วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา

                                 ภก.เอกพงศ์  ก้อนแก้ว 

อาการแพ้ยามักเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ยามีลักษณะทางเคมีคล้ายกัน หรือในคนที่มีประวัติของโรคภูมิแพ้ (เช่น หืด หวัดเรื้อรัง ลมพิษ ผื่นคันมักจะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติที่ไม่มีประวัติ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้มาก ในหลายคนมักสับสนในเรื่องของการแพ้ยา ซึ่งเข้าใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาทั้งหมดเป็นการแพ้ยา เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ใจสั่น ผื่นคัน แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้จะเรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.อาการข้างเคียงจากยา ผลการเกิดอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา และ
2.การแพ้ยาซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักจะไม่สัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและมักจะพบอาการที่เด่นชัดในระบบผิวหนัง ในบทความนี้จึงขอกล่าวในรายละเอียดของการเกิดผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา (Cutaneous drug eruption) หรือผื่นแพ้ยา หมายถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ยาที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบผิวหนัง รวมทั้ง ผม ขน เล็บและเยื่อบุ อาการดังกล่าวไม่สามารถคาดเดาได้ และสามารถเกิดขึ้นแม้จะได้รับยาขนาดปกติ หรือไม่จำเป็นต้องได้รับในขนาดสูงก็สามารถเกิดผื่นแพ้ยาได้ กลไกของการเกิดการแพ้ยาอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ หลักเกณฑ์ที่พอจะบ่งชี้ถึงการเกิดอาการแพ้ยาได้โดยคร่าวๆ คือ ประวัติการได้รับยาตัวนั้นๆมาก่อนในช่วง 1-2 อาทิตย์ ประวัติภูมิแพ้ โรคร่วมอื่นๆ สถิติของการเกิดผื่นแพ้ยาของยาชนิดนั้นๆ รูปแบบของผื่นที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หากสงสัยอาการแพ้ยาจากยา การหยุดยาที่สงสัยแล้วทำให้อาการของผื่นดีขึ้น และ/หรือเกิดขึ้นอีกหากมีการใช้ยาซ้ำ ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติที่ค่อนข้างละเอียด การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำ skin test หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

รูปแบบผื่นผิวหนังจากการแพ้ยาที่พบได้บ่อยหลังจากใช้ยา
Maculopapular rash
เป็นลักษณะผื่นที่พบได้บ่อย ลักษณะผื่นจะเห็นรูปแบบผื่นอยู่สองแบบคือเป็นผื่นแบนราบ และผื่นนูนสลับกันไป มักมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. ขอบเขตไม่ชัดเจนและมักจะพบร่วมกับอาการคัน โดยผื่นดังกล่าวสามารถขึ้นได้ทั่วตัว มักจะขึ้นเหมือนกันทั้งสองข้าง และสามารถพบหลังจากได้รับยาประมาณ 2-10 วันแรก แต่มักจะไม่เกิน 4 สัปดาห์หลังจากหยุดยา ทั้งนี้ลักษณะผื่นดังกล่าวอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อไวรัส โรคที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นต้น

Urticaria and Angioedema
          ผื่นแพ้ยาที่มักจะรู้จักกันในชื่อของผื่นลมพิษ ลักษณะผื่นเป็นผื่นขอบนูนแดง มีขอบเขตไม่ชัดเจน พบตามลำตัว แขน ขา  มักพบอาการคันร่วมด้วย ในระยะนี้ผื่นมีขนาดเล็กแล้วจะค่อยๆขยายออก มีขอบยกนูนที่ชัดเจนตรงกลางผื่นจะมีสีซีดจาง มักมีรูปร่างไม่แน่นอน ผื่นแพ้ยาลักษณะนี้สามารถเกิดอาการหลังจากได้รับยาประมาณ 5 นาที 1 ชั่วโมง โดยอาจพบอาการผื่นร่วมเช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจเหนื่อยหอบ มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะเป็นต้น ผื่นชนิดนี้มักจะตอบสนองดีต่อยาแก้แพ้ และสเตอร์รอย ลักษณะของอาการแพ้ยาที่เรียกว่า angioedema เกิดจากการแพ้ยาที่เกิดกับเยื่อบุ เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ มักจะมีอาการบวมนูนมากกว่าปกติไม่มีขอบเขตชัดเจน สามารถเกิดได้หลังจากได้รับยาที่แพ้ประมาณ 5-30 นาที หลังจากที่หยุดยาไปแล้วพบว่าอาการบวมดังกล่าวจะไม่หยุบลงทันที อาจใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน

Fixed drug eruption
          ผื่นแพ้ลักษณะราบเป็นวงคล้ายรูปไข่ ขอบชัดเจน สีแดงคล้ำ หรือบางครั้งมักจะพบสีเทาเงิน ซึ่งต่อมาสีจะคล้ำขึ้น แล้วค่อยๆจางไป ตรงกลางผื่นอาจพบตุ่มน้ำพอง ผื่นมักจะมีอาการแสบร้อน เจ็บๆ คันๆ ลักษณะที่ค่อนข้างเด่นของผื่นแพ้ยาชนิดนี้คือ เมื่อได้รับยาที่เป็นสาเหตุอีกครั้ง หรือในกรณีที่ได้รับยาซ้ำ รอยผื่นจะขึ้นบริเวณเดิมทุกครั้ง อาจจะพบการเพิ่มใหม่ในบริเวณอื่น โดยปกติผื่นมักจะขึ้นหลังจากรับยาประมาณ 30 นาทีจนถึง 1 วัน

Erythema multiforme
          ผื่นลักษณะนี้มักมีอาการนำมาก่อน เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว หรือบางครั้งพบอาการปวดตามข้อ ในช่วงแรกลักษณะผื่นอาจจะคล้ายกับ maculopapular rash แต่จะเห็นเป็นลักษณะเป็นวงชัดเจนกว่า จะไม่ค่อยพบผื่นราบ ต่อมาบริเวณตรงกลางผื่นที่เป็นวงจะพองคล้ายกับเป็นตุ่มน้ำ และต่อมาจะเป็นสีคล้ำ ทำให้มีลักษณะคล้ายรูปธนู ซึ่งอาจจะเรียกรอยโรคชนิดนี้ว่า Target lesion หรือ iris lesion ผื่นสามารถเกิดขึ้นได้ตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขนขา และเยื่อบุต่างๆ

           นอกจากผื่นที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีผื่นอีกหลายชนิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพ้ยา ผื่นบางชนิดเกิดทั่วตัวและมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะ หรือผื่นบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และอาจเป็นโอกาสทำให้ถึงแก่ชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นผื่นแพ้ยาแบบ
      Exofoliative dermatitis     Steven-Johnson syndrome (SJS)   หรือ Toxic epidermal necrolysis (TEN)

           ทั้งนี้การรู้จักผื่นแพ้ยา และเฝ้าระวังหรือคอยสังเกตอาการหลังจากรับประทานยา เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำ รวมไปถึงการลดโอกาสในการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง หากเกิดอาการที่สงสัยว่าคล้ายกับแพ้ยาหลังจากได้รับยาชนิดนั้นๆไป ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาเองเพราะบางทีอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่อาการแพ้ที่รุนแรงจนทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรืออาจจะไม่ใช่อาการแพ้ยาเพียงแต่เป็นผลข้างเคียงของยา ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากมีอาการดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...