วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
โดย พญ.สิดาพัณณ์  ยุตบุตร        กุมารแพทย์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค





เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มคอคซากี (Coxakie) และเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปากมีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า
และ
ลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
         
การติดต่อของโรคมือเท้าปากเปื่อยส่วนใหญ่  

       เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง
โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วยโดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการไอ จามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลา หรือหายป่วยแล้ว ประมาณ 1 เดือน    จะพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า และโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น      พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ  อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานที่รับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ      ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
          


อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย 
     จะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและ  ฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
    
       ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมอง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
         
    ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วม เช่น แก้วน้ำ  หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
         

การควบคุมโรค มือเท้าปากเปื่อย สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์ เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอรวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็ก ให้ถูกต้องด้วย
          หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่นสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า ผู้เลี้ยงเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
          หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว(1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาด    ฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำผงซักฟอก ผึ่งแดด กรณีล้างไม่ได้ให้เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์



สิ่งที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ
หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)

Embed from Getty Images  โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder)            ปัจจุบันโลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำ...