วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คำแนะนำในการทำกิจวัตรประจำวันสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม

    อนุชิต อุปเวียง  นักกิจกรรมบำบัด
              
             โรคข้อเสื่อมมีอยู่ 2 ชนิด  คือ โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)(RA)  และ โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)(OA)

    โรครูมาตอยด์/Rheumatoid Arthritis(RA)
             เป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติทำให้ข้อต่ออักเสบปวดและบิดงอผิดรูป โดยมากพบที่มือทั้งสองข้างเท่าๆกันเนื่องจากโรคข้อเสื่อมชนิดนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วยเอง  บางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการหนัก บางช่วงก็อาจรู้สึกสบายดีสลับกันไป

    โรคข้อเสื่อม/(Osteoarthritis)(OA)
             เป็นโรคของความเสื่อมเนื่องจากอายุหรือจากการที่ข้อต่อนั้นถูกใช้งานหนักมากเกินไปมาเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหน้าของกระดูกข้อต่อสึกหรอจนรู้สึกปวดในขณะเคลื่อนไหวหรือแม้แต่เมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆและเกิดแคลเซียมไปสะสมทำให้ข้อต่อยึดติด เคลื่อนไหวไม่ได้ โรคข้อเสื่อมชนิดหลังนี้เป็นได้กับทุกข้อต่อ แต่โดยมากมักพบในข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ เช่น สะโพก เข่า ข้อมือ และนิ้วมือ เป็นต้น
               
               โรคข้อเสื่อมทั้งสองชนิดนี้มักพบในผู้สูงอายุ แต่สำหรับโรครูมาตอยด์อาจเกิดขึ้นในวัยกลางคนได้ อาการข้อเสื่อมทั้งสองชนิดสร้างความทรมานและความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอันมาก  ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานยาจนครบแผนการรักษา   ปรึกษานักกายภาพบำบัดเมื่อมีอาการปวด นักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและฝึกหัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนแปลงวิธีการทำกิจกรรมต่างๆ ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละคน  ดังนี้
               ข้อควรปฏิบัติข้อแรก  ผู้ป่วยควรทำใจให้สบายและทำความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นภาวะเรื้อรังที่เราสามารถควบคุมความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ความเครียดเป็นปัจจัยเร่งให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง แต่การผ่อนคลายช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีของร่างกาย
              ข้อควรปฏิบัติที่สอง คือ การพัก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง พักในที่นี้เป็นการพักจิตใจ คือผ่อนคลายและพักร่างกาย คือ การนอนหลับให้เพียงพอ การหยุดพักระหว่างช่วงเวลาทำงานเพื่อป้องกันข้อต่อที่กำลังถูกใช้งานไม่ให้ถูกทำลายมากเกินไป อาจจะใช้เครื่องดามประคองให้ข้อต่อนั้นได้พัก
               ข้อควรปฏิบัติที่สาม  การจัดท่าทางให้เหมาะสมในอิริยาบถต่างๆ เช่น ผู้ป่วยรูมาตอยด์ เวลานอนไม่ควรเอาหมอนรองใต้เข่าเพราะจะทำให้เข่ายึดแข็งในอนาคต แต่ควรใช้หมอนใบเล็กๆหนุนคอเท่านั้น ควรนั่งเก้าอี้สูงและมีที่เข้าแขนเพื่อให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้สะดวกไม่มีแรงกดต่อสะโพกมากเกินไป   เวลาลุกจากเก้าอี้ก็ควรรักษาร่างกายให้อยู่ในแนวสมมาตร/สมดุล  การระวังรักษาเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดและป้องกันข้อต่อบิดงอผิดรูปได้
               ข้อควรปฏิบัติที่สี่  ฝึกหัดวิธี Joint protection คือ การทำงานด้วยท่าทางที่ปกป้องข้อต่อไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้อต่อได้รับอันตรายจากการทำงาน ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
                4.1 Respect pain  คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตามถ้ารู้สึกว่าเจ็บหรือปวดแม้เพียงเล็กน้อยจะต้องหยุดทำและหลีกเลี่ยงงานหรือท่าทางที่ทำให้เจ็บ ถ้าจำเป็นจริงๆก็ควรแบ่งขั้นตอนของงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆทำทีละนิดอาจใช้เวลานานขึ้น แต่ดีกว่าทนทำทั้งที่ปวดหรือเจ็บเพราะจะทำให้อาการแย่ลง
                 4.2 การรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรงและรักษาระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อไว้ แนะนำในเรื่องการทำงานบ้านด้วยตนเอง เช่น กวาดบ้าน รีดผ้า ถูบ้าน  กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ควรเคลื่อนไหวเหยียดข้อไหล่  ข้อศอกไปไกลๆและกว้างๆจนเต็มที่ (แต่ไม่ต้องฝืนมากจนเจ็บ) ก็จะเป็นการบริหารข้อต่อ ป้องกันข้อติดแข็ง
                  4.3 หลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้เกิดแรงกดลงบนข้อต่อที่มีปัญหา เช่น ควรเสริมด้ามดินสอ  แปรงสีฟัน ทัพพี หรือมีด ที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (เพราะด้ามจับขนาดใหญ่มีแรงกดลงบนข้อต่อน้อยกว่าด้ามขนาดเล็ก) การถือมีดแบบที่คนทั่วไปถนัดจะทำให้ข้อต่อผิดรูปได้เร็วขึ้นควรเปลี่ยนวิธีถือโดยให้ด้ามมีดอยู่ในอุ้งมือ วางนิ้วชี้บนสันมีด ใช้แรงจากข้อศอกเป็นตัวช่วยหั่น อย่าใช้แรงที่นิ้วมือ
                       เวลาจะลุกจากเก้าอี้ให้ใช้อุ้งมือดันตัวขึ้น อย่าใช้นิ้วหรือสันมือกดลงบนที่เท้าแขน เวลาเปิดฝาขวดหรือบิดลูกบิดประตูต้องบิดมาทางนิ้วโป้งเสมอ (ห้ามผู้ป่วยทำกิจกรรมลักษณะนี้โดยการบิดข้อมือไปทางนิ้วก้อยเด็ดขาด เพราะเป็นการเร่งการทำลายข้อต่อให้ผิดรูปเร็วขึ้นการถือทัพพีคนแกงในหม้อก็ไม่ควรใช้วิธีหมุนข้อมือ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นวิธีกำทัพพีแทนโดยให้ด้ามทัพพียื่นออกมาทางฝั่งนิ้วโป้ง  ตัวทัพพีอยู่ทางนิ้วก้อย คนแกงโดยใช้แรงจากข้อศอก
               ข้อควรปฏิบัติที่ห้า จะต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ถ้าต้องอ่านหนังสือนานๆต้องวางหนังสือไว้บนโต๊ะ อย่าใช้มือถือหนังสือ เพราะน้ำหนักของหนังสือและระยะเวลาที่ต้องถือหนังสือค้างไว้นานๆเป็นอันตรายต่อข้อต่ออย่างมาก
               ข้อควรปฏิบัติที่หก ควรใช้กล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่ามาทำงานแทนกล้ามเนื้อ/ข้อต่อที่เล็กกว่าหรือแข็งแรงน้อยกว่า รวมทั้งควรกระจายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้างหรือสลับมือข้างที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น ไม่ควรใช้นิ้วยกแก้วน้ำ แต่ให้ใช้อุ้งมือยกแก้วขึ้นมาแทน  การถือจาน ถือจานโดยให้จานวางไว้บนฝ่ามืออย่าใช้แรงจากนิ้วมือ  การสะพายกระเป๋าควรสะพายไว้ที่แขนอย่าใช้นิ้วหิ้ว ใช้วิธีเลื่อนหรือผลักของแทนการยกเมื่อต้องการย้ายของ 

เอกสารอ้างอิง
บุษบงกช เชวงเชาว์.จะให้คำแนะนำผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมอย่างไร.วารสารกิจกรรมบำบัด ปีที่
ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน,2547

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...