วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

ภูมิแพ้ รู้ไว้ไม่แพ้

ภูมิแพ้เป็นกลุ่มอาการที่แสดงการเกิดโรคได้หลายระบบในร่างกาย แบ่งเป็น
1.ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วยกลุ่มอาการที่แสดงทางจมูก ช่องคอ หลอดลมและ ปอด
2.ภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร
3.ภูมิแพ้ที่แสดงออกทางตา
4.ภูมิแพ้ที่แสดงออกทางระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด
5.ภูมิแพ้ทางผิวหนัง

ประชากรส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก หากกล่าวเฉพาะทางจมูก จะพบว่าจากประมาณการขององค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2551 คาดว่ามีผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 15.5
ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ส่วนใหญ่ มักจะมีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม และคันจมูกร่วมกับมีหรือไม่มีอาการคันตา โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ในบางรายอาการรุนแรงมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต ส่งผลเสียต่อการทำงานหรือการเรียนได้
การวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นอกจากจะอาศัยประวัติการดำเนินโรคแล้ว ควรจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันร่วมด้วย ในปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่เป็นที่ยอมรับคือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (skin prick test) และ การตรวจเลือดหาอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยวิธีแรกกระบวนการทดสอบทำได้ง่ายกว่า ทราบผลรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีที่สอง ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอข้อมูลของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (skin prick test) เป็นหลัก

วัตถุประสงค์ของการทำ Skin Prick Test ก็เพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้ในผู้ป่วย ว่าอาการของโรคที่เป็นอยู่เป็นจากปฏิกิริยาการแพ้ในร่างกายจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งอาการแสดงบางโรคของผู้ป่วยจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคภูมิแพ้มาก ทำให้การวินิจฉัยอาจคลาดเคลื่อนและส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้การทำ    Skin Prick Test    ยังช่วยบอกได้ว่า ผู้ป่วยมีอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ชนิดไหนซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษา เพราะการรักษาที่ดีที่สุดของโรคภูมิแพ้ก็คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั่นเอง

วิธีการทดสอบ Skin Prick Test เริ่มจาก การใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาหยดลงบนผิวหนัง บริเวณที่นิยมคือท้องแขนหรือแผ่นหลัง จากนั้นใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก ( needle No.27) เขี่ยสะกิดผิวหนังบริเวณที่สัมผัสน้ำยา โดยต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำยาที่ใช้ทดสอบสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดไหลมาปะปนกัน จากนั้นเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาการแพ้ที่จะแสดงออกทางผิวหนังประมาณ 15 นาที ดังภาพ ซึ่งจะเป็นตุ่มนูน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 mm. แต่ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดปฎิกิริยาได้ช้ากว่านั้นคือ 2 – 24 ชั่วโมงหลังทำการทดสอบ



ขณะทำ การทดสอบ Skin Prick Test ผู้ป่วยบางรายอาจมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงโดยแสดงอาการออกมาหลายระบบ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นการทดสอบ Skin Prick Test จึงควรทำในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยหากเกิดอาการแพ้รุนแรงจะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
การทดสอบ Skin Prick Test ควรทำในบุคคลที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โดยทั่วไปควรทำหลังอายุ 6-8 ปี เนื่องจากในผู้ป่วยอายุน้อยกว่านี้จะมีปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมาทำให้ผลการทดสอบไม่ค่อยแม่นยำ อีกทั้งผู้ป่วยอายุน้อยมักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทดสอบได้สะดวกเหมือนผู้ใหญ่ ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงถึงขั้นความดันโลหิตต่ำรุนแรง ( anaphylaxis shock ) ทำการทดสอบ Skin Prick Test เนื่องจากมีโอกาสเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และไม่แนะนำให้ทำการทดสอบ Skin Prick Test ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เพราะสามารถเกิดผลบวกลวงได้

หากผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการทดสอบ Skin Prick Test จะต้องปฏิบัติตัวดังนี้
1.หยุดยาทุกชนิดที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ ( antihistamine ) เช่น ยาแก้แพ้ทางจมูก ยาลดน้ำมูกลดหวัด ยาแก้ผื่นคัน มาก่อนวันทดสอบ อย่างน้อย 7 วัน
2.งดยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง เฉพาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการทดสอบอย่างน้อย 7 วัน

ชนิดของน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร และ น้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ประเภทยารักษาโรค เช่น ยาปฏิชีวนะ  ซึ่งในหนึ่งชุดการทดสอบ Skin Prick Test อาจประกอบด้วยน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เพียงชนิดเดียว ไปจนถึง 20 กว่าชนิดได้  น้ำยาสารก่อภูมิแพ้ 14 ชนิดที่พบได้บ่อยในเมืองไทย คือ 
1.ไรฝุ่นชนิด D. farinase  
2 ชนิด D. pteronyssinus  
3.ฝุ่นบ้าน (House dust ) 
4.ขนสุนัข(Dog) 
5.ขนแมว(Cat )
6.ขนสัตว์ปีก(Feathers) 
7.แมลงสาบ(Cockroach) 
8.นุ่น(Kapok) 
9.ผ้าฝ้าย(Cotton) 
10.เชื้อรา ชนิด Alternaria 
11.Penicillium และ 
12. Aspergillus 
13.หญ้าปล้อง(Burmuda) 
14.หญ้าแพรก(Johnson)  เป็นต้น

หลังทราบการวินิจฉัยและทราบสารที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทั้งแพทย์และผู้ป่วยในการร่วมกันวางแนวทางในการรักษา ที่กล่าวเช่นนี้เพราะแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรได้รับการรักษาโดยวิธีใดจึงจะเหมาะสมรวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลการปฏิบัติตัวในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้กับผู้ป่วยแต่ละราย ขณะที่ผู้ป่วยเองจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกรับการรักษาในแต่ละวิธี และจะต้องนำข้อมูลที่ได้กลับไปปฏิบัติร่วมกับการใช้ยารักษาอย่างจริงจัง จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาอย่างสูงสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...