วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไส้เลื่อน (Hernia)

ไส้เลื่อน (Hernia)
โดย นพ.อาณัติ  วณิชชากร   ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค 


ไส้เลื่อน หมายถึง  ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอกหรือเกิดจากผนังหน้าท้องที่หุ้มภายในมีรูรั่ว ทำให้ลำไส้หรืออวัยวะภายในเลื่อนเข้า เลื่อนออก จากช่องนั้นได้ ซึ่งพบได้หลายตำแหน่ง ไส้เลื่อนที่พบได้มากที่สุดคือ ไส้เลื่อนขาหนีบ นอกจากนี้    จะเป็นไส้เลื่อนที่สะดือ (สะดือจุ่น) ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด โรคนี้ผู้หญิงก็เป็นได้ แต่จะพบในผู้ชายมากกว่า



สาเหตุการเกิดไส้เลื่อน

1. การหย่อนตัวของผนังหน้าท้อง อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเพราะอายุมากขึ้น ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรง มีความหย่อนคล้อย ทำให้เกิดการเลื่อนของลำไส้ได้
2. การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่นท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ
3. ในผู้สูงอายุ ที่เป็นต่อมลูกหมากโต ก็มีโอกาสที่จะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้
4. เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้อง



อาการของโรคไส้เลื่อน

1. รู้สึกปวดหน่วงๆ  เหมือนมีอะไรไหลออกมา หรือเจ็บตรงบริเวณที่เกิดโรค
2. ลักษณะเป็นก้อนนูน สามารถผลุบเข้าออกได้บริเวณผนังหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ บางครั้งถ้ามันยื่นออกมาแล้วไม่หุบกลับเข้าไปเอง อาจจะมีอาการปวดบริเวณก้อนนั้นได้





อาการที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

เช่น มีอาการปวดขาหนีบมาก มีก้อนเกิดขึ้น และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา เมื่อลำไส้ลงมามากแล้ว ถึงจะดันกลับเข้าไปก็ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมได้และเน่าเสียในที่สุด ทำให้แบคทีเรียและเลือดเสียเหล่านั้นกระจายไปทั่วร่างกายถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด



วิธีการตรวจไส้เลื่อน          แพทย์จะใช้มือคลำดูตามจุดที่มีอาการ แล้วลองให้คนไข้เบ่งดูว่ามีก้อนอวัยวะไหลผ่านมือคุณหมอบ้างหรือเปล่า และอาจต้องคลำที่บริเวณหัวหน่าว ทั้งสองข้าง เพื่อเปรียบเทียบกันด้วย และในบางกรณีอาจต้องตรวจทั้งท่ายืนและท่านอนในผู้สูงอายุ แพทย์จะขอตรวจความผิดปกติของต่อมลูกหมากด้วย โดยสอดนิ้วตรวจทางทวารหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ


 การรักษาไส้เลื่อน 




        โรคไส้เลื่อนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น เพื่อเข้าไปซ่อมแซมไส้เลื่อนจากด้านในและเสริมแผ่นความแข็งแรงบริเวณที่เป็น          ในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนผู้ป่วยไม่ควรที่จะกระโดดโลดเต้น ไม่ควรยกของหนัก และงดการออกกำลังกายหนักๆในช่วง2เดือนแรก ที่สำคัญไม่ควรจะเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ เพราะถ้ามีความดันในช่องท้องเพิ่มก็มีโอกาสที่จะทำให้รอยเย็บหรือตาข่ายที่ใส่ไว้มีการเคลื่อนจะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากขึ้น
          ผู้ป่วยที่เคยเป็นไส้เลื่อน 1 ข้าง จะมีโอกาสเป็นอีก 1 ข้าง ประมาณ 30 % มากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นต้องระวังให้มาก ไส้เลื่อนไม่สามารถใช้ยาในการรักษาได้ ต้องผ่าตัดเท่านั้น การปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำให้หายเอง แต่จะทำให้ไส้เน่าและเสียชีวิตได้ในที่สุดและการเป็นไส้เลื่อนไม่เกี่ยวกับการใส่หรือไม่ใส่กางเกงใน  ผู้หญิงหรือผู้ชายก็เป็นไส้เลื่อนได้ เพราะฉะนั้นถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...