วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การรักษาหลุมสิว



   หลุมสิวนับว่าเป็นปัญหากวนใจของคนที่ปล่อยให้สิวอักเสบมันลุกลามจนกินพื้นที่ลึกลงไปถึงเนื้อใน ถึงขั้นทำให้เนื้อหายจนกลายเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่วนบางคนก็พลาดหนักยิ่งกว่านั้น คือพยายามบีบสิวอย่างผิดวิธีจนทำให้สิวอุดตันธรรมดาๆ กลายเป็นสิวอักเสบ พร้อมกับไปกระตุ้นสิวนั้นให้รุนแรงหนักกว่าเดิม ถ้าจะบอกว่าหลุมสิวมักจะเกิดจากตัวเองก็ไม่ผิดนัก เพราะความจริงแล้วการป้องกันที่ดีที่สุด คือการพยายามป้องกันไม่ให้ตัวเองมีสิวอักเสบ หรือถ้าเป็นแล้วก็ต้องรีบหาทางปฏิบัติเพื่อทำให้สิวอักเสบยุบเร็วขึ้นโดยไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ แต่ถ้าช้าเกินไป จนพลาดไปมีหลุมสิวอยู่บนใบหน้าแล้ว ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆแก้ไขกันต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำให้ผิวเติมเต็มหลุมสิวได้เหมือนเดิม 100% แต่เราก็สามารถทำให้เซลล์เนื้อเยื่อใหม่ฟื้นฟูและเติมเต็มหลุมได้ถึง 70-80%

ระดับความรุนแรงของหลุมสิว
มีการแบ่งหลุมสิวออกเป็น 3 ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งประเภทการรักษา
          1. Rolling scar เป็นหลุมสิวแบบตื้นอาจมีขนาดกว้างแต่ไม่กินลึกถึงชั้นหนังแท้ เป็นหลุมสิวประเภทที่รักษาได้ง่ายกว่าอีก 2 ประเภทต่อไป หลุมสิวประเภทนี้เกิดจากการแกะเกาผิวหน้า
          2. Boxcar scar เป็นหลุมลึกกว่า Rolling scar มีขอบเขตชัด ก้นหลุมไม่ลึกถึงรูขุมขนหรือชั้นหนังแท้เกิดจากสิวอักเสบหรือรอยโรค เช่น สุกใส
          3. Ice pick scar เป็นหลุมชนิดปากแคบแต่มีความลึกถึงรูขุมขน หลุมชนิดนี้เกิดจากการกดหรือบีบสิวอุดตันมีการทำลายลึกลงไปถึงชั้นผิวหนังแท้ ทำให้ส่วนผลิตคอลลาเจนหายไปด้วย หลุมสิวชนิดนี้รักษายากและดีขึ้นช้า




วิธีรักษาหลุมสิว
การรักษาหลุมสิวบนใบหน้า จะถูกแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆคือ
          1.การรักษาด้วยการทายา   เป็นการรักษารอยหลุมตื้นๆซึ่งมักจะเป็นรอยหลุมระดับทั่วไป (Rolling scar) ยาที่นำมาใช้ทำให้ผิวตื้นขึ้นก็จะมีหลายชนิดด้วยกัน
          2. การรักษาด้วยการรับประทานยา เป็นยาที่สกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือRetinoids
         3. การรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ที่มีหลุมสิวขนาดใหญ่มหึมาจนยาทาและยากินก็ช่วยไม่ไหว หรือเรียกได้ว่าเป็นหลุมแบบลึก Ice pick scar และ Box scar ซึ่งเป็นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการทายาและครีมบำรุงร่วมด้วย ซึ่งการรักษาแต่ละแบบอาจถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีหลุมลึก หรืออาจใช้ร่วมกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาหลุมสิวด้วยเครื่องเลเซอร์ชนิด Fractional Co2 จะช่วยให้หลุมสิวตื้นขึ้น และสีผิวดูสม่ำเสมอขึ้น



การป้องกันการเกิดหลุมสิวและการดูแลตัวเอง
          การดูแล ในระหว่างการรักษาเรื่องการดูแลและป้องกันตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เช่น คุณต้องพยายามป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นสิวอักเสบ งดดื่มแอลกอฮอล์(เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างคลอลาเจน)ถ้าหากไม่ได้อยู่ในระหว่างการรักษา คุณสามารถ สครับหน้าได้อาทิตย์ละครั้ง โดยเลือกสครับที่ไม่รุนแรงมากนัก บำรุงผิวด้วยสกินแคร์ที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ไปนวดหน้าบ้างเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนมีการสร้างคลลาเจนมาช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของผิว เซลล์ผิวของคุณจะได้ทำงานได้ดีขึ้น หรือบางคนอาจรับประทานยาเสริมพวกคลอลาเจนก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อการสนับสนุนการสร้างคลอลาเจนจากภายในสู่ภายนอก แต่ถ้าหากเรายังมีปัญหาสิวอยู่บนใบหน้า การขัดหน้านวดหน้าก็ยังเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ทางที่ดีควรจะรักษาสิวให้หายก่อน แล้วค่อยมาจัดการกับจุดด่างดำและหลุมสิวภายหลัง ที่สำคัญคือ ต้องใจเย็นๆ ต้องรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาดีและยังทำให้ผิวมีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

          แน่นอนว่าฟังดูอาจจะง่ายแต่จริงๆไม่ง่ายเลย แต่ก็ควรค่าแก่การทดลองเพราะการเกิดหลุมสิวเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มเอามากๆ&nbspเพราะนอกจากหน้าสวยๆหล่อๆ จะพังแล้ว การรักษายังยืดเยื้อยาวนาน และมีค่าใช้จ่ายสูงอีกต่างหาก.


เส้นเอ็นข้อไหล่อักเสบ




เส้นเอ็นข้อไหล่คือเส้นเอ็นขนาดเล็ก 4 เส้นที่อยู่บริเวณรอบข้อไหล่ เส้นเอ็นกลุ่มนี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบักทอดผ่านข้อไหล่และยึดเกาะส่วนบนของกระดูกต้นแขน ทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ เช่นกางแขน ยกแขน หมุนไหล่เป็นต้น
โรคนี้จะปวดไหล่และมีการกดเจ็บและเคลื่อนไหวไหล่ได้น้อยลงมาก ในระยะแรกสาเหตุ คือ พยาธิสภาพที่เกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อ ในระยะต่อมาจะมีการอักเสบเสื่อมในตัวข้อไหล่เอง ทำให้ไหล่ติดแข็ง

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่โดยเฉพาะเวลายกหรือขยับไหล่อาจมีอาการปวดร้าวลงไปบริเวณต้นแขนได้ บางคนอาจมีอาการขัด ขยับไหล่ลำบากหรือบวมบริเวณไหล่ร่วมด้วย อาการเริ่มแรกอาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้ายังมีการใช้งานต่อไป อาการปวดอาจรุนแรงมากขึ้น อาจปวดตอนกลางคืนหรือปวดตอนพักได้ รู้สึกแขนล้าไม่มีแรง สุดท้ายพิสัยการเคลื่อนไหวจะลดลงและทำกิจกรรมบางอย่างลำบาก เช่นสระผม เกาหลัง ติดกระดุมหรือรูดซิบที่อยู่ด้านหลัง



สาเหตุ

การอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่เกิดจากการใช้งานไหล่ซ้ำๆกันโดยเฉพาะงานที่ต้องยกแขนสูง เช่นปัดฝุ่นหรือเช็ดถูประตู-หน้าต่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ ทาสีฝาผนังหรือเพดาน หรืองานหนักที่ต้องใช้แรงไหล่มาก เช่นงานที่ต้องยก แบกหรือหามของหนัก หรือพบในนักกีฬาที่ต้องยกแขนสูง เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ แบทมินตัน


การวินิจฉัย

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีกระดูกงอกบริเวณใกล้เคียงกับเส้นเอ็นไหล่ และทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกงอกกับเส้นเอ็น หรือแพทย์สงสัยโรคหรือภาวะอื่นๆของกระดูกและข้อไหล่ ในบางกรณีอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่นเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) เช่นมีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย


การรักษา

มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดและทำให้กลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น สุขภาพ อายุ และการใช้งานที่ต้องการ ซึ่งการรักษามี 2 แนวทาง ได้แก่
1.การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด




ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มการรักษาด้วยวิธีนี้ โดยอาการปวดจะค่อยๆลดลง และการใช้งานจะค่อยๆดีขึ้นจนกลับไปใช้งานได้ปกติ อาจใช้เวลาในการรักษานานหลายสัปดาห์จนกระทั่งหลายเดือน ประกอบด้วยหลายวิธี ได้แก่
-การพักและปรับเปลี่ยนการใช้งาน เช่นหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยกแขนสูง
-การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบ ลดอาการบวมและอาการปวดได้
-การทำกายภาพบำบัด โดยการฝึกยืดเยื่อหุ้มข้อเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ให้สามารถกลับไปขยับและใช้งานได้เหมือนปกติ เมื่ออาการปวดลดลงแล้วจะเริ่มฝึกการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่
-การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณรอบๆเส้นเอ็นที่อักเสบ สามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ ใช้ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการพัก การรับประทานอาหารและการทำกายภาพบำบัด
2.การรักษาโดยการผ่าตัด




ผู้ป่วยที่เป็นมานานและไม่ดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังต้องใช้งานไหล่มากหรือนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุและมีภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้วิธีส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ/หรือกรอหินปูน ผลการรักษาค่อนข้างดีมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถเริ่มกายภาพหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วคือหลังผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น

ฉะนั้นอย่าละเลยอาการปวดอย่างเด็ดขาดเมื่อมีอาการปวดแบบไม่พึงประสงค์หรือดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาก่อนที่อาการจะลุกลาม


การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและสมอง (Stroke)






          ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากขึ้น และโอกาสที่รอดชีวิตมีมากขึ้นเนื่องจากมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การบำบัดฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการผิดปกติและเพิ่มสมรรถภาพของผู้ป่วย.

            ลักษณะอาการที่พบบ่อยคืออัมพาตอ่อนแรง ขยับแขนขาได้น้อย หรือไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ปากเบี้ยว มีน้ำลายไหล พูดไม่ชัด ดูดกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก ชาแขนขาข้างที่อัมพาต ไม่รู้สึกเวลาโดนของร้อน หรือของมีคม ข้อไหล่หลวมหลุด ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่อ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ซึ่งอาจพบได้ในระยะต่อมาของการเป็นอัมพาตแขนและมือปวดบวม ซึ่งอาจเกิดจากการไม่เคลื่อนไหวแขนและขา มีปัญหาด้านการกลืน ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารเข้าปอด และเป็นโรคปอดอักเสบตามมาได้   ปัญหาต่างๆ ควรได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูโดยอาศัยความร่วมมือของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักจิตกรรมบำบัด ทีมผู้รักษา ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้เต็มที่ ตามความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน

การฟื้นฟู

          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักมีความพิการหลงเหลืออยู่ การฟื้นฟูเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของสมองและกล้ามเนื้อ ลดความพิการซ้ำซ้อนเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานและการเข้าสังคม ดังนั้น ทีมสหวิชาชีพ ควรร่วมกันเริ่มตั้งแต่ในระยะแรกที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อที่จะประเมิน วางแผนและให้การฟื้นฟูเนิ่นๆรวมถึงการเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
          การฟื้นฟูสมรรถภาพ ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์อันสูงสุดถ้าได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างรวดเร็วที่สุดหลังจากอาการของโรคคงที่แล้ว ปัญหาต่างๆที่พบในพบในอาการครั้งแรกจาการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการนอนอยู่บนเตียงนานๆ ทำให้เกิดภาวะ deconditioning  ตามมาซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา ข้อยึดติด แผลกดทับ ภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจเป็นต้น
        จุดประสงค์ในการฟื้ฟูในระยะเฉียบพลันคือการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนนิ่งๆบนเตียงนานๆช่วยผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหว โดยเน้นให้มี early activation remobilization การให้ความรู้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งการกระตุ้นและฝึกผู้ป่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง

การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย




   
   1.ปัญหาแขนและขาอ่อนแรง ควรทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวมากขึ้น โดยการจัดท่านอน การบริหารข้อ ฝึกนั่ง ยืน เดิน และขึ้นลงบันได นอกจากนี้ควรฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน ฝึกทำกิจกรรมต่างๆเช่น การรับประทานอาหาร ใส่เสื้อฟ้า และกางเกง อาบน้ำเป็นต้น
   2.ปัญหาด้านการกลืน ในระยะแรกผู้ป่วยที่ยังดูดกลืนอาหารไม่ได้ ควรใช้สายยางให้อาหารก่อน หลังจากอาการทั่วไปดีขึ้น ควรฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ฝึกกลืนโดยใช้อาหารดัดแปลง ถ้าแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารได้ปลอดภัย และเพียงพอ จึงพิจารณาไม่ใช้สายยางให้อาหาร
   3.ปัญหาการสื่อสาร เนื่องจากรอยโรคในสมองซีกซ้าย ควบคุมด้านการพูดการใช้และการรับรู้ภาษา ดังนั้นผู้ป่วยอัมพาตซีกขวาอาจมีปัญหาในการสื่อสารไม่เข้าใจ สิ่งที่ได้ฟัง พูดไม่ได้ ใช้คำผิด ผู้ป่วยควรได้รับกรฝึกเพื่อให้สื่อสารได้มากที่สุด
  4.ปัญหากล้ามเนื้อเกร็ง  ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง จะมีอาการเกร็งมากน้อยขึ้นกับพยาธิสภาพของสมอง บางครั้งอาการเกร็งอาจเป็นอุปสรรคในการบำบัดฟื้นฟู และทำให้ข้อต่างๆยึดติดได้

ปัจจัยที่พยากรณ์การฟื้นฟูได้ผลดี(Positive Predictors)

   1.ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมอย่างเหมาะสม
   2.มีการฟื้นตัวของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเกิดโรค
   3.มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำตัว สะโพก หัวไหล่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนต้น
   4.มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อและสามารถควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัด ได้ภายใน4-6 สัปดาห์หรือไม่เกิน 3 เดือน
   5.มีอารมณ์ดีไม่ซึมเศร้า และมีความตั้งใจในการฝึก
   6.มีการรับรู้ที่ดี

ปัจจัยที่พยากรณ์การฟื้นฟูได้ผลไม่ดี(Negative Predictors)

   1.ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหมดสตินานเกินไป
   2.กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกนานกว่าปกติเช่น นานกว่า 2 เดือน
   3.มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นแขนหรือขาอย่างมาก
   4.ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะอุจจาระได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์
   5.มีอาการละเลยร่างกายครึ่งซีกอย่างรุนแรง
   6.มีความบกพร่องในการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและการได้ยิน
   7.มีความบกพร่องทางสติปัญญาความจำอย่างรุนแรง จนไม่สามารถติดตามขั้นตอนการฝึกได้
   8.เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
   9.มีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างมาก
   10.มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่นโรคหัวใจ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟู
        
    สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะการฟื้นฟูในช่วง 3 เดือนแรกหลังเกิดอาการจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นโอกาสทองของการฟื้นฟู ซึ่งการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องเป็นแบบองค์รวม โดยทำการประเมินผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อค้นหาปัญหาความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ การสูญเสียความสามารถ และความด้อยโอกาส ทำให้สามารถตั้งเป้าหมาย วางแนวทางการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่ครอบครัว สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


อัมพาตจากโรคเลือดในสมองแตก





 อัมพาตครึ่งซีก จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคือ อาจมีการแตก ตีบ หรือตันของหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้สมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายตายไปและหยุดสั่งงาน จึงทำให้เกิดอาการอัมพาตของร่างกายส่วนนั้นๆขึ้นอาการมักจะเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า สโตรก หรืออุบัติเหตุจากหลอดเลือดสมอง
หลอดเลือดในสมองแตกหรือการตกเลือดในสมอง(Cerebral hemorrhage)เป็นสาเหตุที่มีอันตรายร้ายแรงอาจตายได้ในเวลารวดเร็วมักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่เป็นมาแต่กำเนิด(Congenital aneurysm) หลอดเลือดฝอยผิดปกติแต่กำเนิดเป็นต้น หลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้มักจะแตกและทำให้เกิดอาการอัมพาตเมื่อผู้ป่วยอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัว เช่นตับแข็ง โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น บางครั้งก็อาจกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการตกเลือดในสมองได้
สาเหตุ





        โรคหลอดเลือดสมองแตก เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งผนังของหลอดเลือดจะเปราะแตกง่าย หากความดันโลหิตสูงขึ้นมากอย่างฉับพลันอาจทำให้หลอดเลือดแดงแตกได้ จะเกิดลิ่มเลือดคั่งในสมอง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้การแตกของหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่เป็นมาแต่กำเนิดได้

อาการ

        ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดในสมองแตก อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด ขณะทำงานออกแรงมากๆ หรือขณะร่วมเพศ โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า แต่อาจพบอาการดังต่อไปนี้
   1.อาจบ่นปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดศีรษะซีกเดียวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
   2.มีอาการปากเบี้ยว
   3.พูดไม่ชัด หรือ พูดไม่ได้
   4.แขนขาค่อยๆอ่อนแรงหรือเดินขาลาก
   5.อาจชักและหมดสติในเวลารวดเร็ว
   6.ถ้าเลือดตกรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการหมดสติ ตัวเกร็ง รูม่านตาหดเกร็งทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะเสียชีวิตภายใน 1-2 วัน ถ้าตกเลือดไม่รุนแรงก็อาจมีโอกาสฟื้นและค่อยๆดีขึ้น หรือถ้าได้รับการผ่าตัดได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยให้รอดได้

สิ่งที่ตรวจพบ

        การตรวจร่างกาย นอกจากการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่งแล้ว อาจมีอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันเลือดสูง รีเฟลกซ์ของข้อไวกว่าปกติ ในรายที่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันการตรวจร่างกายอาจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น ฟังได้เสียงฟู่ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก อาจมีอาการหมดสติ คอแข็ง อาจตรวจพบรูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ้าเป็นรุนแรงอาจพบรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง

การรักษา

   ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก จะเป็นการรักษาตามอาการ และอาจต้องผ่าตัดสมอง เมื่อปลอดภัยแล้ว จึงมีการรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป



การป้องกัน

การป้องกันมิให้เป็นโรคอัมพาต อาจกระทำได้โดย
   1.การงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก(ถ้าอ้วน) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็ว
   2.หมั่นตรวจเช็คความดันเลือดเป็นประจำ
   3.ตรวจเช็คไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหาทางควบคุมให้เป็นปกติ
   4.ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควรรักษาเป็นประจำอย่าให้ขาดเพราะเมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต
   5.ถ้าเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ(ทีไอเอ)ควรรีบปรึกษาแพทย์ และกินยาแอสไพริน(หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด) ตามแพทย์สั่งเป็นประจำอย่าได้ขาด


          ฉะนั้นเกราะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือหมั่นเช็คร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำปี และป้องกันตัวเองดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ที่สำคัญป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรค หรือป้องกันไม่ให้โรคกำเริบบ่อยๆ หรือถ้าพบว่าตัวเองมีความดันเลือดสูงเป็นประจำ ก็ควรรักษาแบบต่อเนื่อง โอกาสที่หลอดเลือดสมองจะแตกจะลดลงมากและอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งย่อมดีกว่าการปล่อยไว้จนหลอดเลือดสมองแตกแล้วค่อยมาเริ่มรักษา เพราะเมื่อเป็นอัมพาตเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะฟื้นคืนดีดังเดิมย่อมมีน้อยมาก



คอพอก(Goiter)




คอพอก(Goiter) คือ โรคที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นผิดปกติจนสามารถมองเห็นหรือคลำพบซึ่งอาจโตขึ้นตลอดทั่วทั้งต่อมหรือเพียงกลีบใดกลีบหนึ่ง หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อก้อนเดียว หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อตะปุ๋มตะป่ำ ทั้งนี้เกิดโดยที่การทำงานของต่อมไทรอยด์อาจ ปกติ สูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ

สาเหตุของโรคคอพอก
          โรคคอพอก คือโรคที่ต่อมไทรอยด์(Thyroid)ซึ่งอยู่ที่คอโตขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้มีสาเหตุ 3 ประการคือ
1.จากการใช้ยาพวกแอนตี้ไทรอยด์(Antithyroid) เช่น อะมิโน ไทอะโซล(Amino thiazole)หรือยาไทโอ ไซยะเนต(Thiocyanate) ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาไทโอไซยะเนตนี้จะไปกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์รวมไอโอดิน ไอออน ต่อมไทรอยด์จึงทำงานน้อยลง ทำให้ผลิตสารไทรอกซินน้อยลงด้วย
2.ร่างกายได้รับสารกอยโตเจน จากพืชในตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลีที่รับประทานเข้าไปสดๆแต่ถ้าทำให้สุกด้วยการต้มสารนี้จะถูกทำลายไป พืชในตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลี เช่น กะหล่ำปลี ผักกาด ขึ้นฉ่าย หัวผักกาด และแครอท
3.ขาดธาตุไอโอดีน หรือรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนต่ำกว่าความต้องการของร่างกาย ในขณะที่ร่างกายต้องการธาตุนี้มากกว่าปกติ เช่น วัยรุ่น หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อน

อาการและอาการแสดง




       ไม่มีอาการอะไร นอกจากพบว่า มีต่อมไทรอยด์โตขึ้น อาการที่เกี่ยวเนื่องกับต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น กินจุแต่ผอมลง เหงื่อออกมาก ขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีประจำเดือนลดลง ท้องเดิน และอาจพบการเปลี่ยนแปลงที่ตา เช่น ลูกตาโปน อาการเจ็บที่ก้อน มักพบในคอพอกที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ หรือมีเลือดออกในก้อน อาการจากการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง พบในกรณีที่ก้อนโตมาก อาจมีอาการกลืนลำบาก(กดหลอดอาหาร) หายใจลำบาก(มีการกดเบียดของหลอดลม) อาการจากการลุกลามของก้อน อาจมีอาการเสียงแหบ จากการลุกลามไปที่เส้นประสาทเลี้ยงสายเสียง ถ้ามีอาการนี้ มักเป็นมะเร็ง อาการของการกระจายของมะเร็ง อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น หรือมีอาการปวดกระดูก

การวินิจฉัย
       แพทย์วินิจฉัยว่ามีคอพอกได้จากการตรวจคลำต่อมไทรอยด์ และตรวจหาสาเหตุของคอพอกได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะประเภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ การเจ็บป่วยในปัจจุบันและในอดีต ประวัติครอบครัว และประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่นตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง และการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือด้วยการกินน้ำยาแร่รังสี ซึ่งเป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า ไทรอยด์สแกน  บางครั้งอาจต้องเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมไทรอยด์เพื่อการวินิจฉัยโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ

การรักษา
       แนวทางการรักษาโรคคอพอก ขึ้นกับอาการและสาเหตุ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีรักษา เมื่อผู้ป่วยมีอาการปกติ การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ และขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก เพียงปรับประเภทอาหารให้มีธาตุไอโอดีนสูงขึ้น เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล และใช้เกลือที่ผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร ให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อพบมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และให้ยารักษาในเมื่อมีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาจรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสี ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย อายุ และดุลยพินิจของแพทย์ในบางอาการ หรือบางสาเหตุ อาจต้องผ่าตัด เช่นต่อมไทรอยด์โตมากจนก่ออาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง หรือเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

การป้องกัน
       การป้องกันโรคคอพอก คือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุป้องกันได้ บางสาเหตุป้องกันไม่ได้ แต่ดังได้กล่าวว่า โรคคอพอกส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีนในอาหาร ดังนั้นการกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีน จะช่วยป้องกันโรคคอพอกที่เกิดจากขาดธาตุไอโอดีนได้ แต่ถ้ากินไอโอดีนมากไปก็มีโอกาสเกิด   คอพอกได้เช่นกัน ดังนั้น การกินไอโอดินต้องให้มีปริมาณเหมาะสม ไม่กินอาหารทะเลมาก บ่อยเกินไป ดูปริมาณไอโอดีนในวิตามิน เกลือแร่เสริมอาหารเสมอ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่สิ่งแวกล้อมขาตุไอโอดีน ก็ควรใช้ เกลือ หรือน้ำปลาปรุงอาหารชนิดเป็นเกลือไอโอดีน หรือจากปลาทะเล



อาการเสียวฟันคืออะไร ?



      ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาอาการเสียวฟัน โดยมักจะเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อน เย็น หวาน หรือเปรี้ยว เข้าไป ภายใต้สภาวะปกติ บริเวณเนื้อฟันแนวรากของฟัน (ชั้นที่อยู่ล้อมรอบเส้นประสาท) ที่เคลือบด้วยสารเคลือบฟันในตัวฟันและเหงือกที่ ล้อมรอบฟัน เมื่อเวลาผ่านไป สารเคลือบฟันดังกล่าวสามารถบางลง นั่นจึงทำให้การป้องกันลดน้อยลง และเหงือกยังอาจร่นได้ตลอดเวลา เผยให้เห็นพื้นผิวรากฟันที่อยู่ใต้เนื้อฟัน เนื้อฟันมีจำนวนรูหรือท่อที่เชื่อมต่อจากด้านนอกของฟันไปที่ศูนย์กลางเส้นประสาท เมื่อเนื้อฟันเผยออกมา ท่อเหล่านี้จะอาจถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรืออาหารบางชนิด

อะไรเป็นสาเหตุของอาการเสียวฟัน?



การเผยของเนื้อฟันอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากหลาย ปัจจัย สาเหตุบางส่วนที่พบบ่อยมากขึ้นคือ

- ภาวะเหงือกร่นเนื่องจากอายุ หรือการแปรงฟันที่ไม่เหมาะสม

- เครื่องดื่มที่เป็นกรด (เช่น โซดา) ที่ก่อให้เกิดการกัดกร่อนเคลือบฟันและ การเผยของเนื้อฟัน

- การบดฟัน – ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการรู้สึกเสียวแปลบ ทั้งหมดของฟัน

- การแปรงฟันด้วยยาสีฟันด้วยการขัดถูมากๆ การแปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือ การแปรงฟันมากกว่าสามครั้งต่อวัน อาจทำให้เกิดการสูญเสียของสารเคลือบฟัน

- โรคเหงือก ซึ่งอาจมีผลทำให้เหงือกร่นได้

- ฟันบิ่นหรือหักอาจทำให้เผยให้เห็นเนื้อฟัน

ต้องทำอย่างไรได้บ้าง?
   ขั้นตอนแรกในการลงมือจัดการเกี่ยวกับอาการเสียว ฟันทางทันตกรรม นั่นคือ การหาสาเหตุให้พบ ทันตแพทย์มืออาชีพสามารถช่วยคุณในเรื่องนี้ได้ ถ้าความรู้สึกเสียวฟันเนื่องจากการเผยเนื้อฟัน มีขั้นตอนหลายขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้ เช่น ให้ผู้เชี่ยวชาญทางทันตกรรมช่วยหาวิธีลดอาการ เสียวฟัน วิธีการเหล่านี้ได้แก่

- การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม

- การแปรงฟันอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกัน การเสียดสีของสารเคลือบฟันและภาวะ เหงือกร่นได้

- การใช้ยาสีฟันสูตรพิเศษที่จะช่วยลดอาการ เสียวฟัน

- ผู้เชี่ยวชาญทางทันตกรรมสามารถ:

- ใช้การเคลือบฟลูออไรด์ในบริเวณที่สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความ แข็งแรงของฟัน

- กำหนดให้ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์สูงแปรงฟันทุกวัน

- ใส่ตัวยาช่วยฟื้นฟูทางทันตกรรม เพื่อช่วยเสริมสร้างบริเวณที่สูญเสียเคลือบฟัน



เราจะรู้ว่ามีอาการเสียวฟันได้อย่างไร 
   ถ้าคุณเคยรู้สึกปวดเวลาดื่ม/รับประทานน้ำ/อาหารที่ร้อนหรือเย็น คุณกำลังมีอาการเสียวฟัน แต่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คุณคนเดียวเท่านั้น หนึ่งในสี่ของผู้ใหญ่จะพบอาการเสียวฟันซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เราจะรักษาอาการเสียวฟันได้อย่างไร 
   แรกสุดคือการพบทันตแพทย์ อาการเสียวฟันสามารถรักษาให้หายได้ ทันตแพทย์อาจจะสั่งเจลฟลูออไรด์สำหรับแปรงฟัน หรือน้ำยาบ้วนยาฟลูออไรด์ให้ คุณอาจจะลองใช้แปรงสีฟันที่ลดแรงเสียดทานสำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟันโดยเฉพาะ ควรปรึกษาทันตแพทย์ว่าผลิตภัณฑ์ลดการเสียวฟันชนิดไหนที่เหมาะกับคุณ ควรระวังในการแปรงฟันให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้ฟันเสียจนเกิดอาการเสียวฟัน การแปรงที่แรงเกินไป การรัดของฟันปลอม และลวดดัดฟันสามารถทำให้เกิดการเสียดสีและทำลายผิวฟันได้


อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา


        ในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากขึ้นรวมทั้งมีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับนักเรียน อุดมศึกษา ประชาชนทั่วไปและระดับชาติ ผลจากการแข่งขันประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาในแง่ต่างๆมากมายทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุและเกิดจากการฝึกซ้อมมากเกินไปหรือแม้แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการปฐมพยาบาลทำให้นักกีฬาผู้นั้นมีประสิทธิภาพลดลง เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่เกิดเป็นโรคเรื้อรังประจำตัวทำให้เล่นกีฬาไม่ได้หรือแม้แต่จะออกกำลังกายก็ยังทำไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก

       การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และมีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ขาดความระมัดระวังก็อาจเกิดการบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นการมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจะช่วยให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้นและสามารถกลับไปเล่นกีฬานั้นๆได้อีกด้วยความปลอดภัย


ปัญหาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือกีฬาเพื่อการแข่งขันมีสาเหตุหลักจากความไม่พร้อมของกล้ามเนื้อก่อนการใช้งานซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามีหลายสาเหตุได้แก่

   1. โครงสร้างที่ผิดปกติของร่างกายของนักกีฬา

 2. การขาดทักษะการใช้งานที่ถูกต้อง เช่น การใช้งานของกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กับท่าทางที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆการขาดทักษะในการเคลื่อนไหวที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งต้องอาศัยหลักทางฟิสิกส์ร่วมกับกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของร่างกายที่สัมพันธ์กับวิทยศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างถูกหลักวิธี

   3. ใช้กล้ามเนื้อระหว่างการเล่นกีฬานั้นๆ ไม่ถูกต้อง/ไม่เหมาะสม ใช้งานซ้ำๆอย่างต่อเนื่องหรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งมากเกินไป

   4. ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็น

        -ระยะเวลาการฝึกซ้อมไม่เพียงพอ

        -รูปแบบการฝึกซ้อมไม่เหมาะสมกับประเภทกีฬานั้นๆและขาดความต่อเนื่องของการฝึกซ้อม

        -ไม่มีการยืดกล้ามเนื้อก่อน/หลัง และระหว่างการเล่นกีฬาอย่างถูกต้องและเพียงพอ

        -ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและถูกวิธีเมื่อได้รับบาดเจ็บ

   5. การเลือกใช้ชนิดหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬาไม่เหมาะสมกับกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้า ชุดกีฬา อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย

   6. การฝึกซ้อมไม่เฉพาะเจาะจงกับประเภทกีฬา เนื่องจากผู้ให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมขาดความรู้ในประเภทกีฬานั้นๆ

   7. พักผ่อนไม่เพียงพอหลังการออกกำลังกาย

การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดการบาดเจ็บอีก


 1. ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพโครงสร้างของร่างกายและฟังก์ชั่นการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกที่ถูกต้องโดยมีความเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลและประเภทกีฬา

 2. วางแผนการออกกำลังกายด้วยการทดสอบสมรรถนะของกล้ามเนื้อเพื่อนำมาปรับแนวทาง/รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ เช่น ความหนัก จำนวนครั้ง ความถี่ในการออกกำลังกาย เป็นต้น

 3. ให้ความรู้ในการดูแลกล้ามเนื้อทั้งก่อน/หลังและระหว่างการออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย และสามารถนำไปใช้ในขณะเล่นกีฬาได้อย่างถูกต้อง

   4. แนะนำอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ที่เหมาะสมในการเล่นกีฬา ซึ่งรวมถึงความรู้ในการใช้งานเพื่อไม่ทำให้เกิดการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง และส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างผิดๆ ทั้งนี้ในขณะที่ยังมีอาการบาดเจ็บและต้องเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ในการแข่งขัน การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ เช่น การใส่เฝือกอ่อน อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ การใช้เทปช่วยพยุง ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยลดอาการ

เจ็บปวดระหว่างการแข่งขันลดการใช้งานกล้ามเนื้อโดยตรง และช่วยพยุงให้กล้ามเนื้อนั้นใช้งานในส่วนที่ยังทำงานได้บ้างโดยไม่เป็นเพิ่มอาการบาดเจ็บให้กับกล้ามเนื้อนั้นๆนอกจากนี้เทปช่วยพยุงยังใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อกรณีกล้ามเนื้อได้รับการบาดเจ็บหรือนักกีฬามีโครงสร้างที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ



การรักษา


การรักษาส่วนใหญ่มักไม่ต้องผ่าตัดการรักษาอาการบาดเจ็บในการเล่นกีฬา ในช่วง 1-3 วันแรก จะใช้หลักการที่เรียกว่า RICE

Rest: พัก หยุดการเคลื่อนไหว ในส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือลดกิจกรรมและพยายามลดการลงน้ำหนักบริเวณที่บาดเจ็บ

Ice: ประคบเย็น บริเวณที่บาดเจ็บ ครั้งละ 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง

Compression:พันกระชับส่วนที่บาดเจ็บด้วยม้วนผ้ายืด elastic bandage

Elevation: ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อช่วยลดบวม




ฉะนั้นในการเล่นกีฬาถ้ารู้จักการป้องกัน มีการเตรียมความพร้อมก่อนการเล่นกีฬาหรือการซ้อม รวมทั้งการรักษาที่ถูกวิธี ทุกคนจะสามารถออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อแข่งขันหรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ


วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เสียงแหบ



เสียงแหบ คือ ภาวะที่มีเสียงเปลี่ยนผิดปกติไปจากเดิม เช่น เสียงเบาลง เสียงหยาบ เสียงเค้น เสียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ ไม่มีเสียง เสียงขาดหาย เป็นช่วงๆ
อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง หรือที่เรียกว่ากล่องเสียง ตั้งอยู่ภายในบริเวณลำคอใต้โคนลิ้นลงไปในผู้ชายจะเห็นชัดคือส่วนที่เราเรียกว่า ลูกกระเดือก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องเสียง ภายในกล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 2 ชิ้น ที่เราเรียกว่าสายเสียง ขึงตึงจากด้านในของลูกกระเดือกไปยังส่วนหลังของกล่องเสียง สายเสียงนี้สามารถเคลื่อนไหวเปิดปิดให้ลมหายใจเข้าออกได้  แรงดันของลมจากในปอดเคลื่อนขึ้นมาขณะที่สายเสียงปิดอยู่ทำให้มีการสั่นสะเทือนของสายเสียง  กลายเป็นเสียงและเสียงก็จะถูกปรับปรุงให้เป็นคำพูดที่ชัดเจนโดยอวัยวะในช่องปากซึ่งได้แก่ ลิ้น ฟัน เพดาน และอื่น ๆ



เสียงแหบเกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ 

1. ความผิดปกติในโครงสร้างของสายเสียง 
2.ความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสายเสียง

ในกลุ่มเสียงแหบที่เกิดจากความผิดปกติของตัวสายเสียงเองนั้น อาจจะได้แก่ 

  ความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ขึงระหว่างสายเสียงทั้ง 2 ข้าง 
 การอักเสบของกล่องเสียงจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส เช่นขณะเป็นหวัด หรือจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้แต่น้อยเช่นวัณโรคปอด ที่ทำให้มีอาการไอเรื้อรังหรือมีความผิดปกติของสายเสียงเอง

กล่องเสียงอักเสบจากภาวะกรดไหลย้อนคือภาวะน้ำย่อยในกระเพาะออกมาระคายเคืองที่กล่องเสียง บางคนอาจมีอาการเรอเปรี้ยว แสบในอกร่วมด้วย  รู้สึกคล้ายมีก้อนจุกอยู่ในคอ มีเสมหะเหนียวๆ ในคอ และระคายคอ
กล่องเสียงอักเสบจากการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้มีการระคายเคืองของกล่องเสียงและสายเสียง รวมทั้งเป็นปัจจัยเสียงของการเกิดมะเร็งกล่องเสียงด้วย
 ติ่งเนื้อที่เกิดจากการใช้เสียงมาก ใช้เสียงผิดวิธี หรือเนื้องอกของสายเสียง แบ่งได้เป็นชนิดร้ายแรงและชนิดไม่ร้ายแรง
การได้รับกระแทกบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้กระดูกอ่อนของกล่องเสียงแตกหัก
ไฟลวกบริเวณใบหน้าหรือส่วนบนของลำตัว หายใจเอาลมร้อนจัดเข้าไปลวกเยื่อบุของทางเดินหายใจรวมทั้งกล่องเสียง 
สาเหตุอื่นเช่น ภูมิแพ้  เสียงแหบขณะมีรอบประจำเดือน หรือสายเสียงที่เปล่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น
ส่วนกลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสายเสียงโดยที่ไม่พบพยาธิสภาพของเส้นเสียง ได้แก่

          - อัมพาตของสายเสียง คือสายเสียงไม่สามารถขยับได้ตามปกติ อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้าง สาเหตุที่พบบ่อย คือ ภายหลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ที่คอ แล้วมีการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของสายเสียง ทำให้สายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ, มะเร็งต่อมธัยรอยด์, อัมพาตของสายเสียงอาจเกิดจากพยาธิสภาพในส่วนของปอดหรือทรวงอก เช่น มะเร็งในปอด เส้นเลือดในทรวงอกโป่งพอง เป็นต้น
          - พวกที่ใช้เสียงผิดจนติดเป็นนิสัย 
          - พวกที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ อาจทำให้เกิดเสียงเปลี่ยน หรือไม่มีเสียงเลยได้

เสียงแหบจากหวัดหรือคออักเสบ สามารถรักษาได้โดยแพทย์ทั่วไป แต่ถ้าแหบนานเกิน 2 สัปดาห์หรือไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อตรวจสายเสียงและกล่องเสียงโดยตรง ปัญหาเสียงแหบควรได้รับการแก้ไขโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์และบุคลากรด้านนี้โดยตรง
เมื่อไรที่ควรพบแพทย์หู คอ จมูก
►   เสียงแหบนานเกินกว่า 2-3 สัปดาห์
►   เมื่อมีเสียงแหบร่วมกับเจ็บในคอ (ที่ไม่ใช่หวัด) ไอเป็นเลือด มีอาการกลืนลำบาก รู้สึกมีก้อนในคอ คลำได้ก้อนที่คอ
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจสายเสียง และกล่องเสียง โดยใช้กระจกส่องตรวจที่บริเวณกล่องเสียง บางครั้งอาจใช้กล้องขนาดเล็ก (Fiberoptic Laryngoscope) ส่องผ่านจากจมูกลงไปที่คอเพื่อดูกล่องเสียง และบันทึกเทปไว้ การตรวจวิธีนี้ไม่ทรมาน และไม่เจ็บ ถ้าพบก้อนเนื้องอกที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนและให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเสียงแหบ
►   พักการใช้เสียง หรือใช้เสียงเท่าที่จำเป็น
►   ฝึกการออกเสียงที่ถูกต้อง ในกรณีที่ใช้เสียงผิดวิธี เช่น ชอบตะโกน ตะเบ็งเสียงเป็นประจำ
►   หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
►   หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
►   หลีกเลี่ยงภูมิอากาศที่แห้งแล้ง
►   หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด

      ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้หากเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ ถ้ามีตุ่มหรือก้อนเนื้อที่สายเสียงบางครั้งอาจต้องใช้วิธีส่องกล้องเพื่อตัดก้อนเนื้อออก ส่งชิ้นเนื้อตรวจเพื่อการวิจฉัยและการรักษาต่อไป


โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...