วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรคไข้ชัก (Febrile convulsion)

โรคไข้ชัก (Febrile convulsion)


          โรคไข้ชัก หมายถึง อาการชักแบบเกร็ง หรือกระตุกทั้งตัวเกิดขึ้นขณะมีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการติดเชื้อในระบบประสาทหรือความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และไม่เคยมีประวัติชักโดยไม่มีไข้ร่วมด้วยมาก่อน พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้วพบได้น้อยมาก


สาเหตุ


          ภาวะนี้เกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆเช่นไข้สูง และ สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะมักมีประวัติโรคไข้ชักตอนเป็นเด็กของคนในครอบครัวร่วมด้วย และสาเหตุของไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน คือโพรงจมูกและลำคอ (เช่นไข้หวัดใหญ่)เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ(Roseola,โรคไข้ผื่นชนิดหนึ่งในเด็กเล็ก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พี/Herpes)และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ


อาการ
          เด็กจะเริ่มไม่สบาย โดยอาจมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย ซึมลง มีไข้สูงและชัก ลักษณะของการชัก คือตัวจะแข็งเกร็ง มือเท้ากระตุก ตาเหลือก กัดฟันแน่น น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว อาจมีอาเจียน หรือถ่ายปัสสาวะ อุจจาระขณะที่กำลังชัก อาการชักมักจะนานไม่เกิน 15 นาที ในรายที่ชักอยู่นาน ใบหน้า ริมฝีปาก และมือเท้าจะเขียวจากการขาดออกซิเจน
          โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีผลต่อพัฒนาการ หรือการเรียนรู้ของเด็กที่เดิมแข็งแรงดี ยกเว้นในบางรายที่มีอาการชักติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะถ้านานมากกว่า 30 นาที)จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน ทำให้อาจมีผลต่อสมองได้ แต่โดยทั่วไปอาการชักชนิดนี้ มักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที จึงไม่น่ามีอันตรายต่อสมองของเด็ก และโอกาสชักซ้ำ จะมีประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีไข้สูง จนกว่าจะอายุมากกว่า 5-6 ปี ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ในตอนเด็ก อาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น


การป้องกัน


          โรคไข้ชักมักเกิดเมื่อเด็กมีไข้สูงเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดในเด็กที่มีไข้สูงทุกคน และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการชักจากภาวะไข้สูงที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สามารถป้องกันได้ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการของบุตรหลาน ถ้าพบว่าไข้สูงมาก ควรให้ยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ทันที และควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเด็กที่กำลังชัก
          -จับให้เด็กนอนตะแคง ไม่หนุนหมอน หันศีรษะไปด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก
          -คลายเสื้อผ้าให้หลวม
          -ห้ามใช้ช้อนหรือวัตถุอื่นใด หรือนิ้วมืองัดปาก และห้ามป้อนยาหรือน้ำทางปาก ในขณะที่เด็กไม่รู้สึกตัว
          -เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือแอลกอฮอล์
          -นำเด็กส่งโรงพยาบาล หรือพบแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าสาเหตุของการชักเกิดจากไข้สูง หรือสาเหตุอื่น เช่นการติดเชื้อในสมอง ซึ่งต้องรักษาที่ต้นเหตุด้วย


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในเด็กที่มีไข้สูง

          -รับประทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล
          -ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ
          -เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นและขณะเช็ดตัว ควรปิดพัดลม หรือปิดเครื่องปรับอากาศ
          -สำหรับวิธีการเช็ดตัว ควรถอดเสื้อผ้าออกให้หมด ใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กชุบน้ำให้ชุ่มพอควร แล้วเช็ดชโลมให้ทั่วตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ลำตัว ทั้งแผ่นหน้าและแผ่นหลัง แขนและขา ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ขณะที่เช็ดตัวให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำที่บริเวณ หน้าผาก รักแร้ และขาหนีบไว้ด้วย
          -ถ้าปลายมือ ปลายเท้าเย็น ควรใช้น้ำอุ่นประคบ กรณีไข้ไม่ลดลง ควรไปพบแพทย์

          สรุปสิ่งที่ควรรู้จากโรคไข้ชัก คืออาการชักจากไข้พบว่า มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติการชักจากไข้จะมีโอกาสชักจากไข้สูงมากกว่า เด็กที่ครอบครัวไม่มีประวัติชักจากไข้ โดยทั่วไปแล้ว การชักจากไข้สูงไม่ทำให้เกิดสมองพิการ เด็กจะมีความสามารถในการเรียนและสติปัญญา(IQ) เหมือนเด็กปกติทั่วไป ในการเกิดอาการชักซ้ำจากไข้ โดยทั่วไปโอกาสเกิดอาการชักซ้ำพบร้อยละ 30 และมักเกิดภายใน 2 ปีแรก การป้องกันการชักซ้ำ เมื่อเริ่มมีไข้ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ แล้วพามาพบแพทย์ ส่วนการให้ยากันชักอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล และผู้ปกครองต้องเข้าใจวิธีการบริหารยากันชัก อย่างถูกต้อง

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรคหลอดเลือดในสมองแตก


โรคหลอดเลือดในสมองแตก
โดย นพ.มาโนช เล้าวงศ์  Surgical Management of Hemorrhagic Stroke



      โรคหลอดเลือดในสมองแตกพบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมองมีสาเหตุเกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง. ทำให้บริเวณหลอดเลือดนั้นโป่งพองและแตกออกหรือจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นเนื่องจากมีการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแตกได้ง่ายเป็นเหตุให้มีเลือดออกในสมองส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้สูงถึง. 30-50% 


     ปัจจัยที่มีผลลบต่อการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยที่สำคัญได้แก่ ปริมาตรของก้อนเลือดในสมอง, ขนาดของก้อนเลือดที่เพิ่มขึ้น และมีการแตกของก้อนเลือดเข้าไปในโพรงน้ำของสมอง พบว่าการเพิ่มขนาดของก้อนเลือดในสมองภายใน24ชั่วโมงแรก พบได้ประมาณ 20-40 %. ของผู้ป่วย

การรักษา:
การรักษาเส้นเลือดแตกในสมองมีอยู่ 2 วิธีคือการรักษาทางยา (medical treatment) และการผ่าตัดรักษา(surgical treatment) ผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการรักษาทางยาเมื่อแรกเข้ามาในโรงพยาบาล. แล้วค่อยพิจารณาถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกโดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นรายๆไปซึ่งการรักษาทั้งสองวิธีนี้ต้องพิจารณาร่วมกันเสมอเพื่อผลลัพธ์ ที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วย


1. การรักษาทางยา
ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกตัวลดลง, ความดันโลหิตสูง, สมองบวมและภาวะความดันในสมองสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสมอง การรักษาจะต้องแก้ไขสภาวะผิดปกติเหล่านี้ให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วหรือไม่ให้เพิ่มมากขึ้น การรักษาคือ

1.1 การดูแลทางเดินลมหายใจ
      ในผู้ป่วยที่มีอาการซึมมากหรือไม่รู้สึกตัว มักจะมีการหายใจ ช้า ลิ้นตก อาเจียนและสำลัก เป็นสาเหตุของการอุดตันทางเดินหายใจ

1.2 การควบคุมความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันการหลอดเลือดแตกเพิ่มขึ้น

1.3 ลดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ
1.4 การให้สารน้ำและเกลือแร่
1.5 การให้ยาป้องกันชัก


2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
ปัจจัยที่ต้องคิดถึงคือ:
  2.1 ความรู้สึกตัวพบว่าผ่าตัดรักษาผู้ป่วยขณะรู้สึกตัวอยู่จะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว
  2.2 ความดันโลหิตสูง ถ้าไปทำผ่าตัดในระยะนี้จะมีอัตราการตายสูงเพราะเป็นระยะที่มีภาวะหลอดเลือดในสมองหดตัว เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงและอาจเกิดการแตกของเส้นเลือดซ้ำหลังผ่าตัดได้
  2.3 ตำแหน่งและขนาดของก้อนเลือด เส้นเลือดแตกที่แกนสมองจะไม่ผ่าตัด
  2.4 การกดเบียดต่อสมองที่ดีของก้อนเลือด
 2.5 เวลาของการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยมีอาการคงที่และไม่ทรุดลง ควรรักษาทางยาก่อน แล้วค่อยทำการผ่าตัดในวันที่4-5หลังเลือดออก จะให้ผลการผ่าตัดที่ดีกว่าเพราะสมองมีการยุบบวมแล้วและเกิดการแตก ซ้ำหลังผ่าตัดน้อย แต่ในรายที่เมื่อเข้ามารักษาในโรงพยาบาลแล้วความรู้สึกตัวเลวลงเป็นลำดับก็จำเป็นต้องรีบผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกโดยด่วน ถ้ารอจนอาการโคม่าแล้วการผ่าตัดจะไม่ได้ผลดี
  2.6 ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมเช่นโรคเบาหวาน ,โรคหัวใจ,ไตวาย และอายุมากจะทำให้ผลลัพธ์การผ่าตัดไม่ดี
  2.7 บุคคลากรในหอผู้ป่วยวิกฤติต้องได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง

สรุป :

       ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกยังเป็นโรคที่มีอัตราเสียชีวิตสูงและผู้ป่วยที่รอดชีวิตก็จะมีความพิการตามมาไม่มากก็น้อย เพราะเลือดที่ออกมาจะทำลายหน้าที่ของสมองที่สำคัญรวมทั้งส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกตัวผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยความดันในกระโหลกศีรษะสูงและแกนสมองสูญเสียหน้าที่ การรักษาจึงมีเป้าหมายทำให้ความดันภายในกระโหลกศีรษะลดลงและป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของแกนสมองเลือดที่ออกในบางตำแหน่งหรือในรายที่หมดสติแล้ว การผ่าตัดจะไม่ค่อยมีประโยชน์และมีอัตราตายสูง ผลการผ่าตัดจะได้ผลดีในรายที่ยังไม่ถึงกับหมดสติ ดังนั้นระยะเวลา ในการตัดสินใจทำผ่าตัดและระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญจุดมุ่งหมายในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดคั่งในสมองคือให้ผู้ป่วยมีอัตราตายและความทุพพลภาพลดลงให้เหลือน้อยที่สุด
                                                              


วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรคอีสุกอีใส(Chickenpox)

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox)


          โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน มักจะระบาดในปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ช่วงเดือน มกราคม-เมษายน พบมากในเด็กวัย 5-9 ปี
ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา(Varicella Virus) สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย มีระยะฟักตัวประมาณ
10-21 วัน คนไข้จะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีอาการ 2 วัน จนถึงมีตุ่มน้ำแตกกลายเป็นสะเก็ด


อาการ
          อาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นเองหายเองได้ แต่จะพบมีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรียได้ เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังทำให้กลายเป็นหนองและจะมีแผลเป็นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้า ปอดบวม สมองอักเสบ และเยื่อสมองอักเสบนอกจากนี้ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


ระยะอาการของโรคแบ่งได้ดังนี้
1.ระยะไข้ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเชื้อ จะมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นไข้สูงหรือต่ำ มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ
2.ระยะผื่น ผื่นจะขึ้นเป็นผื่นแดงๆ ลักษณะเป็นผื่นแดงเม็ดเล็กๆ แต่จะไม่มีอาการรุนแรงอะไร เว้นแต่มีอาการคันมาก 1 วัน
3.ระยะพองตุ่มใส ในระยะนี้ตุ่มจะค่อยๆใสและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 3-5วัน จะขึ้นตรงบริเวณลำตัวก่อน ลามไปที่คอ สามารถขึ้นที่หน้า ศีรษะ แขนขา และลามไปได้ทั้งตัว หรือแม้แต่เยื่อบุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา ตุ่มอาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
4.ระยะตุ่มแห้ง ตกสะเก็ดภายใน 1-3 วันและสะเก็ดแผลก็จะค่อยๆลอกจางหายกลับเป็นปกติภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

การรักษา
1.ถ้ามีอาการไข้ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพรินเพราะอาจมีอาการแพ้ยาได้ โดยเฉพาะในเด็ก
2.ทายาแก้คัน เช่น คารามาย หรือกินยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
3.ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
4.ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกา ซึ่งจะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
5.ใช้น้ำเกลือเช็ดแผลเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น และใช้สบู่ในการฟอกตัวอาบน้ำเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง
6.ผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไปและเด็กทารก จะใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาร่วมด้วย เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อย
7.ถ้าผู้ใหญ่เป็นอีสุกอีใสให้รีบไปพบแพทย์ เพราะมียากินทำให้ลดจำนวนตุ่มได้ ถ้าเรากินเร็วทันเวลาจะทำให้หายเร็ว แต่ถ้าเป็นในเด็กไม่จำเป็นต้องกินยา ปล่อยให้เด็กได้สร้างภูมิคุ้มกัน
8.ถ้าเกิดมีอาการเหมือนแน่นหน้าอก หายใจเร็ว ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ ตุ่มเป็นหนอง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


การป้องกัน
1.แยกเด็กที่ป่วยไว้ต่างหาก
2.ไม่ใช้ข้าวของปะปนกัน
3.พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
4.ฉีดวัคซีนป้องกัน (แนะนำให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป)

          โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวจะฝังตัวอยู่ในร่างกายของเราตลอดชีวิต ถึงแม้อาการของโรคอีสุกอีใสจะหายไปแล้วก็ตาม พอเวลาเราเครียด อดนอน ไวรัสจะจู่โจมทำให้เกิดตุ่มพองใสอย่างอื่น เราเรียกว่า”งูสวัด” เด็กบางคนที่มีโรคประจำตัวต้องกินยากดภูมิหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในกรณีนี้เด็กสามารถเป็นซ้ำครั้งที่สองได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก ฉะนั้นต้องสังเกตและดูตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีอาการอย่าลืมมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องน่ะค่ะ


มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)


          มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้ในผู้ชายโดยเฉพาะผู้ชายสูงวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา เป็นมะเร็งที่พัฒนาในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มักเป็นมะเร็งที่ซ่อนเร้น ไม่ปรากฎอาการในระยะแรกๆ
              มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุ มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด ตามสถิติจากสถาบันมะเร็งของสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 6ของผู้ชายมีการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและ 1 ใน 35 เสียชีวิตจากโรคนี้

          แต่พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พัฒนาตัวช้ากว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งแปลว่า หากมีการตรวจพบก่อน และรักษาในช่วงแรกๆ โอกาสการเสียชีวิตก็จะน้อยลง



สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
          1.อายุ  โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมากในผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี แต่จะพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
          2.ประวัติครอบครัว       ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนทั่วไป
          3.เชื้อชาติ       พบไม่บ่อยในชาวเอเชียแต่พบมากในอเมริกา
          4.อาหารที่มีไขมันสูง     เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนผักและผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
          5.ผู้ที่สูบบุหรี่    มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก


อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ แต่หากมีอาการผู้ป่วยมักจะแสดงอาการคล้ายกับอาการโรคต่อมลูกหมากโต เช่น                                                                                                  
 1 .ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
          2.ปัสสาวะลำบากและเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
          3.ปัสสาวะไม่พุ่ง
          4.อวัยวะเพศแข็งตัวยาก
          5.เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด
          6.มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ , น้ำอสุจิ
อาการต่างๆเหล่านี้อาจจะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ

การวินิจฉัย
          1.การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญ คือ การตรวจ PSA ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่า PSA ได้โดยการเจาะเลือด ในคนปกติค่า PSA จะอยู่ในระดับ 0-4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ค่านี้อาจสูงขึ้นตามอายุ หรือ ขนาดของต่อมลูกหมาก
          2.การตรวจU/S(อัลตราซาวด์)ของต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงโดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจประเมินต่อมลูกหมาก
          3.การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมาก โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก  หากเป็นมะเร็งอาจคลำได้ก้อนแข็ง การคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเป็นการตรวจประเมินร่วมกับค่า PSA
          4.การตัดชิ้นเนื้อ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัยและมีค่า PSA สูงขึ้นเมื่อติดตามเป็นระยะ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่า เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก ขณะที่ทำการตรวจต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก




ระยะของโรค
          ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็ก อยู่ในต่อมลูกหมาก การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
          ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
          ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือลุกลามไปกระดูกและอวัยวะอื่นๆ



การรักษา

            1.การผ่าตัด     การผ่าตัดเป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกๆ ที่ดีที่สุดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆสามารถหายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดก็จะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วย     แพทย์จะใช้ดุลยพินิจในการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ผลเสียของการผ่าตัดต่อมลูกหมากคือ อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด และบางราย การควบคุมการปัสสาวะจะเสียไป
          2.การฉายรังสี   การรักษาโดยการฉายรังสีนั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย เช่น ในรายผู้ป่วยสูงอายุ หรือในรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจซึ่งไม่เหมาะสมที่จะรักษาโดยการผ่าตัด หรือฮอร์โมน
          3.การรักษาโดยฮอร์โมน เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะที่ 3-4 หรือมีการกระจายไปแล้วนั้น เนื่องจากต่อมลูกหมากโดยปกติเจริญเติบโตอาศัยฮอร์โมนเพศชาย เช่น testosterone มะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกัน เมื่อเอาแหล่งต้นตอของฮอร์โมนเพศชายออก ก็จะช่วยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ไม่โตขึ้นอีก ซึ่งสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2ข้าง หรือใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย การรักษาด้วยฮอร์โมนนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย หรือในรายที่กลับมาเป็นอีก หลังจากรับการรักษาด้วยการฉายแสงแล้ว


วิธีการฟื้นฟูร่างกายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
          1.ดูแลด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยผู้ป่วยลดความอึดอัดใจและคลายความวิตกกังวล ให้กำลังใจผู้ป่วย
          2.ดูแลทางด้านโภชนาการและลำไส้        เพื่อลดอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ควรจัดให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย รับประทานผักและผลไม้ที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำมากๆ ห้ามทานของเผ็ดหรือมีรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก

          3.ติดตามพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อดูค่า PSA และประเมินผลแทรกซ้อนอื่นๆ 

นิ่วในทางเดินปัสสาวะและการสลายนิ่ว

นิ่วในทางเดินปัสสาวะและการสลายนิ่ว                                                                                    



            นิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิ่วคือก้อนหินปูนหรือผลึกเกลือแร่ ซึ่งเกิดในระบบทางเดินน้ำปัสสาวะ  นิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะมักจะเกิดขึ้นที่ไตก่อน แล้วอาจจะหลุดมาติดอยู่ในหลอดไตหรือหลุดมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนประกอบของนิ่วมีหลายอย่างเช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริค


 สาเหตุของการเกิดนิ่ว

1.กรรมพันธุ์  ผู้ป่วยที่มีพ่อแม่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้
2.อายุและเพศ นิ่วในไต พบได้ในชายมากกว่าหญิง ถึง2ต่อ1พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
3.ความผิดปกติในการทำงานของต่อมพาราทัยรอยด์ ซึ่งหลั่ง hormone ที่ควบคุมสาร calcium ออกมามากกว่าปกติ
4.มีการตีบแคบของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง การตีบแคบนี้อาจมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง
5.ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ เกิดจากมีสารต่างๆถูกขับออกมาในน้ำปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำจากร่างกายทางด้านอื่นมาก เมื่อปัสสาวะเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในปัสสาวะจะตกผลึก ก็มีมากขึ้น
6.การอักเสบการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
7.ยาบางอย่าง ทำให้เกิดนิ่วได้ ยาลดกรดที่กินอยู่เป็นเวลานานๆทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง จะเกิดนิ่วพวกphosphate ได้ง่าย
8.อาหารที่รับประทาน เช่นชอบทานอาหารจำพวก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก สาหร่าย จะทำให้เกิด     กรดยูริคได้ และการกินอาหารจำพวกผักที่มีสารออกซาเลต สูง เช่น ผักโขม หน่อไม้ ชะพลู เป็นต้น



ตำแหน่งที่พบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
1. ไต
2.ท่อไต
3.กระเพาะปัสสาวะ
4.ท่อปัสสาวะ

อาการ
1.ปวดบริเวณบั้นเอวหรือปวดท้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่ว
2.มีปัสสาวะเป็นเลือด
3.มีปัสสาวะแสบ   ขัด   ปัสสาวะลำบาก
4.มีไข้
5.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
6.ปัสสาวะไม่ออก กรณีเป็นนิ่วบริเวณท่อปัสสาวะ
7.ไม่มีน้ำปัสสาวะ กรณีที่มีภาวะอุดตันของไตอย่างรุนแรงทั้งสองข้าง




การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
      ปัจจุบันมีการรักษาที่หลากหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้คือ
1.การสลายนิ่ว
2.การผ่าตัด
3.การส่องกล้อง ร่วมกับเครื่องกระแทกนิ่ว แล้วเอานิ่วออก
ในที่นี้จะกล่าวถึงการรักษาโรคนิ่วโดยวิธีการสลายนิ่ว


      การสลายนิ่ว คือการรักษาโรคนิ่วโดยการทำให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยใช้พลังงานเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย ซึ่งพลังงานนี้จะผ่านเข้าสู่ร่างกายโดยไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อ หลังจากที่นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้ว จะหลุดปนออกมากับปัสสาวะ เป็นการรักษา ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบใดๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ทำการรักษา ไม่มีแผลหรือท่อระบายใดๆออกมานอกร่างกาย ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้หลังจากรับการรักษาแล้ว
       การรักษาโดยใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยพลังเสียงเหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ควรเกิน 2- 3 ซม. และทางเดินปัสสาวะส่วนที่ต่ำกว่าไม่มีการตีบตัน เพื่อให้นิ่วที่สลายซึ่งมีขนาดเล็กลงสามารถผ่านปนมากับปัสสาวะได้

      การเตรียมตัวก่อนการสลายนิ่ว
1.ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
2.พักผ่อนให้เพียงพอ
3.ในรายที่มียาทานประจำ ถ้ามียาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเพื่อหยุดยาประมาณ 7-10 วัน
4.ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตรงตามวันนัด

    การเตรียมตัวขณะทำการสลายนิ่ว
1.อาจจะต้องนอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง แล้วแต่ตำแหน่งของนิ่ว
2.แพทย์จะหาตำแหน่งของนิ่วโดยการเอ็กซเรย์หลังจากเอ็กซเรย์แล้วผู้ป่วยต้องนอนนิ่งๆเพราะจะทำให้ตำแหน่งของนิ่วไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม
3.ขณะทำการสลายนิ่วจะมีเสียงดังเบาๆทุกครั้งที่มีพลังงานเสียงตกกระทบก้อนนิ่ว
4.อาจจะรู้สึกปวดบ้างจากพลังงานเสียงที่ตกกระทบ ถ้าปวดมากจนทนไม่ได้ ต้องบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อลดระดับของพลังงานลง หรืออาจหยุดพักเป็นระยะๆ
5.บางรายอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือจะเป็นลม ควรรีบบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ


  การปฎิบัติตัวหลังการสลายนิ่ว
1.วันแรกอาจจะรู้สึกปวดมาก ควรรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จัดให้ จะช่วยให้อาการทุเลาลง ปัสสาวะอาจเป็นสีแดง หรือสีน้ำล้างเนื้อไม่ต้องตกใจ ควรนอนพักและดื่มน้ำมากๆ อาการจะดีขึ้นและหายไปใน 1-2วัน
2.งดการทำงานหนักประมาณ 1-2วัน โดยเฉพาะช่วงที่ปัสสาวะมีสีแดง
3.ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อย 3-4ลิตร เพื่อให้มีปัสสาวะมากๆและเพื่อที่น้ำจะพัดพาเศษนิ่วที่แตกแล้วให้หลุดออกมาได้เร็วขึ้น
4.ถ้ามีอาการปวดมาก ไข้สูง ปัสสาวะออกน้อยลงหรือไม่ออก ควรรีบกลับไปพบแพทย์หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
5.หลังการรักษา และร่างกายเป็นปกติควรออกกำลังกายเป็นประจำ และสังเกตุว่ามีเศษนิ่วหลุดออกมาพร้อมปัสสาวะบ้างหรือไม่

ปัจจัยต่อความสำเร็จในการรักษา
1.ขนาดของนิ่ว  ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่เกิน 3ซม. หรือมีหลายก้อน ทำให้ต้องทำซ้ำหลายๆครั้ง เศษนิ่วอาจลงมาอุดตันท่อไตส่วนล่างได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใส่สายระบายท่อไตก่อนการสลายนิ่ว
2.ความแข็งของนิ่ว ถ้าแข็งมากอาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง และต้องใช้พลังงานระดับที่สูงขึ้น บางครั้งผู้ป่วยอาจทนเจ็บไม่ได้ ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี
3.การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล
4.ความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดนิ่วในไต ท่อไต อาจทำให้นิ่วที่แตกแล้วไม่สามารถหลุดออกมาได้ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องหยุดการสลายนิ่ว


โรคต้อเนื้อ (Pterygium)



โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

          โรคต้อเนื้อเป็นกลุ่มเดียวกันกับต้อลม แต่มีการยื่นเข้าไปในส่วนของกระจกตา ต้อเนื้อมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยม งอกจากตาขาวลามเข้าไปในตาดำ มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ต้อเนื้อจะค่อยๆโตลุกลามอย่างช้าๆเข้าไปในตาดำ ถ้าเป็นมากจะลามเข้าไปจนถึงกลางตาดำปิดรูม่านตา ซึ่งจะปิดบังการมองเห็นทำให้ตามัวได้ ซึ่งเนื้อดังกล่าวไม่ใช่มะเร็ง ไม่ใช่เนื้องอก แต่เป็นลักษณะของความเสื่อมของเยื่อบุตาซึ่งเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลตเป็นหลักและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดกับดวงตา แต่จะก่อความรำคาญเวลาอักเสบ บวมแดง จะรู้สึกเคืองตา ถ้าเป็นเยอะก็จะมีปัญหาเรื่องสายตาเอียงเพราะจะไปกดอยู่ที่กระจกตา ต้อเนื้อจะพบหรือเกิดกับคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป พบมากในช่วงอายุ 30 ถึง 55 ปี อัตราการเกิดในเพศชาย พอๆกับเพศหญิง
สาเหตุของโรคต้อเนื้อ
1.ลม
2.แสงแดด(แสงอัลตราไวโอเลต)
3.ฝุ่น
4.ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เตาไฟ เป็นต้น




ผู้ที่เป็นโรคต้อเนื้อถ้าโดนสี่ข้อข้างบนเสมอๆ ทำให้เกิดโรคต้อเนื้อมากกว่าคนอื่น จึงพบมากในกลุ่มผู้ที่มีอาชีพ ได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานก่อสร้าง ผู้ที่ต้องรับเหมากลางแจ้ง วิศวกรสร้างทางหรือกรรมกรสร้างทาง เป็นต้น แต่บางคนไม่ได้โดนสิ่งดังกล่าวเลยแม้จะทำงานในห้องแอร์ และอยู่ในระดับนักบริหารก็ยังเป็น ทั้งนี้เชื่อว่าโรคนี้มีส่วนในทาง “กรรมพันธุ์” เหมือนกัน คือ ถ้าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนที่มีต้อเนื้อประดับที่ลูกตา ลูกหลานออกมามีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้สังเกตได้จาก บางคนอายุ 17 หรือ18 ก็เป็นโรคนี้แล้ว ซึ่งตามหลักสี่ข้อที่กล่าวข้างต้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วขนาดนี้ แสดงว่ามีส่วนที่เป็นโรคนี้มาตั้งแต่เกิดสืบถามไปยังพ่อ แม่ญาติพี่น้องปรากฏว่ามีโรคนี้เช่นกัน


อาการของโรคต้อเนื้อ
          ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อเนื้อ จะมีอาการเคืองตาแสบตา น้ำตาไหล ตาแดง คันตา ถ้าเป็นน้อยจะไม่ทำให้ตามัวเพราะไม่ได้กดกระจกตามากแต่ถ้าเป็นมาก เช่นในกรณีที่ต้อเนื้อลุกลามเข้ามาถึงกลางตาดำจะทำให้ตามัวลง

การป้องกัน
          ให้เลี่ยงจากการโดนลมโกรกเสมอๆ หรือมิให้ฝุ่นเข้าตาเป็นประจำ เลี่ยงมิให้โดนแดดจัดๆโดยเฉพาะเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่าย3โมงเย็น เป็นช่วงที่แสงแดดจัดมาก ฉะนั้นการใส่แว่นกันแดด สวมหมวก   กางร่ม ในเวลาที่ออกกลางแจ้ง จะช่วยได้มาก

การรักษา
การรักษาโรคต้อเนื้อ แบ่งการรักษาได้ดังนี้

1.การรักษาโดยการหยอดยา  ใช้ในกรณีเป็นระยะแรกเริ่ม ยาหยอดตานี้ไม่ได้รักษาให้หาย แต่เป็นการบรรเทาอาการตาแดง ระคายเคือง เพื่อลดการอักเสบทำให้ต้อเนื้อไม่ลุกลามเร็ว
2.การรักษาโดยการผ่าตัด      จะทำต่อเมื่ออาการระคายเคืองเป็นมาก หยอดยาแล้วไม่หาย หรือต้อเนื้อลุกลามเข้าไปในกระจกตา ทำให้มองเห็นน้อยลง


          ทั้งนี้เมื่อเราทราบว่าเป็นแล้ว การป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งเราทำได้ไม่อยากเลย เพียงแค่ระวังหรือหลีกเลี่ยงการโดนแดด ฝุ่น ลม เช่น ใส่แว่นกันแดด ใช้ร่ม สวมหมวก ก็ทำให้เราลดโอกาสการโดนแดดโดยตรง โรคก็จะไม่เป็นมากขึ้น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...