วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

โรคภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะสมองเสื่อม(Dementia)
บทความโดย ..พญ.นิติภรณ์   แจวจันทึก  (อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา) โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

           

เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของการทำงานของสมองหลายส่วน โดยมีลักษณะเด่น คือ ความจำที่แย่ลง ร่วมกับภาวะเสื่อมถอยของทักษะต่างๆ เช่น การใช้ภาษาและความเข้าใจภาษา การใช้เหตุผล การตัดสินใจผิดปกติไป จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือกิจวัตรประจำวัน อาการหลักๆที่สังเกตได้ คือ มักจะมีปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น จำเหตุการณ์เมื่อสองสามวันก่อนหรืออาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ได้แต่ความจำเก่าๆสมัยหนุ่มสาวยังดีอยู่

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม แบ่งเป็น 

- ภาวะสมองเสื่อมที่อาจหายได้
เช่นภาวะเลือดออกในสมอง, โรคหลอดเลือดสมองตีบ,การขาดวิตามินบี 12 ,ต่อมไทรอย์
ทำงานผิดปกติ,การติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส 

- ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด 
เช่นโรคอัลไซเมอร์ 


หลงลืมตามวัยหรือสมองเสื่อมต่างกันอย่างไร?

ผู้ที่มีอาการขี้ลืมหรือหลงลืมตามวัย มักจะพอจำเหตุการณ์ได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด เช่น ลืมพวงกุญแจไว้ที่ไหน ไม่แน่ใจว่าล็อคประตูบ้านแล้วหรือยัง ในขณะผู้ที่มีอาการหลงลืมแบบสมองเสื่อมมักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้น หรือลืมแล้วลืมเลย เช่นจำไม่ได้เลยว่าต้องไขกุญแจ จำไม่ได้เลยว่าขณะนี้ตนเองอยู่ไหน ถ้าหุงข้าวไว้แล้วเดินไปทำอย่างอื่นปรากฏว่าข้าวไหม้ ได้กลิ่นไหม้ลอยมา ลูกหลานถามว่าหุงข้าวไว้เหรอก็จะบอกว่าไม่ได้หุง จำไม่ได้เลยว่าตัวเองเป็นคนหุงและในภาวะสมองเสื่อมมักจะมีอาการของสมองส่วนอื่นๆผิดปกติด้วยดังกล่าวข้างต้น


อาการที่ต้องสังเกตุและควรปรึกษาแพทย์


1.   หลงลืมบ่อยๆจนน่าเป็นห่วง

2.   นึกถึงสิ่งที่ทำไปแล้วไม่ออก

3.   นึกคำพูดไม่ออก และใช้คำอื่นแทน ทำให้ฟังไม่เข้าใจ

4.   หลงทางกลับบ้านไม่ถูก

5.   แต่งตัว ไม่ถูกกาลเทศะ  ไม่สนใจดูแลตัวเอง

6.   บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ หรือเอารองเท้าเก็บในตู้เย็น


7.   อารมณ์แปรปรวน ไม่มีเหตุผล

8.   บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง

9.   เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา



เมื่อมาพบแพทย์ จะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก ทำแบบทดสอบประเมินความจำ การทำงานของสมอง ตรวจเลือดและเอกซเรย์สมองเพื่อแยกว่าภาวะสมองเสื่อมนั้นรักษาได้หรือไม่ และต้องรักษาอย่างไร


แม้ภาวะสมองเสื่อมบางชนิดไม่อาจป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพที่ดี อาจช่วยให้สุขภาพของสมองดีกว่าในระยะยาว เช่น

- ควบคุมน้ำหนัก เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังหลายชนิด ที่เป็นสาเหตุของ
โรคสมองเสื่อม 

- นอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน  

- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ

- ลองฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเช่น ทานอาหารด้วยมือซ้าย 

- ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที ทุกวัน  

--------------------
คลินิกโรคระบบประสาท โดย พญ.นิติภรณ์ แจวจันทึก  โทร. 053-921-777 ต่อ 1399

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...