาแช่ฟันปลอม หรือน้ำผสมเม็ดฟู่สำหรับฟันปลอมช่วยขจัดคราบและฆ่าเชื้อโรคได้และที่สำคัญก่อนนอนต้องถอดฟันปลอม เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน และเอาฟันปลอมแช่น้ำไว้เสมอ ไม่ให้ฟันปลอมแตกแห้ง
       - ฟันปลอมชนิดติดแน่น  ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าทำความสะอาดใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกด้วย

2.    การเลือกรับประทานอาหาร
  - ควรเลือกอาหารพวกโปรตีนย่อยง่าย ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง รสไม่หวานจัด
  - ควรลดอาหารที่หวานจัด นิ่มละเอียดมากๆ หรือเหนียวติดฟัน เพราะจะเกิดการตกค้างได้มาก ทำความสะอาดยาก เกิดฟันผุง่าย
  - ควรลดอาหารเปรี้ยวจัด หรือน้ำอัดลม เพราะมีกรด ทำให้ฟันสึกกร่อน
  - ควรรับประทานอาหารให้เป็นมื้อ ไม่ควรกินจุบจิบ โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหาร
  - สำหรับผู้ใส่ฟันปลอม ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทาน โดยเฉพาะอาหารเหนียวและแข็ง

 3.   การเสริมสร้างความแข็งแรงของช่องปาก
          3.1 การเสริมสร้างความแข็งแรงของตัวฟัน
          ควรใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ เพื่อป้องกันฟันผุ มีแบบใช้ได้เองทั่วไปคือ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ และแบบที่ทันตแพทย์เป็นผู้ให้บริการ คือ ฟลูออไรด์เข้มข้นแบบเจล วานิช ทาเคลือบที่ฟัน
          3.2 การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น
          - การบริหารใบหน้า จะช่วยปลุกเส้นประสาท กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น แก้ม ปาก และลิ้น ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น  แนะนำให้ทำหลังล้างหน้าตอนเช้า มี 3 ขั้นตอน แต่ละขั้นใช้เวลาประมาณ 10 วินาที แล้วผ่อนคลาย จากนั้นให้ปฏิบัติซ้ำตั้งแต่ต้นอีก 3 รอบ ดังนี้


 - การบริหารลิ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลิ้นดีขึ้น คลุกเคล้าอาหารได้ดี ช่วยให้ออกเสียงพูดได้ชัดเจนขึ้น และช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร มีวิธีบริหาร 2 แบบ คือ การบริหารโดยการเปิดปาก และการบริหารโดยการปิดปาก มีขั้นตอนดังนี้ 




การกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย

การนวดต่อมน้ำลาย จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากขึ้น แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร การนวดต่อมน้ำลายมี 3 ต่อม ได้แก่ ต่อมใต้หู ต่อมใต้คาง ต่อมใต้ลิ้น หลังจากตรวจสอบตำแหน่งที่จะนวดแล้ว ให้ปฏิบัติตามขั้นตอน 1-3 แล้วทำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง




       แม้ในวัยสูงอายุ ก็ยังคงสามารถรักษาสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และคงสภาพการใช้งานให้นานที่สุดได้  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอ  มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งแล้ว คือ การเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง:
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เรื่องน่ารู้สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย. [ออนไลน์]. 
เข้าถึงได้จาก : http:// dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/PR/E-book/elderly/keld.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).
ทญ. วรางคณา เวชวิธี. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง สำหรับผู้สูงอายุ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://happysmile.anamai.moph.go.th/dentalh/elderly.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).
ทพ. จรัลพัฒน์ เขจรบุตร. For ฟันสวย.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547.


โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...