วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทำซุปก้อนจากก้างปลา…ทำได้จิงอ่ะ…

โดย.... คุณศกุณตลา  อินถา
หัวหน้าแผนกโภชนาการ




เชื่อไหมคะว่า…ทำได้จริง….




เรื่องมันเริ่มมาจากผู้ป่วยสั่งข้าวต้มปลา….DK  จึงต้องสั่งซื้อปลามาจากตลาดเราจะสั่งปลาทับทิมตัวละ  1  กิโลกรัมมาแล่เอาเฉพาะเนื้อปลามาใช้   แต่ด้วยนักโภชนาการมานั่งคิดว่าเมื่อเราแล่เอาเนื้อปลาออก  จะเหลือเนื้อปลาที่ติดอยู่ตามก้างปลา  แก้มปลา  ความเสียดายก็เกิดขึ้นเราลองเอาก้างปลาที่เหลือมาต้มแล้วแกะเนื้อปลาออกมาทำน้ำพริกปลา  ลาบปลา  แกงส้ม หรือขนมจีนน้ำยาเป็นต้น ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย การสั่งปลาลง 1-4  กิโลกรัมต่อเมนู 
จากนั้นความเสียดายก็เกิดขึ้นอีกเราเสียดายก้างปลาอีกจึงมานั่งคิดกันว่าเราจะเพิ่ม
มูลค่าของก้างปลาได้อย่างไรอีก



และนี่คือจุดเริ่มต้นของงานวิจัย




ศึกษาความเป็นไปได้และการนำไปใช้ประโยชน์ของซุปก้อนแปรรูปจากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้ 



จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้  มาผลิตเป็นซุปก้อน พบว่าสามารถทำได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในแผนกโภชนาการอาทิ  หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน  5  ปอนด์ต่อตารางนิ้ว  เครื่องปั่นอาหาร  กระชอน  แม้กระทั่งเครื่องปรุงรสต่างๆ  สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารในแผนกโภชนาการได้  อีกทั้งยังตรวจพบคุณค่าสารอาหารต่างๆ ในซุปก้อนดังนี้ 

คุณค่าสารอาหารที่ตรวจพบ
ซุปก้อน 10 กรัม
แร่ธาตุทั้งหมด
3.533   กรัม
ไขมัน
0.636   กรัม
โปรตีน
1.155   กรัม
คาร์โบไฮเดรต
2.300   กรัม
น้ำ
2.376   กรัม





อีกทั้งยังปราศจากการใช้แอมโมเนียหรือยูเรีย และโซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นวัตถุดิบหลักเหมือนเช่นซุปก้อนที่มีอยู่ขายกันในปัจจุบัน 

ข้อจำกัดในการวิจัยครั้งนี้


  1. จากการนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้  มาผลิตเป็นซุปก้อนครั้งนี้  ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในแผนกโภชนาการอาทิ  หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน  5  ปอนด์ต่อตารางนิ้ว  เครื่องปั่นอาหาร  ซึ่งหากต้องนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้ จำนวนมากมาต้มและบดให้ละเอียดนั้น  จะต้องใช้หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน   เครื่องปั่นอาหารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
  2. ในการตรวจสอบหาคุณค่าสารอาหารในซุปก้อนที่ได้จากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้  ในส่วนของ การวิเคราะห์แร่ธาตุนั้น ได้ทำการวิเคราะห์แร่ธาตุรวม  ไม่ได้วิเคราะห์แร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแร่ธาตุอื่นๆ   ซึ่งน่าจะพบแร่ธาตุดังกล่าวในปริมาณมาก

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

  1.  น่าจะทำการทดลองวิเคราะห์แร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแร่ธาตุอื่นๆ  รวมทั้งตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นในซุปก้อนที่ได้จากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้เมื่อเวลาผ่านไป
  2. การดัดแปลงต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วย
  3. ทำการจดสิทธิบัตร  ซุปก้อนที่ได้จากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้
  4. จัดทำเครื่องประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ซุปก้อนเพื่อการต่อยอด

มารู้จักโรคเลือดจางธาลัสซีเมียกันเถอะ

โดย ... พญ.ลัลธริมา ภู่พัฒน์    อายุรแพทย์โลหิตวิทยา

 

ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคเลือดจางชนิดหนึ่ง ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และพบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร เกิดจากความผิดปกติในการสร้างสายโกลบิน (Globin)  ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hb) หรือสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย 

ในคนปกติจะมีการสร้างสายโกลบิน 2 ชนิด คือสายเบต้า และสายแอลฟ่า เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน ในปริมาณเท่าๆกัน แต่คนที่เป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียจะไม่สามารถสร้างสายโกลบินชนิดใดชนิดหนึ่งได้ หรือสร้างได้ในปริมาณที่น้อยกว่าอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้น จึงทำให้ปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคนี้มีปริมาณน้อยลง เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ตัวเล็ก และแตกง่าย เนื่องจากเม็ดเลือดแดงไม่มีความยืดหยุ่น ถูกจับทำลายได้ง่ายโดยม้าม ผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจึงมีอาการโลหิตจางมาแต่กำเนิด ตัวเหลืองตาเหลืองเนื่องจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง ถ้าเป็นมากจะเติบโตไม่สมอายุ หน้าตาเปลี่ยนไปเนื่องจากกระดูกใบหน้าขยายตัว ตับม้ามโต และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา บางชนิดอาการรุนแรงมากทำให้บวมน้ำ และเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ครรภ์มารดา

การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียเป็นแบบลักษณะด้อย (autosomal recessive) ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงต้องได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติมาจากทั้งพ่อและแม่ ส่วนผู้ที่ได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติ จากพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่ง จะมีพันธุกรรมผิดปกติเพียงครึ่งเดียว เรียกว่าเป็น พาหะ ซึ่งจะไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ผิดปกตินั้นต่อไปยังลูกหลานได้  เนื่องจากประชากรไทยเป็นพาหะจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทราบว่าตนเองและคู่สมรส เป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ เพื่อทราบความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งควรตรวจก่อนแต่งงาน หรือก่อนมีบุตร หากคู่แต่งงานใดเป็น คู่เสี่ยงคือเป็นพาหะที่มีโอกาสมีลูกเป็นธาลัสซีเมีย และตัดสินใจที่จะมีบุตร สามารถตรวจว่าเด็ก
ในครรภ์เป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ได้ด้วยวิทยาการในปัจจุบัน โดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำ เจาะเลือดจากสายสะดือ หรือตัดชิ้นเนื้อรกไปตรวจ
การรักษาโรคธาลัสซีเมีย แบ่งเป็นการรักษาให้หายขาด และการรักษาตามอาการ  การรักษาให้หายขาด ปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียว คือ การปลูกถ่ายไขกระดูกโดยนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้อื่นที่มีความเข้ากันได้มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดแรงซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่มีความผิดปกติ จากนั้นจะนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้อื่นที่เข้ากันได้มาให้กับผู้ป่วยทางเส้นเลือด  และรอให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้ให้เติบโตขึ้นเป็นเม็ดเลือดแดงใหม่ซึ่งมีความปกติ แต่วิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นค่อนข้างอันตราย มีโอกาสเสียชีวิตในขั้นตอนการรักษาได้ และการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นเพียงการแก้ความผิดปกติของไขกระดูกเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขพันธุกรรม ดังนั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะมีการสร้างเม็ดเลือดได้ปกติแล้ว ก็ยังมีพันธุกรรมที่ผิดปกติซึ่งถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้

การรักษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงยังคงเป็น การรักษาตามอาการ ซึ่งประกอบด้วย

1. การให้เลือดเพื่อแก้ไขภาวะซีด ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับเลือดที่ไม่เพียงพอ จะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ เจริญเติบโตช้า  ไขกระดูกส่วนต่างๆ ทำงานหนักเพื่อสร้างเม็ดเลือดขึ้นชดเชยเม็ดเลือดแดงที่แตกไป จึงมีการขยายขนาดของกระดูกใบหน้า และกระดูกอื่นๆ ทำให้มีรูปหน้าเปลี่ยนแปลงไป กระดูกพรุนและหักง่าย นอกจากนี้ยังมีการขยายขนาดของตับม้าม เพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีตับม้ามโตร่วมด้วย
2. การรับประทาน กรดโฟลิค เสริมตลอดชีวิต เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือด
3. การรับประทานยาฆ่าเชื้อ ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ได้รับการตัดม้าม ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น จึงควรได้รับวัคซีนก่อนตัดม้าม และได้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อจนกว่าจะอายุเกิน 5 ปี
4. การขับเหล็ก เนื่องจากผู้ป่วยธาลัสซีเมีย จะมีการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และได้ธาตุเหล็กปริมาณมาก จากการรับเลือดแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ และควรได้รับยาขับเหล็ก เมื่อมีค่าเฟอร์ริติน ซึ่งแสดงถึงธาตุเหล็กในร่างกายเกิน 1000 ไมโครกรัมต่อลิตร

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคมือเท้าปากเป็นแผล


โดย นพ.โสรัจ ลักษณ์ไกรศร  (กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
  • เกิดจากเชื้อไวรัสหลายตัว เช่น Enterovirus 71, Coxsackievirus A5,A7,A9 และ A10 ,Coxsackie virus B2 และ B5
  • มักเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และ ระบาดในฤดูฝน
  •  สถิติการเกิดโรคในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 1 ก.ค. 2555 พบโรคมือเท้าปาก 10,813 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต
  • การติดต่อ: เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อที่เปื้อน ในน้ำมูก น้ำลาย หรือ อุจจาระ ผู้ป่วยส่วนน้อยเกิดจากการไอจามรดกัน การรักษา : รักษาตามอาการ ไม่มียาเฉพาะเจาะจงเด็กทั่วไป 95% จะหายใน 5-7 วัน
  • โรคแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต คือ สมองอักเสบและหัวใจล้มเหลว
  • อาการแสดง ที่บ่งว่า เป็นโรครุนแรงและอาจมีโรคแทรกซ้อน
  1.  มีไข้สูง ร่วมกับมีอาการ เหนื่อยหอบ ร่วมกับ ชักเกรง , สั่น , แขนขาอ่อนแรง 2. 2.
  2. ไข้สูง > 39 องศา ร่วมกับอาการ อาเจียน ท้องเสีย ทานน้ำ และอาหารไม่ได้

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

1.  มะเร็งปากมดลูกมีโอกาสเกิดขึ้นกับสตรีทุกคนที่มีความเสี่ยง
มะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากเชื้อไวรัส human papillomavirus (HPV) ชนิดความเสี่ยงสูง
 ซึ่ง   สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อนี้อยู่  จึงพบบ่อยในสตรีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ 
ได้แก่
  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน หรือ ถ้าสตรีคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนเดียว แต่ผู้ชายคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรีหลายคน ก็จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน
  • การสูบบุหรี่จัด  เป็นปัจจัยสำคัญ โดยไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
  • การตั้งครรภ์และมีบุตรหลายคน
  • ประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส หนองใน เชื้อรา หูดหงอนไก่
  •  สตรีที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะรับประทานเกิน 10 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึงสองเท่า
  • สตรีที่แต่งงานกับผู้ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือผู้ชายเป็นมะเร็งที่องคชาต
  • สตรีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน


2.   มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ทำให้เกิดความทรมาน  เริ่มตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่กระจาย จะมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีตกขาวกลิ่นเหม็น และเมื่อมะเร็งเริ่มกระจายออกด้านข้างมดลูก จะไปอุดตันหลอดไต ทำให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก แล้วท้นกลับไปที่ไต ไตจะบวม และค่อยๆเสียไปในที่สุด  นอกจากนี้ ถ้ามะเร็งลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งติดอยู่ด้านหน้าปากมดลูกจะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าลุกลามไปด้านหลัง ไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จะทำให้อุจจาระมีเลือดปน ถ้ากระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานทำให้ขาบวม  นอกจากนี้ มะเร็งยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะไกลๆ โดยทางหลอดเลือด เช่น ไปที่ ปอด สมอง กระดูก ทำให้หายใจลำบาก ไอมาก ปวดกระดูก ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นตามลำดับ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก
      3.  มะเร็งปากมดลูกมักเกิดกับสตรีวัยทำงาน (มีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว) สำหรับประเทศไทย พบมากสุดในสตรีอายุ 45 – 50 ปี
   
      4.   มะเร็งปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจึงสามารถตรวจพบตั้งแต่เริ่มมี dysplastic cell และรีบให้การรักษาซึ่งจะลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกในเวลาต่อมา
     
 
5.   
มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกไม่แสดงอาการ  อาการที่พบบ่อยของมะเร็งปากมดลูก คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีตกขาวผิดปกติ  แต่ถ้าเป็นแผล มักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งชะล่าใจ นึกว่าไม่มีอาการผิดปกติอะไร จึงละเลยการตรวจภายใน

       6.   การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี ได้แก่
6.1   Pap smear (conventional Pap smear) เป็นวิธีที่ใช้มานานกว่า 60 ปี ด้วยการป้ายเก็บเซลล์จากปากมดลูกลงบนแผ่นสไลด์  แช่แผ่นสไลด์ในน้ำยา และส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ ซึ่งเซลล์บนแผ่นสไลด์อาจมีมูกเลือดบดบัง เซลล์ซ้อนทับกัน อาจบดบังเซลล์มะเร็งได้ ทำให้อ่านผลยาก การตรวจวิธีนี้มีความไวในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น 53%
6.2   ThinPrep (liquid based thin layer preparation Nanda)  ในปี ค.ศ.1996 เริ่มมีการนำ วิธีนี้มาใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ไม้กวาดยาง ป้ายเก็บเซลล์จากปากมดลูกแล้วมาแกว่งในน้ำยาตินแพร็พ มีลักษณะพิเศษ สามารถสลายมูกเลือดและเม็ดเลือดแดงได้ เซลล์บนกระจกแก้วจึงไม่มีมูกเลือดบดบัง เซลล์เรียงตัวแบบบาง ค้นหาเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น ใช้ระบบคอมพิวเตอร์คัดกรองเซลล์และยืนยันเซลล์มะเร็งอีกครั้งด้วยนักเทคนิคการแพทย์   มีความไวในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น 74% แนะนำสำหรับผู้หญิงตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 3 ปี หรือผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
6.3   ThinPrep plus HPV ด้วยการนำเซลล์ปากมดลูกที่ได้จากน้ำยาตินเพร็พไปตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์  เพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต โดยมีความไวในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น 100แนะนำสำหรับผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย  หากผลการตรวจเป็นลบทั้งคู่ หมายความว่ามีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะ 3 ปี สามารถเว้นการตรวจได้ตามคำแนะนำของแพทย์

7. 
 การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทำได้ง่าย ไม่เจ็บ
8.  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพสูง
       9.  การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก มีอัตราการหายสูง ภาวะแทรกซ้อนน้อยการตรวจคัดกรองที่ดีจะทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เป็นระยะแรก


วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาหารเพื่อสุขภาพผู้เป็น เบาหวาน





         อาหารที่เหมาะกับผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีไขมันสูง หรือต้องการลดน้ำหนัก พบว่าเป็นอาหารจากธรรมชาติ ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด ใช้น้ำมันน้อยที่สุด คือ อาหารเพื่อสุขภาพที่แท้จริง เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มยำปลาทู แกงป่า ต้มโคล้ง นึ่ง ย่าง ผักต่าง ๆ ที่มีเส้นใยอาหารมาก มีประโยชน์ทำให้อิ่มท้องนานและลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดี ระบบภายในกายสะอาดส่งผลให้ผิวพรรณสดใส

   การเลือกประเภทอาหาร  

1.  อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

      1.1  น้ำนมรสหวาน เช่น นมปรุงแต่รสต่าง ๆ ไมโล โอวัลติน โยเกิร์ต รสผลไม้ นมข้นหวาน
              ยาคูลท์
      1.2  น้ำอัดลมทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง และ เครื่องดื่มพลังงานต่ำที่โฆษณาสำหรับผู้ป่วย
              โรคเบาหวาน
      1.3  ของขบเคี้ยวทอดกรอบ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขกทอด ข้าวเม่าทอด อาหารชุบแป้งทอด
              ต่าง ๆ ถั่วลิสง ข้าวเกรียบทอด
       1.4 ขนมทุกชนิด ที่ปรุงจาก น้ำตาล ไข่ เนยสด มาการีน กะทิมะพร้าว
    • ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เค้ก คุ้กกี้ สาคูไส้หมู ขนมชั้น ข้าวเกรียบปากหม้อ ถั่วแปบ   ขนมราดด้วยกะทิ เช่น ครองแครง ข้าวเหนียวถั่วดำ กล้วยบวดชี ไอศครีม ขนมใส่น้ำแข็ง ราดน้ำเชื่อม
       1.5  ผลไม้หวานจัด เช่น น้อยหน่า ละมุด มังคุด ลำไย อ้อย ทุเรียน ขนุน เป็นต้น
       1.6  ผลไม้เชื่อ ดอง กวน แยมผลไม้ต่าง ๆ เยลลี่
       1.7  น้ำผลไม้ เช่น น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ น้ำลำไย
       1.8  ผลไม้ในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง เช่น เงาะ ลิ้นจี่
       1.9  ผลไม้ตากแห้ง เช่น ลูกเกด กล้วยตาก
       1.10  อาหารหมักดอง อาหารเค็ม  เช่น ปลาร้า ผักดอง เต้าเจี๊ยว ถั่วเคลือบ แป้ง กะทิอบ

 2.   อาหารที่รับประทานได้แต่จำกัดจำนวน

        2.1  ประเภทน้ำนม  เช่น นมสดรสจืด  นมพร่องมันเนย  นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง
        2.2  ผลไม้ เช่น ส้ม กล้าว สับปะรด มะละกอ แตงโม เงาะ ผลไม้เหล่านี้ ถ้ารับประทานมากไปจะ
                ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ควรรับประทานตามปริมาณที่กำหนดให้แต่ละมื้อ
        2.3  อาหารจาก ข้าว แป้ง น้ำตาล เช่น ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมปัง ขนมจีน
                มักกะโรนี เผือก มัน ข้าวโพด มันฝรั่ง วุ้นเส้น
        2.4 ไข่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก ในรายที่ไม่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานไข่
                สัปดาห์ละ 3 ฟอง ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงอาจรับประทานสัปดาห์ละ 2 ฟอง เพราะไขแดง
                มีสารที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง แต่รับประทานไข่ขาวได้ทุกวัน ชนิดของไข่ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด
        2.5 ไขมัน
    • ไขมันจากจากสัตว์มีสารทำให้ไขมันในเลือดสูง  ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็ง โรคหัวใจ ขาดเลือด ชนิดไขมัน ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันไก่ น้ำมันวัว มันกุ้ง ครีม เนย เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ หอยนางรม
    • ควรใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันดังกล่าวมีกรดไลโนเลอิค
      เป็นกรดไขมันช่วยลดไขมันในเลือดได้
    • ควรหลีกเหลี่ยงน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มและ น้ำมันมะพร้าว เช่น ครีมเทียมผสมกาแฟ
    • น้ำตาล  การปรุงอาหารควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาล เครื่องดื่มควรโรยน้ำตาลเพียงเล็ก น้อย ไม่ให้รสหวานจัด ตลอดจนสารที่ให้ความหวานทุกขนิด เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายขาว-แดง น้ำมันมะพร้าวอ่อน น้ำตาลผลไม้บรรจุกล่อง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ มี ผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงรวดเร็ว
    •  เกลือ อาหารที่ปรุงด้วยเกลือ หรืออาหารรสเค็มจัด จะทำให้เกิดโรคความตัดโลหิตสูง ควรหลีกเหลี่ยงอาหารที่มีเกลือ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสต่าง ๆ น้ำมันหอย ปลาเค็ม เต้าเจี๊ยว กะปี
    • อาหารสำเร็จรูป  ต้องจำกัดปริมาณเช่นเดียวกับอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลมไดเอทชนิดกระป๋อง คุ๊กกี้ไดเอท (บางชนิดมีเส้นใยอาหารสูงแต่ไม่เหมาะกับ โรคเบาหวาน)

3.    อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ



3.1  ผักใบเขียวที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ  ผักกลุ่มนี้ให้สารอาหารประเภท แป้ง น้ำตาลน้อย
               ได้แก่
    •  ผักกาด เช่น ผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียว หัวผักกาดสด
    •  ผักใบเขียว เช่นผักกวางตุ้ง ผักตำลึง ผักบุ้งจีน คะน้า ผักตังโอ๋ สายบัว
    • ผักชนิดหัว  เช่น ฟักเขียว น้ำเต้า บวบ มะระ แตงกวา แตงร้าน มะเขือยาว ต้นหอม มะละกอดิบ พริกต่าง ๆ กะหล่ำปลี
3.2  ผักลักษณะเป็นผล หัว
    •  ผักตระกูลถั่ว  เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วงอก ถั่วงอกหัวโต ถั่วแขก ถั่วลันเตา
    •  ผักชนิดดอก
           -  หัว เช่น ดอกกะหล่ำ กระหล่ำปม ดอกหอม ดอกขจร ดอกแค ดอกกุ๋ยช่ายขาว
           -  ขิง แครอท หัวปลี หัวหอมเล็ก หัวหอมใหญ่ หน่อไม้ เห็ดฟาง หน่อไม้ฝรั่ง ต้นกระเทียม             
           -  ผักชนิดผล  เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ สะตอ
           -  ผักชนิดใบ  เช่น ชะอม สะเดา ผักขม ผักชี
3.3  เครื่องเทศเพิ่มรสชาติอาหารต่าง ๆ  เช่น น้ำส้มสายชู มะนาม พริกไทย มัสตาด และ ประเภทชา
        กาแฟไม่ใส่น้ำตาลหรือนมข้น

             การรักษาสุขภาพอนามัยของตนเอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน  ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยากลำบาก เพราะหลายเรื่องเป็นสิ่งที่คนปกติกระทำเป็นกิจวัตรประจำวัน  เพียงแต่เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยต้องเพิ่มความสนใจและความระมัดระวังเป็นพิเศษในบางเรื่อง จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น คนปกติ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาวะกลืนลำบาก (Dysphasia)

เรื่องโดย คุณอนุชิต อุปเวียง  : นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลแมคคอร์มิค


ภาวะกลืนลำบาก มักจะเกิดในผู้ป่วยประเภทต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของระบบประสาท เช่น โรคอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรัง (myasthenia gravis) เนื้องอกที่ก้านสมอง(brainstem tumor) ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุของเส้นเลือดในสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองอุดตัน (embolism) เส้นเลือดในสมองแตก (cerebaral hemorrhage) head lnjury ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด (mechanical deflcits) เช่น การผ่าตัดเอากล่องเสียงออก การใส่ท่อหายใจนาน ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งกล่องเสียง (CA laynx) มะเร็งของหลอดอาหาร เป็นต้น

จากประเภทต่าง ๆ ของผู้ป่วยดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบากต้องรับอาหารทางสายยาง ซึ่งเป็นภาระของญาติในการจัดหาและเตรียมอาหารพิเศษ ผู้ป่วยเองก็ขาดโอกาสในการรับรสอร่อยของอาหาร หากผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการฟื้นฟูสมมรรถภาพด้านการกลืน ปัญหาที่จะเกิดกับผู้ป่วยและครอบครัวก็จะลดลง

ผลเสียจากการมีภาวะกลืนลำบาก

1. ขาดอาหาร (Malntrltion)
2. สำลักอาหาร (Aspiration)
3. หายใจขัด(Choking) ไอ(Coughing) หายใจไม่ออก (Gaging)
4. ปอดบวมจากการสำลักอาหาร  และน้ำเข้าปอด
     (Aspirated pneumonia)
5. ต้องให้ อาหารทางสายยาง(N-G tube) ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร(lrrutatuib of mucus    membrane) และขาดความสุขในการรับประทานอาหาร

บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก

1. ประเมินความสามารถในด้านการกลืนของผู้ป่วย
2. ให้การรักษาทางด้านกิจกรรมบำบัดเกี่ยวกับการกลืน
3. ให้คำแนะนำอุปกรณ์ช่วยในการรับประทานอาหารหรือเลือกอาหารในการฝึกแต่ละระดัับ
4. ฝึกให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเองได้โดยไม่เป็นภาระกับผู้อื่น

ขั้นตอนในการกลืนอาหาร

1. จัดท่าผู้ป่วยในท่านั่ง  เข่างอ 90 องศา เท้าราบพื้น หลังตรงศรีษะอยู่กึ่งกลางกับเล็กน้อย
2. กระตุ้นกล้ามเนื้อควบคุมริมฝีปากและลิ้น
    2.1 Quick stretch ยึดกล้ามเนื้อปากโดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางที่มุมปากกดแรงลงแล้วปัดลงถ้าเป็นริมฝีปากล่าง ริมฝีปากบนปัดขึ้น
    2.2  การบริหารกล้ามเนื้อปาก เช่น ทำท่ายิ้ม...ทำปากจู๋..เคลื่อนไหวริมฝีปาก  ไปซ้าย - ขวาฝึกออกเสียง อา-อี-อู  เม้มปาก..อ้าปาก..ปิดปาก สลับกัน.

2.3. การบริหารกล้ามเนื้อลิ้น

2.3.1 ใช้ลิ้นแตะมุมปากทั้งสองข้างสลับกัน
2.3.2 ใช้ลิ้นดันกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง สลับกัน
2.3.3.ใช้ไม้กดลิ้นดันด้านข้างของลิ้นผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยดันต้านกับไม้กดลิ้นทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
2.3.4. ให้ผู้ป่วยแลบลิ้นออกมาด้านหน้า
2.3.5. ฝึกออกเสียง ลา ๆๆๆ ทา ๆๆ

3. ตักอาหารในปริมาณเล็กน้อย (1/3-1/2่ ช้อนชา)
4. ให้ผู้ป่วยก้มศรีษะก่อนกลืนอาหาร
     4.1 ครั้งที่ 1 กลืนอาหารที่อยู่ในปากลงไป
     4.2 ครั้งที่ 2 กลืนซ้ำอีก 1 ครั้ง
     4.3 ตรวจดูว่ามีอาหารตกค้างอยู่ในปากหรือไม่ ก่อนป้อนอาหารคำต่อไป

** หมายเหตุ ถ้ามีอาการสำลักหรือไอเกิดขึ้นขณะกลืนอาหาร ให้ผู้ป่วยก้มหน้าลงทันที

ลำดับขั้นการเลือกอาหารในการฝึกกลืน

อาหารผู้ป่วยที่ภาวะกลืนลำบาก แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. Thick Puree - No liqlds อาหารในระดับนี้ยกตัวอย่าง เช่น  วุ้น เยลลี่ สังขยา
2. Thick and thin puree-thick liqulds เริ่มเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารระดับ 1 ได้ดี เช่น โจ๊กข้น ๆ  โยเกิร์ต
3. Mechanical soft-thick liquids เช่น ข้าวต้ม เนื้อปลา
4. Mechanical soft dlet - liquids as tolerated เป็นอาหารธรรมดาที่เคี้้ยวง่าย เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มเครื่อง

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นอนกรน..หลับลึกหรือหลับร้าย???


     อาการนอนกรน หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและอาจจะมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วการนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนของร่างกายถึงระบบการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณหยุดหายใจก็เป็นได้. ความผิดปกตินี้จะส่งผลเสียกับคุณทั้งทางด้านสุขภาพ และ การดำเนินชีวิตประจำวัน.

     ดังนั้นหากท่านมีอาการตื่นมาตอนเช้าแล้วมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม หรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอนทั้งวันเลย หรือมีอาการเหมือนภาพด้านล่างนี้ เป็นไปได้ว่าคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการ หยุดหายใจขณะนอนหลับ



     ในทางการแพทย์มีการรักษาอาการนอนกรน เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เพื่อช่วยรักษาอาการดังกล่าว  โดย การตรวจการนอนหลับ ซึ่ง เป็นวิธีตรวจทางห้องปฎิบัติการ  วิธีหนึ่งที่สามารถช่วยในการวินิจฉัยและประเมินพยาธิสภาพ ในขณะหลับนอน
 
      เนื่องจากการนอนหลับของมนุษย์โดยทั่วไปเริ่มจากการ ค่อย..ๆ..ง่วง..และง่วงมากขึ้นจนเข้าสู่ระยะหลับ..และการเข้าสู่ภาวะหลับจะเกิดขึ้นเป็นวงจรในแต่ละคืนซืึ่งวงจรนี้จะใช้ เวลา 1.5 - 2 ชั่วโมง โดยเริ่มจาก หลับตื้น - หลับลึก - หลับ ลึกมาก และเริ่มหลับตื้นใหม่เป็นเช่นนี้ตลอดทั้งคืนจนเช้า

      มนุษย์เราจะมีวงจรการหลับนี้ 4-5 วงจรขึ้นอยู่กับความต้อง การของแต่ละบุคคลส่วนอาการที่อาจตรวจพบจะสามารถ พบได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระยะหลับหรืออาจพบเมื่อหลับไปนาน   กว่า 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นในแต่ละคน หรือ บาง ราย พบความผิดปกติเพราะในท่านอนหงาย หรือพบในช่วงหลับลึก มากเท่านั้น
     ดังนั้นการตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจเพื่อหาความ ผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะหลับจึงจำเป็นต้องตรวจ ในเวลาที่หลับ ปกติเพราะต้องใช้เวลาในการตรวจนาน 6 - 8 ชั่วโมง ในการ ตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดมีขึ้น

การตรวจการนอนหลับทำกันอย่างไร 

     การตรวจการนอนหลับเป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ ทันสมัย โดยการติดอุปกรณ์ตามส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายที่ เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ คือ
  1. ติดอุปกรณ์ที่ศีรษะ หางตา หลังหู และคางเพื่อดูการหลับของคลื่นสมองและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
  2. ติดอุปกรณ์ที่จมูก หน้าอก หน้าท้อง และ นิ้วมือ เพื่อดูความผิดปกติของการหายใจขณะหลับไม่ว่าจะเป็นลมหายใจที่สูดเข้าออกหรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจทั้งหน้าอก และ หน้าท้อง ที่จะต้องสัมพันธ์กัน
  3. วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่ได้จากการหายใจว่าเพียงพอต่อร่างกายหรือไม่ โดยสามารถบอกได้ว่าการหลับในคืนนั้นคลื่นไฟฟ้าสมอง แสดงการหลับเป็นอย่างไรหลับได้คุณภาพมากน้อยเพียงไร หลับได้ลึกหรือตื่นบ่อยมากน้อยเพียงไรจากสาเหตุไหนมีการ ละเมอหรือไม่     การหายใจและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจเป็น อย่างไร สัมพันธ์กันดีหรือไม่ มีความผิดปกติมากหรือน้อย อย่างไร คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับเป็นเช่นไร มีการกระตุก ของกล้ามเนื้อแขนขาหรือไม่ ซึ่งต้องเฝ้าดูในขณะตรวจตลอด เวลาเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะพบความผิดปกติส่วน ใดในเวลาไหน
สิ่งที่ผู้ตรวจการนอนหลับจะได้รับหลังการตรวจ

1. รู้ว่าการนอนของท่านอันตรายมากน้อยเพียงไร
2. ผลการตรวจดูจากกราฟการนอนหลับจะแสดงช่วงการนอนหลับตลอดทั้งคืน
3. คำแนะนำหลังจากวินิจฉัยจากแพทย์
     
การเตรียมตัวเพื่อรับการตรวจการนอนหลับ


1. ต้องสระผมให้สะอาดก่อนมารับการตรวจ
2. ห้ามใส่น้ำมันหรือครีมที่ผม  เพราะการติดอุปกรณ์ที่หนัง
   ศีรษะ จำเป็นต้องให้บริเวณที่ติดอุปกรณ์ไม่มีไขมันเพื่อให้
   สัญญาณกราฟคมชัด และสามารถอ่านระดับการนอนหลับ
   ได้ถูกต้อง
3. ห้ามทาแป้งหรือครีมที่บริเวณใบหน้า คอ และขา เพราะ
   จะทำให้อุปกรณ์ที่ติดอยู่ได้นานตลอดทั้งคืน
4. ห้ามดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาตรวจ
    เพราะจะทำให้คุณภาพการนอนหลับผิดปกติ ในรายที่ดื่ม
    เป็นประจำไม่สามารถตรวจได้ ต้องให้แพทย์ที่รักษาทราบ
    ก่อนทำการตรวจ
5. ห้ามกินยาถ่าย ยานอนหลับ ก่อนมารับการตรวจเพราะจะ
    ทำให้การตรวจไม่ต่อเนื่องในรายที่กินยาถ่าย และในรายที่
    กินยานอนหลับจะทำให้การนอนหลับไม่เป็นไปตามปกติ
    ที่ควรเป็น ยกเว้นในรายที่แพทย์อนุญาตหรือจัดยา ให้รับ
    ประทานก่อนทำการตรวจ ทั้งนี้แพทย์ที่รักษาต้องแจ้งให้
    เจ้าหน้าที่ทราบด้วย


วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก...โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร  โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเซลล์ที่เกิดขึ้นจากเซลล์เยื่อบุของทางเดินอาหารส่วนปลายที่เรียกว่าลำไส้ใหญ่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติจนมีลักษณะเป็นก้อนขึ้นมา รวมถึงสามารถที่จะกระจายไปยังที่อื่น ๆ ได้ด้วยซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นปีหรืออาจจะหลายปีได้ ในประเทศไทยพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ชายมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด ในผู้หญิงเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับและมะเร็งปอด



สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
         สาเหตุสของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ที่ทราบคือปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้โอกาสการเกิดมะเร็งสูงขึ้น แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงก็ตาม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
1.อายุ 50 ปี หรือมากกว่า
2.ประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะถ้าบุคคลนั้นเป็นญาติสายตรงและได้รับการวินิจฉัยว่า
    เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี
3. มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งรังไข่, มะเร็งมดลูก และ มะเร็งเต้านม
4. มีประวัติเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่
5. มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease)
6. โรคอ้วน
7. สูบบุหรี่


อาการอะไรที่ควรสงสัยหรือควรมาปรึกษาแพทย์
1. นิสัยในการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการท้องผูก หรือท้องเสียเกิดขึ้นใหม่ หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
2. มีความรู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด
3. ขนาดของอุจจาระเล็กลงหรือลีบลงกว่าปกติ
4. อุจจาระมีมูกเลือดหรือสีดำคล้ำ
5. มีอาการแน่นท้อง, ท้องอืด หรือ ปวดท้อง
6. มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
     โดยทั่วไปแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองในประชากรทั่วไปอายุ 50 ปีหรือมากกว่า, หรือบุคคลที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการตรวจคัดกรอง  ได้แก่ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ, การเอกซเรย์สวนแป้งตรวจดูลำไส้ใหญ่, การส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่

การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
       แพทย์ก็จะทำการซักประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจหาเลือดในอุจจาระ, การเอกซเรย์สวนแป้งตรวจดูลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้องร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวิจิจฉัยทางพยาธิวิทยา จากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคและวางแผนในการรักษาต่อไป

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
      การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับระยะและำตำแหน่งที่เป็น ซึ่งในปัจจุบันการรักษาได้พัฒนามากขึ้นทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย การรักษานั้นประกอบไปด้วยการผ่าตัด, การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดทั้งในส่วนที่ใช้ในการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด หรือการรักษาในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายก็ตาม, และการรักษาประคับประคอง เช่น การฉายรังสีเพื่อควบคุมอาการปวดและอาการอื่น ที่เกิดจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
1. การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้มาก ๆ
2. ควบคุมการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วน
3. ออกกำลังการสม่ำเสมอ
4. งดบุหรี
5. ทำการตรวจคัดกรองกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการที่สงสัย



บทความโดย...พญ.เบญจวรรณ เกษมเศรษฐ์
อายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...