วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

                                       
                                              
ทพญ. สุนารี พุทธิรักษ์กุล

ในผู้สูงอายุ โดยปกติระบบต่างๆของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอย ฟันและเนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากก็เช่นกันเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
  ฟัน   ผิวเคลือบฟันจะมีความแข็งแกร่งลดลง หรือเปราะมากขึ้น ฟันอาจแตกบิ่นได้ง่ายเมื่อถูก
       กระแทกแรงๆ สีของฟันจะเข้มขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้การสะท้อนแสงและความแวววาวลดลง
  เหงือก เหงือกจะร่น จากการสูญเสียการยึดเกาะของเยื่อปริทันต์ หรือเป็นโรคปริทันต์ 
       ทำให้ฟันดูยาวขึ้น การแปรงฟันแบบผิดวิธีแบบถูไปมา หรือใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรง
       แข็งเกินไปหรือขนแปรงเก่าจนแตก จะทำให้เหงือกร่นได้มากขึ้น
  เอ็นยึดปริทันต์ เอ็นยึดปริทันต์เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่ช่วยยึดรากฟันไว้กับกระดูกเบ้าฟัน จะมีจำนวน
            น้อยลงและหย่อนประสิทธิภาพ ถ้าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ จะถูกทำลายได้ง่าย
            และรวดเร็ว ทำให้ฟันโยกได้ง่ายและเร็วขึ้น
  กระดูกเบ้าฟัน กระดูกเบ้าฟันจะเปราะบาง จากการสูญเสียแคลเซียม อาจแตกหักได้ง่าย 
            ถ้าถูกกระแทกแรงๆ
  ต่อมน้ำลาย   เซลล์ของต่อมน้ำลายที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำลายมีจำนวนน้อยลง ทำให้มักมีอาการปากแห้ง


ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่สำคัญ และพบได้บ่อย ได้แก่

  1.ฟันผุและรากฟันผุ  โรคฟันผุ มีปัจจัยเสี่ยงคือ การมีช่องปากแห้ง การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน การมีอนามัยช่องปากไม่ดีเพราะความเจ็บป่วยของโรคทางร่างกาย เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ ภาวะเครียด ซึมเศร้า มักมีการผุที่รากฟันร่วมด้วยเพราะเหงือกร่น รากฟันโผล่
  2.โรคปริทันต์  โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง ลุกลามเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มีผลไปถึงเอ็นยึดฟันและกระดูกเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยก ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น คือโรคทางระบบต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ยาที่ใช้รักษาโรค การสูบบุหรี่
  3.ฟันสึก ฟันสึกจากด้านบดเคี้ยวมักพบในฟันกราม จากการขบเคี้ยวอาหารแข็ง หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อยๆ หรือใช้เฉพาะบริเวณนั้นเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่อง และฟันสึกบริเวณด้านข้างแก้มตรงคอฟัน จากการแปรงฟันด้วยแปรงขนแข็งและแปรงผิดวิธีแบบถูไปมา อาจทำให้มีอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมากๆ ก็อาจลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตาย ตัวฟันหักได้
  4.น้ำลายแห้ง  จากการหลั่งน้ำลายลดลง และอาจเกิดจากการรับประทานยารักษาโรคทางระบบหลายชนิดเป็นเวลานาน ภาวะปากแห้งทำให้เคี้ยว กลืน พูดลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ อาจพบการติดเชื้อรา และมีอาการปวดแสบปวดร้อนในปาก
  5.การสูญเสียฟันและปัญหาจากการใส่ฟันปลอม  อาจมีการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ต้องได้รับการใส่ฟันปลอม  และอาจมีปัญหาในการใส่ฟันปลอม เช่น อาการปากแห้งเพราะน้ำลายน้อยทำให้มีผลต่อการยึดติดของฟันปลอมแบบถอดได้
  6.แผล/มะเร็งช่องปาก  แผลในช่องปาก ได้แก่ แผลร้อนใน แผลบาดเจ็บจากฟันปลอม แผลอักเสบมุมปาก ซึ่งเกิดจากการสูญเสียฟันหลังหลายๆซี่ หรือฟันสึกมากๆ หรือการใส่ฟันปลอมที่มีความสูงไม่ถูกต้อง ทำให้มุมปากย่นทบกัน ระคายเคืองและถ้าเปียกชื้นจากน้ำลายตลอดเวลาจะเกิดการอักเสบติดเชื้อ รวมถึงอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร การได้รับยาปฏิชีวนะนานๆ มะเร็งช่องปาก เกิดจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นานๆ อาจเกิดจากฟันแหลมคม ฟันปลอมที่ทำให้ระคายเคือง การกินหมากพลู อมยาฉุน สูบบุหรี่และดื่มเหล้า

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

      1.    การทำความสะอาด
1.1 ฟันและช่องปาก
- การเลือกใช้แปรงสีฟัน  ควรเลือกใช้แปรงที่มีด้ามจับได้ถนัดมือ ยาวพอเหมาะ ส่วนตัวแปรงไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดช่องปาก มีขนแปรงที่นิ่ม ปลายมน และควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เมื่อขนแปรงบาน หรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน
       กรณีผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อมือ หรือไม่สามารถควบคุมการใช้มือในการแปรงฟันแบบธรรมดาได้ดี อาจแก้ไขได้โดย เลือกใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าเพื่อผ่อนแรง หรือปรับปรุงขนาดของด้ามแปรงสีฟันทั่วไป ให้จับได้เหมาะมือ เช่น ปรับปรุงส่วนของด้ามแปรง ให้เหมาะกับการกำ เช่น ใช้ยางที่เป็นมือจับของจักรยานสวมทับด้ามแปรงสีฟัน ยึดด้วยกาวหรือดินน้ำมัน หรืออาจเพิ่มสายรัดยึดแปรงไว้กับมือ โดยใช้วัสดุน้ำหนักเบา ไม่ดูดซับน้ำ เช่น หลอดพลาสติก หรือสายน้ำเกลือ ผูกติดกับด้ามแปรง โดยปลายหนึ่งผูกไว้ทางด้านขนแปรง และอีกปลายผูกที่ปลายด้ามแปรง


        - วิธีแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ยาสีฟันชนิดครีมที่ผสมฟลูออไรด์ นานประมาณ 2 นาที โดยแปรงให้ทั่วถึง ทุกซี่ ทุกด้าน โดยเฉพาะคอฟัน และซอกฟัน หลังแปรงฟันแล้ว อาจจะแปรงทำความสะอาดลิ้นเบาๆ  และเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น ไม้จิ้มฟัน ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียว
1.2 ฟันปลอม
- ฟันปลอมชนิดถอดได้  หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ควรถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาด โดยใช้แปรงสีฟันขนอ่อนกับน้ำสบู่ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้ผงขัด ขณะล้างควรมีภาชนะรองรับ เพื่อกันฟันปลอมตกแตก ถ้ามีคราบฝังแน่นติดฟันปลอมสามารถแช่ในน้ำยาแช่ฟันปลอม หรือน้ำผสมเม็ดฟู่สำหรับฟันปลอมช่วยขจัดคราบและฆ่าเชื้อโรคได้และที่สำคัญก่อนนอนต้องถอดฟันปลอม เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน และเอาฟันปลอมแช่น้ำไว้เสมอ ไม่ให้ฟันปลอมแตกแห้ง
       - ฟันปลอมชนิดติดแน่น  ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าทำความสะอาดใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกด้วย

2.    การเลือกรับประทานอาหาร
  - ควรเลือกอาหารพวกโปรตีนย่อยง่าย ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง รสไม่หวานจัด
  - ควรลดอาหารที่หวานจัด นิ่มละเอียดมากๆ หรือเหนียวติดฟัน เพราะจะเกิดการตกค้างได้มาก ทำความสะอาดยาก เกิดฟันผุง่าย
  - ควรลดอาหารเปรี้ยวจัด หรือน้ำอัดลม เพราะมีกรด ทำให้ฟันสึกกร่อน
  - ควรรับประทานอาหารให้เป็นมื้อ ไม่ควรกินจุบจิบ โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหาร
  - สำหรับผู้ใส่ฟันปลอม ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทาน โดยเฉพาะอาหารเหนียวและแข็ง

 3.   การเสริมสร้างความแข็งแรงของช่องปาก
          3.1 การเสริมสร้างความแข็งแรงของตัวฟัน
          ควรใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ เพื่อป้องกันฟันผุ มีแบบใช้ได้เองทั่วไปคือ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ และแบบที่ทันตแพทย์เป็นผู้ให้บริการ คือ ฟลูออไรด์เข้มข้นแบบเจล วานิช ทาเคลือบที่ฟัน
          3.2 การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น
          - การบริหารใบหน้า จะช่วยปลุกเส้นประสาท กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น แก้ม ปาก และลิ้น ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น  แนะนำให้ทำหลังล้างหน้าตอนเช้า มี 3 ขั้นตอน แต่ละขั้นใช้เวลาประมาณ 10 วินาที แล้วผ่อนคลาย จากนั้นให้ปฏิบัติซ้ำตั้งแต่ต้นอีก 3 รอบ ดังนี้


 - การบริหารลิ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลิ้นดีขึ้น คลุกเคล้าอาหารได้ดี ช่วยให้ออกเสียงพูดได้ชัดเจนขึ้น และช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร มีวิธีบริหาร 2 แบบ คือ การบริหารโดยการเปิดปาก และการบริหารโดยการปิดปาก มีขั้นตอนดังนี้ 




การกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย

การนวดต่อมน้ำลาย จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากขึ้น แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร การนวดต่อมน้ำลายมี 3 ต่อม ได้แก่ ต่อมใต้หู ต่อมใต้คาง ต่อมใต้ลิ้น หลังจากตรวจสอบตำแหน่งที่จะนวดแล้ว ให้ปฏิบัติตามขั้นตอน 1-3 แล้วทำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง




       แม้ในวัยสูงอายุ ก็ยังคงสามารถรักษาสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และคงสภาพการใช้งานให้นานที่สุดได้  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอ  มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งแล้ว คือ การเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง:
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เรื่องน่ารู้สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย. [ออนไลน์]. 
เข้าถึงได้จาก : http:// dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/PR/E-book/elderly/keld.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).
ทญ. วรางคณา เวชวิธี. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง สำหรับผู้สูงอายุ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://happysmile.anamai.moph.go.th/dentalh/elderly.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).
ทพ. จรัลพัฒน์ เขจรบุตร. For ฟันสวย.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...