วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คออักเสบ (Pharyngitis)




         คออักเสบ (Pharyngitis) เป็นภาวะการณ์อักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไปมีการอักเสบ บวม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ แต่สาเหตุที่พบบ่อยๆจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่
          คออักเสบเป็นภาวะติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่าในผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคมักมีไม่มาก และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วันถ้าเกิดการติดเชื้อไวรัส แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการนานกว่า

สาเหตุของคออักเสบ
          คออักเสบส่วนใหญ่กว่า 90% เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส คอตีบหรือกลุ่มอาการครุ้ป (Croup) โรคหัด หรือไวรัสเอชไอวีเป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง คออักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นโรคคออักเสบ (Strep Throat)จากแบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส(Streptococcus) โดยการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมักเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อซึ่งกระจายอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ หรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่วนสาเหตุอื่นๆที่อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดคออักเสบ ได้แก่
   1.สภาพอากาศหนาวเย็น อยู่ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ซึ่งเอื้อต่อการระบาดของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
   2.มีสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ
   3.กล้ามเนื้อตึงในคอ
   4.อาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
   5.กรดไหลย้อน
   6.ป่วยด้วยการติดเชื้อบริเวณไซนัสบ่อยๆ
   7.มีเนื้องอกบริเวณลำคอ ลิ้น หรือกล่องเสียง
   8.อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เจ็บคอ คออักเสบ หรือเป็นไข้หวัด
   9.อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ
   10.สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย

อาการของคออักเสบ
      บริเวณที่เป็นคออักเสบจะอยู่พื้นที่ระหว่างหลังโพรงจมูกกับกล่องเสียง เมื่อเชื้อเข้ามาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นและทำลายเซลล์จนเกิดการอักเสบ โดยถ้าเป็นเชื้อไวรัสมักจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 วัน แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-5 วัน
1.ในรายที่คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่เจ็บตอนกลืน ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ร่วมกับมีอาการหวัด น้ำมูกใสไหล ไอ เสียงแหบ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
2.ในรายที่คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม มีจุดหนองที่คอหอย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส แต่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย



การวินิจฉัยคออักเสบ


          แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากลักษณะทางคลินิก เช่นประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจดูในลำคอ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และอาจร่วมกับการตรวจทางหู คอ จมูก แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่นการตรวจย้อมเชื้อและหรือเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง เมหะ หรือจากลำคอ การตรวจเลือด(CBC) การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่างๆ การเอ็กซเรย์ภาพปอดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไอมากร่วมกับมีเสมหะมาก

การปฏิบัติตนเมื่อคออักเสบ
   1.ควรหยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้จะลดลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
   2.ควรแยกของใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะแก้วน้ำ ช้อน จาน ชามออกจากผู้อื่น และเวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกเสมอ
   3.รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง และลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
   4.พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำ
   5.รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน เป็นต้นโดยรับประทานครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
   6.กลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของช่องปากและเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น
   7.งดการใช้เสียง งดการสูบบุหรี่และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
   8.ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น และรับประทานยาพาราเซตตามอลเป็นครั้งคราวเมื่อมีไข้หรือเจ็บคอมาก
   9.อมยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  10.ถ้ามีอาการน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ มีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ หรืออาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน ให้รีบไปพบแพทย์
  11.ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
 12.ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลง  เช่นยังมีไข้สูง หรือมีอาการเจ็บคออีก หลังจากอาการเดิมดีขึ้นแล้ว ยังคงมีเสียงแหบหลังจากอาการต่างๆดีขึ้นแล้ว รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย มีผื่นขึ้นตามมาหลังจากมีไข้หรือหลังไข้ลง มีน้ำมูกหรือเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองหรือยังคงมีน้ำมูก เสมหะเรื้อรังหลังจากอาการต่างๆหายแล้ว

          ผู้ที่เป็นโรคคออักเสบมักจะเกิดในฤดูหนาวและติดต่อกัน ฉะนั้นเมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวเบื้องต้น โดยเฉพาะถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ทันทีก่อนอาการจะลุกลามนะคะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...