วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia)

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia)


        เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เนื่องจากไขมันสูงจะตกตะกอนที่ผิวของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่าคราบไขมันหรือ Plaque ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดตีบ หรือคราบอาจจะหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ นับเป็นโรคร้ายที่ทำให้ประชากรเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆเราสามารถควบคุมและป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อย่างมาก



ชนิดของไขมันในเลือด

        ไขมันในเลือดที่สำคัญมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไขมันโคเลสเตอรอล(Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์(Triglyceride) โดยทั่วไปในการตรวจไขมันในเลือดแพทย์จะให้ตรวจสารต่างๆ ดังนี้
      

 1.โคเลสเตอรอล(Cholesterol)

        เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ แต่จะพบมากในไขมันจากสัตว์ ซึ่งปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน  ซึ่งไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือด ในอนาคตจะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณโคเลสเตอรอล และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกายเป็นต้น ซึ่งระดับปกติของโคเลสเตอรอลในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

     โคเลสเตอรอลแบ่งย่อยที่สำคัญได้ 2 ชนิด คือ

     1.1 เอชดีแอล (Hight density lipoprotein -HDL) มีหน้าที่นำโคเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเลือดหัวใจตีบน้อยลง HDL จะสูงได้จากการออกกำลังกาย ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50มิลลิกรัม/เดซิลิตร

     1.2 แอลดีแอล (
Low density lipoprotein-LDL) หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง ก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพอกหนาขึ้น จนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก    จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร


      2.ไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride)

              เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้งหรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องอยู่นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสม ไตรกลีเซอร์ไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ อย่างไรก็ตาม การมีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มี โคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50-150 mg/dl)


อาการของไขมันในเลือดสูง
        ไขมันในเลือดสูงจะไม่มีอาการ การที่จะทราบว่าไขมันในเลือดสูง รู้ได้จาก การเจาะเลือด          

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง


1. กรรมพันธุ์
2. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
3. โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
4. โรคตับ โรคไตบางชนิด
5. ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศ(ยาคุมกำเนิด) เป็นต้น
6. การตั้งครรภ์
7. การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
8. ขาดการออกกำลังกาย


เมื่อตรวจพบว่าระดับไขมันสูง ควรมีการควบคุมปริมาณไขมันในเลือดโดยปฎิบัติตัวดังต่อไปนี้

1. การควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่นไขมันจากสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง
2. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนจนเกินไปโยจำกัดอาหารประเภทแป้ง-ข้าวต่างๆ ขนมหวาน
3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เร่งการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งมีกรดไลโนเลอิก เป็นตัวนำโคเลสเตอรรอลไปเผาผลาญ ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
5. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่างๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้กากใย เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก และอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น เพราะกากใยจะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
6. รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่นเบาหวาน ธัยรอยด์ โรคตับ โรคไต และอื่นๆ
7. หยุดยาที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง หรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นๆแล้วแต่ความเหมาะสม
8. การออกกำลังกาย จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับ HDL ควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 20- 30นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
9. ใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด  ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกับการรักษาดังหัวข้อที่กล่าวมาเบื้องต้น  การใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล ควรควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตของตัวเอง

            ทั้งนี้จากการศึกษา พบว่า ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญอย่างมากกับการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่มีภาวะไขมันเลือดสูง จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด           สมองขาดเลือดจนเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านมเป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยประเมินจากสาเหตุที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ควรจะรีบมาเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพกันนะค่ะ อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
โดย นพ.อดิศักดิ์  กาญจนากิตติ  (อายุรแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)


เบาหวาน คืออะไร


          เบาหวาน คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงหรือต่ำเกินไป จนทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินต่อร่างกาย โรคนี้มีความรุนแรง     สืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้



อาการผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นเบาหวาน


1.  หิวบ่อย
2.  ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก
3.  กระหายน้ำ
4.  น้ำหนักลด
5.  อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
6.  ติดเชื้อบ่อยๆซ้ำๆ
7.  ตาพร่ามัว



ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน


1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
2. มีญาติสายตรง คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง คนใดคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวาน
3. โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆดื้อต่ออินซูลิน
4. ไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้เซลล์ต่างๆไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ หรือช่วยการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีนั่นเอง
5. มีประวัติเคยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ หรือเคยตรวจพบความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็น เบาหวาน
6. เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตร มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
7. มีภาวะความดันโลหิตสูง (มากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
8. มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (ค่าเอชดีแอล มีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิเมตรต่อเดซิลิตร และหรือไตรกลีเซอร์ไรด์มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)


แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร

          แพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือการตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณน้ำตาลในเลือด และดูสารที่เรียกว่าฮีโมโกลบินเอวันซี ซึ่งค่าปกติของน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงค่า FBS(Fasting Blood Sugar) ต้องน้อยกว่า 110มิลลิกรัม/เดซิลิตร และค่า HbA1C น้อยกว่า 6.5%




 รักษา เบาหวาน ได้อย่างไร 

          แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน ต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต    การใช้ยา และการรักษาควบคุมโรคร่วมต่างๆ หรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ลดอาหารแป้ง น้ำตาล และไขมัน เพิ่มอาหารประเภทผัก  และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ ส่วนการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีดอินซูลิน รวมทั้งยาต่างๆ ที่ใช้รักษาโรคร่วมต่างๆ เช่น การรักษาควบคุม โรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
          โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่จัดว่ารุนแรง เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นกับผลของการควบคุมโรคได้ คือการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด
          ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องรักษาควบคุมโรคตลอดชีวิต ซึ่งการจะควบคุมโรคได้ดี ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัดและไม่ขาดยา

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

มารู้จัก...โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

มารู้จัก...โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่



โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร?  

     โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเซลล์ที่เกิดขึ้นจากเซลล์เยื่อบุของทางเดินอาหารส่วนปลายที่เรียกว่าลำไส้ใหญ่นั้น มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ จนมีลักษณะเป็นก้อนขึ้นมา รวมถึงสามารถที่จะกระจายไปยังที่อื่น ๆ ได้ด้วยซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นปีหรืออาจจะหลายปีได้ ในประเทศไทยพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ชายมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด ในผู้หญิงเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับและมะเร็งปอด



สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

     สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ที่ทราบคือปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้โอกาสการเกิดมะเร็งสูงขึ้น แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงก็ตาม



ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. อายุ 50 ปี หรือมากกว่า

2. ประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะถ้าบุคคลนั้นเป็นญาติสายตรงและได้รับการวินิจฉัย
    ว่า
 เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี

3. มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งรังไข่, มะเร็งมดลูก และ มะเร็งเต้านม

4. มีประวัติเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

5. มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease)

6. โรคอ้วน

7. สูบบุหรี่


อาการอะไรที่ควรสงสัยหรือควรมาปรึกษาแพทย์

1. นิสัยในการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการท้องผูก หรือท้องเสียเกิดขึ้นใหม่ หรือมีอาการ
    ท้องผูกสลับท้องเสีย

2. มีความรู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด

3. ขนาดของอุจจาระเล็กลงหรือลีบลงกว่าปกติ

4. อุจจาระมีมูกเลือดหรือสีดำคล้ำ

5. มีอาการแน่นท้อง, ท้องอืด หรือ ปวดท้อง

6. มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ



การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

     โดยทั่วไปแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองในประชากรทั่วไปอายุ 50 ปีหรือมากกว่า, หรือบุคคลที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่



วิธีการตรวจคัดกรอง  
ได้แก่ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ, การเอกซเรย์สวนแป้งตรวจดูลำไส้ใหญ่, การส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่



การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

     แพทย์ก็จะทำการซักประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจหาเลือดในอุจจาระ, การเอกซเรย์สวนแป้งตรวจดูลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้องร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวิจิจฉัยทางพยาธิวิทยา จากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคและวางแผนในการรักษาต่อไป


การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

     การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งที่เป็น ซึ่งในปัจจุบันการรักษาได้พัฒนามากขึ้นทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย การรักษานั้นประกอบไปด้วยการผ่าตัด, การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดทั้งในส่วนที่ใช้ในการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด หรือการรักษาในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายก็ตาม, และการรักษาประคับประคอง เช่น การฉายรังสีเพื่อควบคุมอาการปวดและอาการอื่น ที่เกิดจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น



การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้มาก ๆ

2. ควบคุมการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วน

3. ออกกำลังการสม่ำเสมอ

4. งดบุหรี่

5. ทำการตรวจคัดกรองกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการที่สงสัย





ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรคกรดไหลย้อน (GERD)

โรคกรดไหลย้อน (GERD)




         โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือแสบหน้าอก บางครั้งอาจจะรู้สึกรสเปรี้ยว
        การเกิดโรค กรดไหลย้อน นั้น เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วกรดจะไม่สามารถขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารได้ ยกเว้นในช่วงที่กลืนอาหาร หรือช่วงที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ


ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

1. ดื่มสุราเป็นประจำ
2. อ้วน เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้กรดไหลย้อนมาก
3. การรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เผ็ด อาหารมักดอง อาหารมันอาหารทอด เพราะจะยิ่งเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร
4. ทานอาหารมากจนอิ่มเกินไป
5. คนที่มักมีอาการเครียด




อาการของกรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1. อาการที่เกิดในหลอดอาหาร   จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถวๆหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย
   ที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้

2. อาการนอกหลอดอาหาร   จะมีเสียงแหบเรื้อรังมักมีเสียงแหบตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่นหอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก “โรคกรดไหลย้อน” คุกคาม





การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?
การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดอาการเป็นหลัก

1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

         -พฤติกรรมบริโภค
* ไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
* หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อดอาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
* หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
* หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบหรี่

          -พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
* ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
* รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
* ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
* พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
* สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น

2) การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้รักษาแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
2.1 ยาที่ลดฤทธิ์ความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้กรดที่ย้อนขึ้นในหลอดอาหารมีฤทธิ์ลดตามไปด้วย ได้แก่
- ยากลุ่ม Antacids เช่นยา Antacil gel, Belcid และ Maalox เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก
- ยากลุ่ม Algynic acid เช่นยา Algycon และ Gaviscon เป็นต้น
2.2 ยาที่ลดการหลั่งของกรดกระเพาะ ได้แก่
- Histamine blocker เช่นยา Ranitidine
- Proton pump inhibitor ซึ่งเป็นยาที่ลดกรดได้เป็นอย่างดีและออกฤทธิ์นาน จึงทำให้สามารถลดอาการได้ดีที่สุด ซึ่งอาจจะใช้เวลารักษา 1-3 เดือน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็อาจจะลดยาลงได้   ยาที่นิยมใช้ได้แก่ Omeprazole, lansoprazole  pantoprazole, rabeprazole และ esomeprazole
* หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก หรือทำให้หูรูดหย่อน เช่น ยาแก้ปวด Aspirin NSAID VITAMIN C
* หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรจะต้องตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การส่องกล้องตรวจกระเพาะ หรือ การกลืนแป้งตรวจกระเพาะ

3) การรักษาโดยการผ่าตัด
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด

          แม้จะมีวิธีการรักษากรดไหลย้อน หรือรู้วิธีช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนแล้วก็ตาม แต่หากยังคงปฏิบัติหรือใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง กรดไหลย้อนก็จะยังคงย้อนวนเวียนกลับมาเหมือนเดิมนั่นเอง ฉะนั้น

“เพื่อสุขภาพ

ปรับพฤติกรรม

ใช้ยาถูกต้อง

ป้องกันโรคกรดไหลย้อน”

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...