วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  (Erectile Dysfunction)
โดย นพ.สุทธิพันธ์  วงศ์วนากุล      ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค



      ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือที่เราเรียกกันว่า นกเขาไม่ขัน ที่จริงแล้วมีภาวะอันตรายบางอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพซ้อนเร้นอยู่ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เรื่องความสุขทางเพศหรือปัญหาครอบครัวเพียงอย่างเดียว


    ภาวะหย่อนสภาพทางเพศนั้นคือภาวะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ไม่เต็มที่หรือไม่นานเพียงพอหรืออาจไม่แข็งตัวเลยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและส่งผลถึงความพึงพอใจในเรื่องของความสุขกับคู่นอน ผู้ป่วยที่มีโอกาสเป็นภาวะหย่อนสภาพนั้นพบได้ตั้งแต่วัยรุ่น แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปโดยยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น

      ปกติอวัยวะเพศจะแข็งตัวได้ก็ต่อเมื่อได้รับการกระตุ้นทางเพศ เช่น จินตนาการ รูปภาพ การสัมผัสเป็นต้น หรือแข็งตัวได้จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายในช่วงเวลาหลับตอนกลางคืนและตื่นนอนตอนเช้า โดยอวัยวะเพศนั้นต้องมีความสมบูรณ์ ระบบเส้นเลือด ระบบประสาทและระบบฮอร์โมนต้องอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นความผิดปกติของระบบใดระบบหนึ่งจึงส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้


       โดยส่วนใหญ่สาเหตุของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น แบ่งได้ เป็น 2 อย่าง คือ


1.ความผิดปกติของร่างกาย

2.ความผิดปกติของจิตใจ


ซึ่งมักพบทั้ง 2 อย่างร่วมกันในผู้ที่มีภาวะนี้ ดังนั้นการตรวจรักษาและประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งสาเหตุบางอย่างไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถรถหายจากภาวะนี้ได้ เช่น การปรับการใช้ยากลุ่ม ยาโรคจิตประสาท ยาคลายเครียด ยาลดความดันบางชนิด (Thiazide) ซึ่งส่งผลต่อภาวะหย่อนสภาพทางเพศ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การลดความเครียดจากการทำงาน  ลดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็ทำให้สรรกภาพ ทางเพศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

      ภาวะหย่อนสภาพทางเพศที่มีสาเหตุ จากความผิดปกติด้านจิตใจ เช่น ประสบการณ์ทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ มีความเข้าใจที่ผิดต่อเรื่องทางเพศ ผู้ป่วยประเภทนี้จะยังมีอวัยวะเพศแข็งตัวช่วงหลับตอนกลางคืนและตื่นนอนตอนเช้าได้อยู่ แต่ไม่สามารถแข็งตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยจิตแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะคติบางอย่างให้ดีขึ้น 

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากโรคระบบหลอดเลือด ระบบประสาทหรือความสมบูรณ์ของอวัยวะเพศนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องโรคประจำตัวอยู่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ประวัติอุบัติเหตุไขสันหลัง โรคต่อมลูกหมากโต เคยผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อนเป็นต้น ผู้ป่วยประเภทนี้ตอนนอนหลับกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้าอวัยวะเพศจะไม่แข็งตัว อาการมักค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการสืบหาสาเหตุหรือโรคร่วมที่มักแฝงอยู่ดังที่กล่าวแล้วทำการรักษาที่สาเหตุนั้น ควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะปกติ ก็จะทำให้ภาวะหย่อนสภาพทางเพศดีขึ้น


การรักษาวิธีอื่นนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคุมโรคประจำตัวแล้ว
ยังมีอีกหลายวิธี เช่น
1.การรับประทานยาในกลุ่ม PDE5 inhibitor เช่น Sildenafil (Viagra) ,Vardenafil (Levitra),Tadalafil (Cialis) ซึ่งเป็นยาอันตราย มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จำเป็นต้องสั่งโดยแพทย์ เพราะยามีผลต่อการทำงานของหัวใจ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงของหัวใจ ว่าสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้หรือไม่เสมอ และต้องไม่ใช้ร่วมกับยากลุ่ม Nitrate ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเช่นกัน 
2.ยาประเภทฉีดเข้าอวัยวะเพศโดยตรง
3.ยาชนิดใส่เข้าทางท่อปัสสาวะ
4.ยาอมใต้ลิ้น
5.ยาฮอร์โมนทดแทนในรายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
6.การใช้กระบอกสูญญากาศ (Vacuum devices) และสุดท้ายคือวิธีการผ่าตัดฝังแกนเทียม (Prosthesis) และการผ่าตัดหลอดเลือดในกรณีที่การรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล


เพื่อความสุขของชีวิตครอบครัว และสุขภาพของผู้ชาย จึงจำเป็นต้องดูแลและป้องกันก่อนที่จะมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดขึ้น โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ งดสุรา บุหรี่,ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ, ลดความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อหาภาวะผิดปกติหรือโรคบางอย่างที่ไม่แสดงอาการในตอนเริ่มต้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เพียงเท่านี้สุขภาพกายและสุขภาพน้องชายก็จะแข็งแรงไปอีกนาน

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย (Andropause / Testosterone deficiency syndrome )

ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย
(Andropause / Testosterone deficiency  syndrome)
โดย นพ.สุทธิพันธ์  วงศ์วนากุล      ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

   ชายวัยทอง คือ ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่แสดงความเป็นชาย เช่น ทำให้มีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง  มีขน ผม เครา ที่ดกดำ แสดงลักษณะของอวัยวะเพศชายที่สมบรูณ์  ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก
ความเป็นชาย
         ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน  ร้อยละ 95 ผลิตจากอัณฑะทั้ง 2 ข้าง  อีกร้อยละ 5 ผลิตจากต่อมหมวกไต (adnenal glands) ซึ่งถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง ให้ผลิตฮอร์โมนได้ปกติ  ดังนั้น ถ้าอัณฑะ หรือต่อมใต้สมองผิดปกติไปก็จะทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายได้ 

       โดยทั่วไปผู้ชายเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไประดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จะค่อยๆลดต่ำลงร้อยละ 1-2 ต่อปี โอยพบว่า 50 % ของผู้ชายที่อายุ60ปีขึ้นไปมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดต่ำลง อาการของผู้ที่พร่องฮอร์โมนนั้นมีหลากหลาย ไม่เจาะจงและอาจเกี่ยวข้องกับอาการของโรคอื่นๆได้

      ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายนั้นแสดงออกมาหลายกลุ่มอาการ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และครอบครัวอย่างมาก

 อาการแสดง 
      เช่น  ความรู้สึกทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่มีความภูมิใจในชีวิต รู้สึกตัวเตี้ยลง  มีภาวะMetabolic Syndrome(อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง)  รู้สึกแก่ลงผิดปกติ  กล้ามเนื้อรีบลง  กระดูกพรุนกระดูกยุบ ร้อนวูบวาบ



 ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงกับภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
นอกจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ 
          เช่น ประวัติพันธุกรรมมีคนในครอบครัวเคยเป็นกลุ่มอาการนี้ เครียดจากการทำงาน  พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ โรคอ้วน ป่วยโรคเรื้อรัง(โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง) รับประทานยาไทรอยด์  โรคขาดสารอาหาร  อุบัติเหตุหรือเคยผ่าตัดสมอง/
อัณฑะ 



 การวินิจฉัย 
          เริ่มจากการที่ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวสังเกตอาการเข้าข่ายภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายหรือไม่ หลังจากนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อซักประวัติ  และตรวจร่างกาย  รวมถึงการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอิสระ      โดยจำเป็นต้องตรวจในช่วงเวลาตอนเช้าก่อน11.00น.


 การรักษา 
          ผู้ป่วยภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายก่อนรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนจำเป็นอย่างมาที่ต้องตรวจ เรื่องความเข้มข้นของเลือด  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเต้านมในเพศชาย ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาการต่อมลูกหมากโตรุนแรง และภาวการณ์ทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เนื่องจากเป็น ข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมนทดแทน การใช้ฮอร์โมนทดแทนจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง


          ฮอร์โมนทดแทนมีได้หลายรูปแบบ เช่น กินยา อมยาใต้ลิ้น ฉีดยา แผ่นแปะ เจลทาเป็นต้น ซึ่งเหมาะสมกับแต่ละบุคคลต่างกัน เมื่อได้ฮอร์โมนทดแทนแล้ว อาการต่างๆรวมทั้งผลของโรคในกลุ่ม Metabolic syndrome จะดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น ความจำดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดการเกิดกระดูกพรุน


          นอกจากการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงสมบรูณ์ขึ้น เช่น ลดการทำงานที่ก่อให้เกิดความเครียด ทำให้จิตใจแจ่มใส รับประทานอาหารครอบ 5 หมู่ ลดอาหารจำพวกไขมัน แป้ง  น้ำตาล และเนื้อสัตว์  งดบุหรี่ สุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกานสม่ำเสมอเป็นประจำ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพทั่วไปเป็นระยะ นอกจากนี้บุคคลรอบข้างควรมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย เป็นกำลังใจในยามที่ผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคนี้สามารถรักษาได้ เพียงแต่ต้องได้รับการรักษาและติดตามอย่างถูกวิธี เท่านี้ความสุขในชีวิตและความสุขของครอบครัวก็จะกลับมาดังเดิมครับ

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

โรคนิ่วในไต (Renal Calculi)

 โรคนิ่วในไต (Renal Calculi)
โดย นพ.สุทธิพันธ์  วงศ์วนากุล      ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค




           ผู้ป่วยหลายคนกังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคไตหรือโรคนิ่วในไตเพราะสังเกตเห็นว่าตัวเอง ปัสสาวะผิดปกติไป เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีฟองมาก ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ หรือกระทั่งปัสสาวะมีสีเข้มมากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จริงๆแล้ว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนิ่วอย่างเดียวครับ
 

           “นิ่วก็คือก้อนหิน ที่อยุ่ในร่างกายของคน

เกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะเช่นนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ, นิ่วในระบบน้ำดี, นิ่วในต่อมน้ำลาย และอวัยวะอื่นๆ 

       นิ่วมีด้วยกันหลายชนิด หลายสี หลายขนาด ความแข็งมีตั้งแต่ แข็งน้อยไปจนถึงแข็งมาก โดยทั้งหมดขึ้นอยุ่กับองค์ประกอบของนิ่ว ซึ่งที่นิ่วที่พบมากที่สุด คือนิ่วที่มี แคลเซียม เป็นองค์ประกอบส่วนนิ่วที่แข็งที่สุดคือนิ่ว Cystine ซึ่งพบได้น้อย

ไตนั้นเป็นอวัยวะทีมีความสำคัญมากคือเป็นที่ขับของเสียในร่างกายออกมาในรูปน้ำปัสสาวะ และรักษาสมดุลของร่างกาย
          ไตของมนุษย์มีด้วยกัน 2 ข้าง อยู่บริเวณสีข้างหรือเอว ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเอวหรือปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งร่วมกับปัสสาวะที่ผิดปกติไป

         นิ่วในไตนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของ
โรคไตวายเรื้อรัง
         แต่ถ้ารักษาได้ทันท่วงที
ก็จะทำให้ไตทำงานได้ดีเป็นปกติ

    ผู้ป่วยนิ่วในไตส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง มักเจอโดยบังเอิญ จากการตรวจเช็คร่างกายแล้วพบความผิดปกติของน้ำปัสสาวะ บางคนอาจมีอาการปวดเอวเรื้อรัง ตอดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆหายๆ  หรือบางครั้งมาพบแพทย์ ด้วยอาการของไตวายซึงเป็นภาวะที่ยากต่อการรักษาให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติ ดังนั้นผมจึงแนะนำว่า อายุตั้งแต่วัยทำงานขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อการรักษาได้อย่างทันถ่วงที

     การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในไต มีด้วยกันหลายวิธี เช่น x- ray ทั่วไป, Ultrasound, X-ray ฉีดสารทึบรังสี และX-ray computer ( CT scan )   ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ และการประเมินผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการรักษาก็มีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่นิ่วขนาดเล็กมาก อาจสังเกตอาการไปก่อนเพื่อให้นิ่วหลุดเอง การใช้ยาสลายนิ่ว การใช้เครื่องสลายนิ่ว(ESWL) การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ(RIRS) ส่วนนิ่วที่มีขนาดใหญ่อาจรักษาด้วยการเจาะรูบริเวณสีข้างเพื่อเข้าไปในไตแล้วจึงเอานิ่วออก(PCNL) สุดท้ายคือการผ่าตัดแผลกว้างบริเวณเอวเพื่อนำนิ่วออกจากไต

  สาเหตุของการเกิดโรคนิ่วในไต
มีหลายสาเหตุ เช่น 
- พันธุกรรม 
- ความผิดปกติของเมตาบอลิซึ่ม(Metabolism)ใน    ร่างกาย 
- ดื่มน้ำน้อยและเสียเหงื่อมาก
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
   หรือเคยผ่าตัดลำไส้มากก่อน   
- คนอ้วน
- รับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
- เนื้อสัตว์ อาหารที่มี ออกซาเลต(oxalate) สูง (ชาดำ  โกโก้  ผักขม  ช็อคโกแลต  ถั่ว  เป็นต้น) 
- ยาบางชนิด เช่น steroid  ยาขับปัสสาวะ  ใช้ยาระบายอุจจาระเป็นประจำ- โรคมะเร็ง  ภาวะท่อไตอุดตัน 
- ผู้ป่วยที่เคยเป็นนิ่วมาก่อนจะมีโอกาสเกิดนิ่วซ้ำได้มากกว่าคนทั่วไป



     ดังนั้น เราควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนิ่วในไต
   คือ ดื่มน้ำประมาณ 2ลิตรต่อวัน  ดื่มน้ำส้ม น้ำมะนาว ลดความอ้วน  ออกกำลังกาย   ลดอาหารรสเค็ม  เนื้อหมู  เนื้อไก่  เนื้อวัว  ควรรับประทานเนื้อปลา ลดอาหารที่มี ออกซาเลต  ไม่ควรกินวิตามินซีเกิน 2 กรัมต่อวัน ควรรับประทาน แคลเซียม เพราะ แคลเซียมจะช่วยลดการดูดซึมของ ออกซาเลตในลำไส้  หลีกเลี่ยงการใช้ยาบาง
ชนิดเป็นประจำ สุดท้ายควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอเพราะจะสามารถตรวจพบนิ่วในระยะเริ่มเป็นได้ครับ

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า

โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า
โดย พญ.สิดาพัณณ์  ยุตบุตร      กุมารแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค



            จากอุบัติการณ์ทั่วโลก สาเหตุของอาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งในเด็กเล็ก

                                     “เชื้อไวรัสโรต้า” นับเป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุด  

           ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับอาการท้องร่วงที่   มาจากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะในอเมริกาที่มีการระบาดของโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคนี้นับล้านคน แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 100 คนต่อปี และรุนแรงที่สุดทั่วโลก โดยมีเด็กเสียชีวิตถึงปีละล้านคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ของแต่ละพื้นที่ในการรักษา และช่วยชีวิตเด็กไว้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยจะเห็นได้ว่าแม้แต่ประเทศที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นจากกการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ฉะนั้นทุกคนควรหันมาทำความรู้จักกับไวรัสโรต้าให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง



           แม้เชื้อไวรัสตัวนี้จะพบมากในช่วงฤดูหนาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพอนามัย เพราะทุกคนสามารถรับเชื้อได้จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปากชอบอมของเล่นที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้าจะมีชีวิตอยู่ตามวัตถุสิ่งของใน  อุณภูมิปกติ โดยระยะฟักตัวของโรคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 48 ชั่วโมง




ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก โดยมักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้ออาจติดตามมากับมือ ของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อเด็กสัมผัส และเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทำให้มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียได้ 




คุณแม่อย่านิ่งนอนใจในอาการท้องร่วงของลูกน้อย เพราะถ้าละเลยโดยเฉพาะในเด็กอ่อนหากเป็นมากอาจช๊อคและเสียชีวิตได้
โดย 4 สัญญาณเตือนภัยร้ายจาก “ไวรัสโรต้า” 
ที่ควรรีบมาพบแพทย์  
คือ มีอาการของการขาดสารน้ำรุนแรง ได้แก่
       
    1. มีอาการซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น
    2. มีอาการอาเจียนมาก หรือถ่ายมากผิดปกติ
    3. มีปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง
    4. มีอาการตาไหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือเด็กเล็กๆ จะมีกระหม่อมบุ๋ม

     
        อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคท้องร่วงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่มียารักษา ดังนั้นการรักษาจึงสามารถทำได้โดยรักษาตามอาการเท่านั้น  


               วิธีป้องกันที่ดีที่สุด  คือการล้างมือบ่อยๆก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หมั่นดูแลทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันด้วยนมแม่ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งในปัจจุบันพ่อแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ตั้งแต่เนิ่นๆด้วยการรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเริ่มหยอดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...