วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม 
โดย นพ.อาณัติ  วณิชชากร   ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค




         มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก ซึ่งมะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งอาจจะเกิดเป็นมะเร็งเต้านมโดยส่วนใหญ่ 90%มักเป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดจากท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง           

           จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

พบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด

และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด ดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็ก และก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะเต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น เมื่อเทียบกับการตรวจพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว โดยหากมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

1.อายุ ซึ่งเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมักจะมากขึ้นตาม โดย ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมักจะมีความเสี่ยงมากที่สุด

2.พันธุกรรม ประวัติการเกิดมะเร็งในครอบครัว และการเกิดมะเร็งเต้านมของตัวเอง

3.ปัจจัยของฮอร์โมน เช่น อายุเริ่มต้นของการมีประจำเดือน อายุที่หมดประจำเดือน การมีบุตร การให้นมบุตร ประวัติการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง

4.มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

5.การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

6.ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวันเช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีปริมาณสูง

อาการของมะเร็งเต้านม
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะไม่มีอาการอะไร โดยมากมักจะรู้ได้โดย


1.คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้

2.มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของเต้านม

3.มีน้ำไหลออกจากหัวนม

4.เจ็บ หรือหัวนมถูกดึงรั้ง

5.เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวเปลือกส้ม


วิธีการตรวจหามะเร็งเต้านม มีหลายวิธีได้แก่


1. การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือพยาบาล

3. การตรวจด้วยวีธีอัลตราซาวนด์

4. การตรวจเต้านมด้วย แมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วไป



การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
            การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจะทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติ (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอ็กซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และมีการแพร่กระจายไปที่ใดแล้วหรือไม่ โดยการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

การรักษามะเร็งเต้านม
           แพทย์จะทำการประเมินระยะของผู้ป่วยแล้ว จึงวางแผนการรักษา โดยทั่วไปการรักษามะเร็งเต้านมมีด้วยกันดังนี้
1.การรักษาโดยการผ่าตัด
2.การรักษาโดยการให้เคมีบำบัด
3.การรักษาโดยการฉายรังสี
4.การให้ฮอร์โมน


          ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันจากโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปหรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม อย่างน้อยคัดกรองโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง แต่กระนั้นวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง แมมโมแกรม  จัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...