วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) และข้อควรระวังในการใช้ยา


มารู้จักกับโรคชิคุนกุนยา โดย ภก.บุปผชาติ คำสม

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) : เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกมีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ.2495 เกิดจากเชื้อไวรัส alphavirus ในสกุล Togaviridae ชื่อ ‘chikungunya’ มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกา (ภาษา Kimakonde) ซึ่งอธิบายถึงลักษณะบูดเบี้ยวหรือบิดงอตัว (contorted) จากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง
อาการของโรค : ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คัน หรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ไข้อาจจะหายในระยะนี้ (ระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย) ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตได้บ่อย แต่อาการชาหรือเจ็บบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าพบได้ไม่มาก อาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ และบางรายอาจเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อบางส่วนมีอาการอ่อนๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยเป็นไข้เลือดออก แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

ระยะฟักตัวของโรค : 2-12 วัน (โดยทั่วไป 4-8 วัน)

การแพร่ติดต่อโรค : ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากจากยุงลายบ้าน Aedes aegypti ซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedes albopictus ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน (โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ และบ่ายแก่ ๆ) ยุงลายสวนชอบหากินบริเวณนอกบ้าน แต่ยุงลายบ้านชอบกัดดูดเลือดภายในอาคารบ้านเรือน
การรักษา : ไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

ข้อควรระวังในการใช้ยา

แอสไพริน (Aspirin)
1. ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (หากมีการใช้เป็นประจำ) ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
2. ยานี้ทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่ม เป็นเหตุให้เลือดออกง่าย ห้ามใช้ในผู้ที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นโรคเลือดที่มีภาวะเลือดออกง่าย
3. ถ้าใช้บรรเทาอาการไข้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด คางทูม ฯลฯ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye's syndrome) โรคนี้จะมีอาการทางสมอง (เช่น ซึม หมดสติ ชัก) และอาการ ทางตับ (ตับโต และทำหน้าที่ไม่ได้หรือตับวาย) ซึ่งมีอัตราการตายค่อนข้างสูง
ในปัจจุบัน แพทย์จะใช้ยาแอสไพรินเป็นยาป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ในผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ ดังนั้นในการบรรเทาอาการไข้ ควรหันมาใช้พาราเซตามอลแทนแอสไพริน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากแอสไพริน อย่างไรก็ตาม การใช้พาราเซตามอลก็พึงระวัง อย่าใช้เกินขนาด (ผู้ใหญ่ควรใช้ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง อย่าใช้เกินวันละ ๘ เม็ด หรือ ๔ กรัม เด็กเล็ก ไม่ให้เกินวันละ ๑๐ ช้อนชา หรือ ๑,๒๐๐ มิลลิกรัม) มิเช่นนั้นอาจมีผลต่อตับ ทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้

เอกสารอ้างอิง
1. ความรู้เรื่องโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)[homepage on the Internet]. สำนัก
โรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. [cited 2009 May 25]. Available from: http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=420&Itemid=199
2. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook. 14th ed. Ohio: Lexi_comp; 2006-2007.
3. World Health Organization Regional Office for south-East Asia (WHO
SEARO). Chikungunya Fever Fact Sheet. Available from: URL:
http://www.searo.who.int/en/Section10/Section2246_13975.htm

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ทราบว่า โรคนี้กับโรคไข้เลือดออก อันไหนรุนแรงกว่ากันค่ะ?

    ตอบลบ
  2. ่ไม่่ทราบว่าคนเขียนบทความยังทำงานอยู่ที่ ร.พ. ไหมครับ

    ตอบลบ
  3. ยังทำงานอยู่ครับ
    น่ารักมากเลยอ่ะ พี่สาวคนนี้ >//< ชอบๆๆๆๆ

    ตอบลบ

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...